ข่าว

'เป่าแอลกอฮอล์' กี่ชั่วโมง ตรวจไม่เจอ เปิดอัตราโทษ หาก เลี่ยงการตรวจ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เช็คเงื่อนไข 'เป่าแอลกอฮอล์' ผ่านไปนานแค่ไหน ตรวจไม่เจอในกระแสเลือด พร้อมเปิด อัตราโทษ หากเลี่ยงการตรวจ แอลกอฮอล์

จากเหตุกการณ์ "เมาแล้วขับ" ทำให้เกิดอุบัติเหตุในหลายครั้ง แต่ที่เคยเป็นประเด็นถกเถียง ก็เมื่อครั้ง เสี่ย "เบนท์ลีย์" ซิ่งชนบนทางด่วน ปฎิเสธการ "เป่าแอลกอฮอล์" โดยอ้างว่า เจ็บหน้าอก แต่ขอเป็นการตรวจเลือดแทน ซึ่งทำให้เกิดข้อกังขาว่า ผลการตรวจจะแม่นยำแค่ไหน รวมทั้งกรณีล่าสุด กับอุบัติเหตุขับรถชนท้ายรถขยะของ นักร้องดัง "ว่าน ธนกฤต"

หลักการเป่าแอลกอฮอล์

 

 

 

ตามหลักการแล้ว แอลกอฮอล์จะอยู่ในเลือด 6 ชั่วโมง หลังจากนั้น จะหายไปจากเลือดอย่างมีนัย ทำให้เกิดคำถามว่า การปฎิเสธที่จะตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ มีความผิดหรือไม่ แล้วเป่าแอลกอฮอล์เท่าไร ถึงจะมีโทษเมาแล้วขับ 

 

 

นายแพทย์วิทวัส ศิริประชัย อดีตแพทย์ประจำโรงพยาบาลเกาะลันตา อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ หรือ จ่าพิชิต ขจัดพาลชน เจ้าของเพจ Drama-addict ให้ข้อมูลว่า แนวทางปฎิบัติในการตรวจแอลกอฮอล์ของคนที่สงสัยว่าดื่มแล้วขับ ยึดการตรวจลมหายใจเป็นอันดับแรก เพราะการตรวจแอลกอฮอล์จากลมหายใจ จะสะท้อนผลแอลกอฮอล์ในเลือดที่สัมพันธ์กับการดื่มก่อนหน้านั้น 30 นาที 

 

 

แต่หากไม่ได้เป่าแอลกอฮอล์จากลมหายใจ แล้วรอไปตรวจเลือด ร่างกายจะกำจัดแอลกอฮอล์ออกจากเลือด ประมาณชั่วโมงละ 15 mg% (อาจบวกลบได้ถึง 20) ตามกฏหมายจะผิดเมื่อมีแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 mg%

 

สมมุติว่า ณ เวลาเกิดเหตุ มีแอลกอฮอล์ในเลือดซัก 100mg% แล้วเตะถ่วงไป 4 ชั่วโมง อ้างนู่นอ้างนี่ไปเรื่อย 4 ชั่วโมงต่อไป พอตรวจเลือด อาจมีแอลกอฮอล์ในเลือดแค่ 30-40% เท่านั้น ถ้าเป็นในต่างประเทศจะคำนวนย้อนหลังไปหาค่าแอลกอฮอล์ ณ เวลาเกิดเหตุได้ แต่ของประเทศไทย ไม่ชัดเจน

ตั้งด่านตรวจวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์

นอกจากนั้น นพ.วิทวัส ระบุว่า การเป่าแอลกอฮอล์ไม่ต้องเป่าแรง แค่เป่าด้วยลมหายใจปานกลาง เพียง 5 วินาที เครื่องจะสุ่มเก็บลมหายใจราว 1 CC ไปตรวจหาแอลกอฮอล์โดยมีโหมดเก็บลมจากการพูด หรือหายใจเบาๆ ด้วย

 

 

แอลกอฮอล์อยู่ในร่างกายให้ตรวจได้นานเท่าไร

 

  1. เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือด ร่างกายจะเริ่มเผาผลาญแอลกอฮอล์ในอัตรา 20 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (mg/dL) ต่อชั่วโมง 
  2. ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือด แต่ละคนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มีผลต่อความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือด ได้แก่ อายุ น้ำหนัก การได้รับการรักษาบางอย่าง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตอนท้องว่าง หรือแม้แต่การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากในระยะเวลาสั้น ๆ ก็มีผลเช่นกัน
  3. 20% ของแอลกอฮอล์ที่ได้รับเข้าไปในช่วงแรก จะไหลเข้าสู่หลอดเลือด และถูกพาไปยังสมอง ส่วนอีก 80% ที่เหลือจะถูกส่งไปที่ลำไส้เล็ก และเข้าสู่กระแสเลือดต่อไป หลังจากนั้น แอลกอฮอล์จะถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยตับ
  4. การตรวจปัสสาวะ สามารถตรวจพบแอลกอฮอล์ได้ตั้งแต่ 12-48  ชั่วโมงหลังการดื่ม หรือในการตรวจสอบที่มีความแม่นยำสูงอื่น ๆ  สามารถตรวจพบแอลกอฮอล์ในปัสสาวะหลังการดื่มได้ถึง 80 ชั่วโมง
  5. การวัดแอลกอฮอลล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจ สามารถตรวจพบ แอลกอฮอล์ที่อยู่ในเลือดหลังจากการดื่มได้นานถึง 24 ชั่วโมง 
  6. แอลกอฮอล์ยังสามารถสะสมอยู่ในผมได้มากกว่า 90 วัน ในบางครั้งสามารถตรวจพบแอลกอฮอล์ได้จากน้ำลาย เหงื่อและเลือดอีกด้วย
  7. สำหรับการตรวจในเลือด: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะนำให้ตรวจภายใน 4 ชั่วโมง (หากเกิน 6 ชั่วโมง ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจะลดลงต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด 50 mg%) 

 

 

หลักการเป่าแอลกอฮอล์ที่ถูกต้องเพื่อความแม่นยำ

 

  • การที่เครื่องวัดฯ จะวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจากลมหายใจได้ถูกต้อง ต้องใช้ลมหายใจจากส่วนลึกของปอด ที่สัมผัสกับเส้นเลือดฝอยในปอด เพื่อจะให้ได้ค่าปริมาณแอลกอฮอล์ที่ถูกต้อง 

 

 

อัตราโทษหากปฎิเสธการตรวจแอลกอฮอล์

 

  1. ประเทศไทย: ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157/1 วรรคแรก บัญญัติว่า” ผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ตรวจการที่ให้มีการตรวจสอบผู้ขับขี่ตาม มาตรา 43 ทวิ หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ตรวจการ ที่ให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ตาม มาตรา 43 ตรี ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท”
  2. ประเทศอังกฤษ: การปฏิเสธการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด เปรียบเสมือนผู้กระทำผิดโดยทั่วไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่ศาลจะพิจารณาอัตราโทษสูงกว่าการกระทำผิดโดยปกติ ด้วยการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ 12-36 เดือน ปรับ 150 ปอนด์ ถึง 150 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อสัปดาห์ ตัดคะแนน 3-11 คะแนน และต้องทำงานบริการสังคมอีกด้วย
  3. ประเทศสหรัฐอเมริกา (รัฐเท็กซัส): การปฏิเสธการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ จะถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นระยะเวลา 180 วัน แต่ถ้าหากบุคคลนั้นเคยมีประวัติการกระทำผิดมาก่อน ภายในระยะเวลา 10 ปี จะต้องถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี นอกจากโทษดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้กระทำผิดจะต้องถูกภาคทัณฑ์ เข้ารับการฝึกอบรมการทำงานบริการชุมชนและต้องจ่ายค่าดำเนินการต่างๆ ทางศาลด้วย 

 

 

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยถือว่ายังมีอัตราโทษที่รุนแรงน้อย เมื่อเทียบกับต่างประเทศ 

 

 

และไม่เพียงเท่านั้น หากผู้ขับขี่ไม่ยินยอมให้ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ตรวจเป่าแอลกอฮอล์ จะถือว่าผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินปริมาณที่กำหนดทันที และประกันก็จะไม่จ่ายค่าเสียหาย กรณีเกิดอุบัติเหตุด้วย 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ