สังคมเข้มแข็ง

อียู จ่อเก็บ “ภาษีคาร์บอน” ผู้ประกอบการไทย เตรียมรับมือ กระทบส่งออก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผย อียู จ่อเก็บ “ภาษีคาร์บอน” ในปี 2566 ผู้ประกอบการไทยเตรียมรับมือ กระทบสินค้าส่งออก โดยเฉพาะสินค้าที่มีขั้นตอนการผลิต ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนสูง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เป็นประเด็นเร่งด่วนที่นำมาสู่การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG  ซึ่ง สหภาพยุโรป หรือ อียู ได้เริ่มใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเก็บ "ภาษีคาร์บอน" กับธุรกิจในประเทศและการลดการใช้งานพลาสติก  นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศในปี 2566   ในขณะที่สหรัฐฯ ก็กำลังพิจารณามาตรการในลักษณะเดียวกัน  

 

อียู จ่อเก็บ “ภาษีคาร์บอน” ผู้ประกอบการไทย เตรียมรับมือ กระทบส่งออก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้สรุป 3 มาตรการที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมรับมือ ดังนี้

1) สินค้าที่มีขั้นตอนการผลิตก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนสูงถูกเพ่งเล็งก่อน  จึงต้องเตรียมรับมือกับมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ของ EU ซึ่งจะเริ่มนำมาใช้กับสินค้านำร่อง ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็ก และอะลูมิเนียม รวม 5 รายการ โดยในอนาคตอาจส่งผลต่อไทยมากขึ้น เมื่อมีการขยายขอบเขตของมาตรการไปยังสินค้าที่เกี่ยวข้องมากขึ้นจากตลาดส่งออกอื่นๆ    

2) สินค้าพลาสติกและวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกเริ่มถูกจำกัดการใช้งาน โดยเริ่มจากบรรจุภัณฑ์/ผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (SUPs)   ผู้ประกอบการไทยจึงควรใช้วัสดุอื่นทดแทนและเตรียมรับมือกับกระแสการลดใช้พลาสติกในอนาคต 

3)  การเก็บ ภาษีคาร์บอน ในหมวดสินค้าอาหาร ซึ่งยังเป็นประเด็นถกเถียงเนื่องจากเกี่ยวพันกับผู้บริโภคและผู้ผลิตในวงกว้าง ไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหารทั้งวัตถุดิบและอาหารแปรรูป  จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมด้านห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในทุกช่องทาง รวมถึงเตรียมการตรวจสอบการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระบบการผลิต ติดฉลากคาร์บอนให้แก่สินค้าที่จะส่งออก ตลอดจนติดตามความเคลื่อนไหวของมาตรการต่างๆ อย่างใกล้ชิด  เนื่องจากมีโอกาสที่มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนจากการนำเข้าสินค้าอาหารจะถูกนำมาใช้ในระยะข้างหน้า 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะ 1-2 ปี การใช้มาตรการ CBAM กับการลดใช้พลาสติกของ EU และสหรัฐฯ จะส่งผลต่อการส่งออกไทยเพียง 0.9% ของการส่งออกไทยไปตลาดโลกเท่านั้น แต่ถ้าหากชาติต่างๆ ใช้มาตรการแบบเดียวกันจะยิ่งทำให้สินค้าไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งในระยะต่อไป หากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมขยายขอบเขตไปยังสินค้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม ก็จะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องเริ่มปรับกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่ให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อให้สินค้าไทยตอบโจทย์ความต้องการตามกระแส ESG

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ