ข่าว

ล่ม "ประชุมร่วมรัฐสภา" ฝ่ายการเมืองใช้ต้นทุนแพงเกินไป

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ชี้ "ประชุมร่วมรัฐสภา" ล่ม ทำรัฐสภา เสื่อมเสีย ฝ่ายการเมืองใช้ต้นทุนแพงเกินไป ในการเอาชนะคะคานกัน

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้งโพสต์เฟสบุ๊ค หัวข้อ ชัยชนะบนราคาที่สูงลิ่ว มองเหตุการณ์ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ล่ม เมื่อวานนี้ เป็นการใช้ต้นทุนทางการเมือง แลกกับชัยชนะ ที่แพงเกินไป ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่รัฐสภา มีเนื้อหาว่า

การมุ่งกลับมาใช้แนวคิดหารร้อย ด้วยการเลือกใช้วิชามนต์ดำ ดึงการประชุมให้ล่าช้า ปล่อยสภาล่ม เพื่อให้ ร่าง พ.ร.ป.ส.ส. ที่มีกำหนดการที่รัฐสภาต้องทำให้เสร็จภายใน 180 วัน ต้องตกไป และกลับไปใช้ร่างแรกของ ครม. ที่ใช้วิธีหารร้อยแทน แม้เป็นชัยชนะแบบรวดเร็วเบ็ดเสร็จ แต่มีราคาที่ต้องจ่ายสูงลิ่วราคาดังกล่าว ไม่ใช่เพียงค่าใช้จ่ายในการประชุมร่วมรัฐสภา การประชุมกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 49 คน 19 ครั้ง ที่ต้องจ่ายเบี้ยประชุมครั้งละ 1,500 บาท เป็นเงิน 1.3 ล้านบาท ค่าจัดเลี้ยงอาหารวันละ 250 บาท รวมเป็นเงินเกือบ 300,000 บาท ค่าจัดทำเอกสาร 200,000 บาทรวมค่าใช้จ่ายเกือบ 2 ล้านบาท

ล่ม "ประชุมร่วมรัฐสภา" ฝ่ายการเมืองใช้ต้นทุนแพงเกินไป

ไม่นับราคาของเวลา และการทุ่มเทของกรรมาธิการ ที่ใช้เวลาเกือบ 4 เดือนถกเถียง ออกแบบวิธีการเลือกตั้ง เอาผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายสารพัดทั้งจากสภา จากกฤษฎีกา จาก กกต. มาทำงานแบบทุ่มเท แล้วทุกอย่างกลายเป็นศูนย์นั้นยิ่งประเมินค่าไม่ได้

 

ไม่นับราคาของโอกาสของประชาชนที่จะได้ กฎหมายเลือกตั้งที่กรรมาธิการช่วยกันออกแบบใหม่ในหลายเรื่องที่ไม่ปรากฏในร่างเดิมของ ครม. เช่น ข้อกำหนดให้ กกต.ต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการสังเกตการณ์การนับคะแนนให้โปร่งใส การให้ กกต.ต้องประกาศผลรายหน่วยในอินเตอร์เน็ตภายใน 72 ชม. หลังปิดหีบ การเปิดโอกาสให้มีการนับคะแนนการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่สถานทูต ไม่ต้องส่งบัตรกลับมานับที่ไทย และอื่น ๆ อีกมาก จะหายวับหลังจาก ร่าง กม.ตกไป

แต่สิ่งที่แพงที่สุด ที่จะสูญหายและไม่มีทางหวนคืน คือ เกียรติภูมิของรัฐสภา ที่ใช้วิชามารจงใจทำกฎหมายให้ไม่เสร็จใน 180 วัน ซึ่งอาจจะเป็นครั้งแรกของประวัติรัฐสภาไทยที่เกิดเหตุอัปยศเช่นนี้ขึ้นอยากชนะเลือกตั้งแต่อ่อนคณิตศาสตร์ คิดไม่ตก คำนวณไม่เป็น ตัดสินใจแล้วย้อนกลับไปกลับมา 3 รอบพอสุดท้ายอยากได้หารร้อย ขนาดยอมลงทุนสร้างความเสียหายต่อเกียรติภูมิของรัฐสภา หน้ามืดมากครับ ท่านผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้

 

สมชัย ยังบรรยายเปรียบเปรยให้เห็นเหตุการณ์ก่อนรัฐสภาล่ม มีเนื้อหาว่า
ชายชราอายุ 84 ปี นั่งรออย่างอดทนอยู่บนบัลลังก์ในตำแหน่งประธานที่ประชุมรัฐสภา

“ยังขาดอีก 24 คน รอคอยกันหน่อยนะครับ” ประธานกล่าวด้วยน้ำเสียงเนิบนาบ ใจเย็นเป็นที่สุดการประชุมร่วมรัฐสภาวานนี้ เป็นวาระพิจารณากฎหมายปฏิรูปที่ชื่อ “ร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ…..” ซึ่งมีเพียง 13 มาตรา แต่กว่าจะผ่านการลงมติในวาระที่สองแต่ละมาตราได้ ต้องกดออดเรียก และรอคอยสมาชิกเข้าร่วมประชุมยาวนาน บางครั้งในแต่ละมาตรา ต้องรอคอยร่วมชั่วโมง จึงจะเกินครึ่ง 364 คนแล้วจึงสามารถลงมติได้

 

ล่ม "ประชุมร่วมรัฐสภา" ฝ่ายการเมืองใช้ต้นทุนแพงเกินไป

 

สมาชิกที่ร่วมประชุมอดทนไม่แพ้กัน มีการกล่าวกระเซ้าเย้าแหย่กันบ้าง เช่น สมาชิกวุฒิสภาขึ้นมาบอกว่า แบบนี้ยุบสภาไปเลย ฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็บอกว่า ต้องยุบ ส.ว.ก่อนเพราะท่านไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และควรไปเชิญ ผบ.เหล่าทัพมาร่วมประชุมด้วยเพราะขาดประจำ

 

16.07 น. พิจารณาไปถึงมาตรา 8 ถึงเวลาต้องลงมติ แต่จนถึงเวลา 17.00 น. หลังจากรอคอย 53นาที ท่าทีว่าจะไม่มีสมาชิกมาเติมให้ครบครึ่งของสภา ชายชราที่ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ เพื่อรอคอยคนอายุน้อยกว่ามาร่วมประชุมกล่าวอย่างเหน็ดเหนื่อยว่า วันนี้คงได้เท่านี้

 

สมาชิกรัฐสภา 727 คน เป็นสมาชิกวุฒิสภา 226 คน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 445 คน เซ็นชื่อร่วมประชุม 672 คน แต่ในเวลา 17.00 น. เหลือผู้อยู่ในห้องเพียง 357 คน ขาด 7 คนจึงครบองค์ประชุม

 

727-357 = 370 คนที่ขาดประชุม ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติ มีอะไรอธิบายให้ประชาชนผู้เสียภาษีฟังบ้างไหม

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่

Line: https://lin.ee/qw9UHd2

YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

 

เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote
ได้ที่นี่    https://awards.komchadluek.net/#

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ