ข่าว

ประตูระบายน้ำแม่สอยกับงบ"ไทยเข้มเข็ง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปฏิเสธไม่ได้ว่า "โครงการไทยเข้มแข็ง" ที่รัฐบาลอวดอ้างว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในหลายด้าน ไม่เพียงแต่ชุนชนท้องถิ่นทั่วประเทศจะได้อานิสงส์จากงบประมาณสารพัดโครงการภายใต้งบประมาณกว่า 2.5 แสนล้านบาท แต่ในทางกลับกันความต้องการงบป

 เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำปิงใน ต.แม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่ความพยายามในการยัดเยียดประตูระบายน้ำมูลค่ากว่า 900 ล้านบาท ของสำนักชลประทานที่ 1 ได้แบ่งชาวบ้านออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน แม้จะเป็นเรื่องปกติที่จะมีความเห็นแตกต่างกันในชุมชน แต่ปรากฏการณ์นี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนใน ต.แม่สอย

   "สุวิทย์ นามเทพ" อายุ 72 ปี ราษฎร ต.แม่สอย อ.จอมทอง ตัวแทนกลุ่มลูกน้ำปิง กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่โดยเฉพาะในหมู่บ้านที่เสี่ยงต่อผลกระทบจากโครงการ ไม่เคยทราบข่าวการจัดสร้างประตูระบายน้ำดังกล่าวมาก่อน แต่มาทราบโดยบังเอิญภายหลัง และเมื่อสอบถามไปยังสำนักชลประทานที่ 1 เจ้าของโครงการ กลับชี้แจงเฉพาะข้อดีคือเป็นการเก็บกักน้ำในฤดูแล้ง ชาวบ้านสามารถเลี้ยงปลาในกระชัง ทั้งยังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ แต่กลับไม่ชี้แจงถึงผลเสีย
 
 "เมื่อศึกษาถึงผลกระทบของการก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่สอย จะพบว่าจำนวน 4 หมู่บ้าน ซึ่งได้แก่ บ้านแม่สอย บ้านสบสอย บ้านโรงวัว และบ้านหนองคัน รวม 365 ครอบครัว คิดเป็นพื้นที่ 185 ไร่ และพื้นที่การเกษตรอีกกว่า 1,612 ไร่ ที่มีความเสี่ยงกับน้ำท่วมและอันตรายจากคันดินเมื่อฝนตกหนั ขณะที่ชาวบ้านใน ต.แม่สอย มีวิถีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำปิง โดยส่วนใหญ่ปลูกลำใย ข้าวนาปี นาปรัง รวมถึงจับปลาในแม่น้ำ ที่ผ่านมาแม้จะมีบางช่วงประสบปัญหาภัยแล้ง แต่ก็แก้ปัญหาด้วยการใช้เครื่องสูบน้ำโดยไม่ต้องใช้ประตูระบายน้ำแต่อย่างใด จึงเห็นว่างบประมาณกว่า 900 ล้านบาท น่าจะทำประโยชน์ในโครงการอื่นๆ ที่จำเป็นเร่งด่วนและไม่เกิดผลกระทบต่อประประชาชน"

 นายอเนก เคร่งครัด ตัวแทนจากกลุ่มลูกน้ำปิงอีกคนหนึ่งมองว่า จะส่งผลต่อวิถีชีวิตชุมชน โดยเฉพาะอาชีพหาปลาที่คงทำไม่ได้อย่างเดิม เนื่องจากประตูระบายน้ำที่จะสร้างนั้นขวางทางไม่ให้ปลาจากท้ายน้ำมาวางไข่ ซึ่งจะทำให้จำนวนปลาลดลงเป็นจำนวนมาก กลุ่มลูกน้ำปิงยืนยันว่าในพื้นที่ไม่ได้ประสบสภาวะขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรถึงขั้นต้องสร้างประตูนระบายน้ำ เนื่องจากสถานีสูบน้ำที่มีสามารถสูบน้ำไปใช้ในพื้นที่ทำการเกษตรได้เพียงพอ

 ความเคลือบแคลงสงสัยของกลุ่มชาวบ้านจึงนำไปสู่การยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อให้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะที่กลุ่มชาวบ้านที่เห็นด้วยที่มีจำนวนมากกว่าและส่วนใหญ่เป็นเจ้าของพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากประตูระบายน้ำ ได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งความเห็นต่างทางความคิดที่เกิดขึ้นกลายเป็นรอยร้าวของชุมชนมาจนถึงวันนี้ 

 นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ระบุว่า โครงการนี้มีการทำประชาพิจารณ์โดยมีราษฎรเห็นด้วยกว่าพันคน ขณะที่ผู้คัดค้านมีเพียงประมาณ 40 คน ซึ่งในส่วนของผู้คัดค้านพยายามทำความเข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับอย่างเต็มที่ ส่วนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมีการดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดแล้ว ซึ่งไม่ปรากฏผลกระทบแต่อย่างใด

 โครงการนี้ชลประทานไม่ได้คิดเอง แต่มีการร้องขอมาหลายช่องทาง ทั้งร้องขอผ่านนายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายสุรพล เกียรติไชยากร ส.ส.ในพื้นที่ สำนักชลประทานที่ 1 จึงเข้าไปศึกษา ก่อนสรุปว่าควรก่อสร้างเป็นประตูระบายน้ำเพื่อสามารถระบายน้ำได้ในกรณีมีน้ำมาก โดยจะมีพื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการทดน้ำไปทางเหนือประมาณ 21 กิโลเมตร รวมพื้นที่ส่งน้ำ 33,496 ไร่ นอกจากนี้ยังสามารถระบายน้ำลงสู่ท้ายน้ำแก่พื้นที่โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจำนวน 44 สถานี รวมพื้นที่ส่งน้ำ 47,359 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ต.แม่สอย ต.บ้านแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และ ต.หนองปลาสะวาย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน

 แม้กลุ่มลูกแม่ปิงใช้ทุกช่องทางในการคัดค้านแต่ก็ไม่เป็นผล ในที่สุดแล้วโครงการประตูระบายน้ำแม่สอยก็เดินหน้าต่อไปตามความต้องการของฝ่ายสนับสนุน โดยผู้อำนวยการสำนักชลทานที่ 1 ระบุว่ากรมชลประทานได้เปิดให้มีการประกวดราคาในส่วนของประตูระบายน้ำไปแล้วและกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาตัดสินใจ แต่ในส่วนของงบประมาณตาม พ.ร.บ.งบประมาณ ยังไม่ผ่านสภา และหากไม่ผ่าน กรมชลประทานจะนำโครงการเข้างบปกติในปี 2554

 ส่วนการก่อสร้างคันดินยังไม่ตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ เนื่องจากชาวบ้านกลุ่มหนึ่งคัดค้านเพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบ โดยสำนักชลประทานที่ 1 จะนำแบบที่มีการปรับแก้ตามความเห็นของประชาชนในพื้นที่ให้ชาวบ้านได้พิจารณาอีกครั้ง

 การออกมาปฏิเสธโครงการที่มีงบประมาณกว่า 900 ล้านบาท ของกลุ่มชาวบ้านใน ต.แม่สอย แม้จะถือเป็นส่วนน้อยของชุมชน แต่กลับสะท้อนถึงผลพวงจากความกระตือรือร้นในการดึงงบประมาณของหน่วยงานรัฐมาจาก "ไทยเข้มแข็ง" ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเจตนาดีหรือมีผลประโยชน์อื่นแฝงเร้น ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่สุดแล้วโครงการ "ไทยเข้มแข็ง" นั่นเองอาจเป็นต้นเหตุทำให้ "ชุมชนอ่อนแอ" ได้

เอกพงศ์ ประดิษฐ์พงษ์

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ