ข่าว

ปิยบุตร ชี้เหตุควรเลิก "ม.112" มีปัญหาทั้งตัวบท-การบังคับใช้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลขาธิการคณะก้าวหน้า ปิยบุตร แสงกนกกุล ยกเหตุควรเลิก "ม.112" ชี้มีปัญหาทั้งตัวบท-การบังคับใช้ วอนสังคมมองเหตุผลความจำเป็น เป็นกฎหมายการเมืองไม่ใช่ความยุติธรรม อ้างเทรนด์โลกปลดล็อกหมิ่นประมาทออกจากโทษอาญา ไม่มีใครควรติดคุกเพราะการพูด

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า จัดรายการพิเศษบนแอพพลิเคชั่น Clubhouse และช่องทางเพจเฟซบุ๊กคณะก้าวหน้า “หมดเวลา112 ถึงเวลาคืนอนาคตสังคมไทย” วิเคราะห์ประเด็นปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา "มาตรา 112" จุดยืนของคณะก้าวหน้าและแนวทางการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การรณรงค์สนับสนุนกระบวนการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา "มาตรา 112"

 

กางทุกปัญหาตัวบท-การบังคับใช้ "112" - ชี้เป็นกฎหมายการเมืองไม่ใช่ความยุติธรรม 

 

นายปิยบุตร เริ่มต้นด้วยการทบทวนปัญหาประมวลกฎหมายอาญา "มาตรา 112" โดยระบุว่าส่วนตัวแล้วตนยืนยันว่าประมวลกฎหมายอาญา "มาตรา 112" ต้องถูกยกเลิกไป เนื่องจากเป็นมาตราที่มีปัญหาทั้งในเรื่องของตัวบท การบังคับใช้และอุดมการณ์เบื้องหลัง
.
 

ในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับตัวบท การอยู่ในหมวดของความมั่นคงในราชอาณาจักร ทำให้แนวทางการวินิจฉัยคดีเป็นเรื่องของการควบคุมอาชญากรรมมากกว่าการรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน นำไปสู่ทิศทางที่มักไม่ให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว หรือมีการเรียกหลักประกันชนิดที่สูงมาก ประการถัดไป ใน "มาตรา 112" เขียนไว้ว่าผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาตร้าย ต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี

 

ประการต่อมา คือการไม่แยกฐานความผิดอย่างชัดเจน ระหว่างหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาตร้าย ทั้งที่เป็นการกระทำที่ไม่เหมือนกัน แนวทางการใช้จึงปะปนกันไป 

 

นอกจากนี้ "มาตรา 112" ไม่มีเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นการติชมโดยสุจริต หรือการพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่วิจารณ์นั้นเป็นความจริง

 

 

ปัญหาต่อมาคืออัตราโทษที่สูงถึง 3-15 ปี ซึ่งเป็นอัตราโทษที่สูงเกินไป แม้แต่เมื่อเทียบกับสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ลงโทษไม่เกิน 7 ปี และยังเป็นอัตราโทษหมิ่นประมาทที่สูงที่สุดในโลก ไม่มีที่ไหนสูงเท่านี้อีกแล้ว 

 

ที่สำคัญ คือการเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษได้ ประกอบกับแนวทางการปฏิบัติที่เจ้าหน้าที่มักไม่ยอมใช้ดุลพินิจ แต่เลือกที่จะสั่งฟ้องไว้ก่อน นำไปสู่การกลั่นแกล้งกันทั้งในทางส่วนตัวและในทางการเมือง รวมถึงยังมีประเด็นเรื่องการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกด้วย
.

ปัญหาประการสุดท้าย คือเรื่องของอุดมการณ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยกำกับอยู่ ทำให้ทีการใช้ "มาตรา 112" อย่างกว้างขวางผิดกับประเทศอื่นที่ไม่ถูกนำมาใช้หรือหากนำมาใช้มีเพียงโทษปรับและ "มาตรา 112" ของประเทศไทยยังเป็นกฎหมายที่มีการตีความอย่างกว้างขวางจนไร้มาตรฐานขึ้นกับสถานการณ์ทางการเมืองมากกว่ากระบวนการยุติธรรมด้วย
.

เราเห็นตัวอย่างกันอยู่บ่อยครั้ง การแสดงออกซึ่งไม่เข้ากรอบความผิดเลย แต่ศาลก็ตีความว่าเป็นความผิด ถ้าอุดมการณ์ที่ฝังรากลึกอยู่ในประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยจริง มาตรา112 จะมีไว้แต่อาจจะไม่ใช้ก็ได้ มันอาจจะกลายเป็นกฎหมายที่นอนหลับอยู่เฉย ๆ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็นคนพูดออกมาในที่สาธารณะเอง ว่าที่ผ่านมาไม่ใช้ 112 เพราะอะไร เรามองเป็นอื่นไปไม่ได้เลยว่าสุดท้ายแล้ว 112 จะถูกใช้หรือไม่ถูกใช้ขึ้นอยู่กับบริบททางการเมือง อย่างทุกวันนี้สถิติการดำเนินคดี 112 เกิดขึ้นกว่า 150 กว่าคดีแล้ว นี่แสดงให้เห็นว่า 112 มันไม่ใช่ตัวบทกฎหมายแบบธรรมดา แต่มันจะถูกฟื้นชีวิตขึ้นมาเมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับบริบททางการเมืองด้วย นายปิยบุตรกล่าว

เทรนด์โลกปลดล็อกหมิ่นประมาทออกจากโทษอาญา - ไม่มีใครควรติดคุกเพราะการพูด 
.
นายปิยบุตร ยังกล่าวต่อไปถึงเหตุผลที่ต้องมีการยกเลิก "มาตรา 112" โดยระบุว่าในโลกสากลทุกวันนี้ ความผิดที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกเริ่มถูกถอดออกจากความผิดทางอาญาแล้ว เหลือเพียงการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่ง หรือเป็นเพียงโทษปรับทางอาญาเท่านั้น
.

นายปิยบุตรระบุว่า ตามหลักปรัชญากฎหมาย การกำหนดโทษในทางอาญาล้วนต้องมีเหตุผลกำกับ และการลงโทษก็ต้องได้สัดส่วน เหตุผลของกฎหมายอาญาคือการรักษาความสงบเรียบร้อยและระเบียบของสังคม เช่น ต้องมีบทลงโทษทางอาญาในเรื่องของการฆ่า ขโมย ล่วงละเมิดทางเพศ เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยตรง
.

แต่สำหรับการหมิ่นประมาทนั้น ยกตัวอย่างตนที่ถูกหมิ่นประมาทเป็นประจำแต่ไม่ติดใจเอาความ รัฐย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่ควรมายุ่งเกี่ยวอะไรด้วย เพราะไม่ได้มีความกระทบกระเทือนต่อสังคม ผู้ถูกดูหมิ่น ควรเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าเสียหายหรือไม่และเป็นเพียงเรื่องทางแพ่งระหว่างบุคคลกับบุคคลไป
.

บุคคลที่ดำรงตำแหน่งสำคัญของประเทศก็เช่นกัน กระบวนการยุติธรรมบนโลกสมัยใหม่มีแนวโน้มไปในทิศทาง ว่ายิ่งดำรงตำแหน่งสำคัญ โดยเฉพาะที่ใช้อำนาจรัฐ ยิ่งต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์และหมิ่นประมาทได้มากกว่าผู้อื่น
.

นายปิยบุตร ระบุว่า ดังนั้น เหตุผลที่ต้องคุ้มครองตำแหน่งสำคัญของประเทศจึงยิ่งลดน้อยถอยลงไป เรากำลังมาถึงยุคสมัยที่การหมิ่นประมาทไม่ได้ถูกนับเป็นโทษทางอาญาแล้วแต่เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายต้องไปเรียกร้องเป็นค่าสินไหมทดแทนกันในทางแพ่งเอง 

 

การเอาคนไปขังคุกไม่ควรเกิดจากเพียงการแสดงออก การพูด การเขียน เขาไม่ได้ฆ่าใครตาย เขาไม่ได้เอาเงินใครไป เขาไม่ได้ขโมยของใคร เขาไม่ได้ทำให้สังคมเดือดร้อนเต็มที่ไม่พอใจก็ไปเรียกค่าเสียหายเขา การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของคนไม่ควรจะนำไปสู่การเข้าคุก เรายืนยันใช่ไหมว่าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตย สาระสำคัญของที่สุดของประชาธิปไตยคือเสรีภาพในการแสดงออก นายปิยบุตรกล่าว
.

นายปิยบุตร ยังกล่าวต่อไปด้วยว่าหากเจาะจงไปที่กรณีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์หรือประมุขของรัฐ ก็จะพบว่าหลายประเทศที่มีกษัตริย์มีความผิดฐานนี้แต่แทบไม่ได้เอามาใช้แล้ว หรือที่เอามาใช้ก็ลงโทษแค่ปรับเท่านั้น มีอยู่ประเทศเดียวที่มีปัญหามากหน่อยคือกรณีของสเปน แต่ก็ถูกศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปลงโทษหลายครั้งว่าละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ละเมิดอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนของยุโรป 
.

ดังนั้นทิศทางของโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์หรือประธานาธิบดี มันมีแต่แนวโน้มที่จะยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาท ถ้าไม่ยกเลิกก็ไม่ใช้ หรือถ้าใช้ก็แค่ปรับ เหลืออยู่ไม่กี่ประเทศ ที่เป็นปัญหา เช่นกรณีของสเปน โมร็อกโก และประเทศไทย แต่ผมยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นสเปน หรือโมร็อกโก เขาไม่ใช้การลงโทษแบบเดียวกับเราไม่ใช้การดำเนินคดีร้อยกว่าคดีอย่างประเทศไทยแน่นอน นายปิยบุตรกล่าว

 

 ย้ำต้องขับเคลื่อนร่วมใน-นอกสภา ดันให้ถึงล้านชื่อเท่านั้นยกเลิก 112 ได้ 
.
นายปิยบุตรยังกล่าวต่อไป ถึงระดับการจัดการมาตรา 112 โดยระบุว่าขณะนี้อาจแบ่งได้เป็น 3 แนวทาง คือ 1) การแก้ไขในตัวบท เช่น การแก้ไขให้ลดโทษ หรือแก้เพื่อเพิ่มเหตุยกเว้นความผิด เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ เป็นต้น
.

2) กึ่งแก้กึ่งเลิก คือการไปเลิก 112 ทั้งมาตราก่อน แล้วจึงร่างกฎหมายฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ขึ้นมาใหม่ และ 3) การยกเลิกไปเลยอย่างที่มีการรณรงค์อยู่ในขณะนี้ 
.

นายปิยบุตรกล่าวต่อไป ว่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่กลุ่มราษฎรลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง เพื่อรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 ได้รับการตอบรับทั้งในด้านสนับสนุนและคัดค้าน ซึ่งต้องยอมรับว่าการผลักดันเรื่องที่ทั้งยากและใหญ่ขนาดนี้ ต้องใช้พลังของทุกส่วนในการเข้ามาผลักดันร่วมกันทั้งในและนอกสภา
.

จริงอยู่แม้กฎหมายให้ใช้เพียง 15,000 ชื่อก็สามารถเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาได้แล้วแต่นั่นย่อมไม่เพียงพอ สิ่งที่ผู้รณรงค์ต้องการคือหลักแสนหรือหลักล้านเท่านั้น ที่จะพอมีแรงกดดันให้สภาต้องยอมรับได้
.
การเข้าชื่อเป็นล้านจะช่วยทำให้เสียงของมหาชนถูกทำให้เป็นทางการ ทำให้มีพลังขึ้นมา ไม่ใช่กระจัดกระจายอยู่บนท้องถนน การรณรงค์รอบนี้จึงมีนัยยะสำคัญอย่างยิ่ง ยิ่งมีมากเท่าไหร่เรายิ่งมีโอกาสชนะ ยิ่งน้อยโอกาสสำเร็จก็มีน้อย พยายามทำให้ฝ่ายที่ไม่อยากแตะต้อง 112 กลายเป็นคนส่วนน้อยของสังคมให้ได้ นี่คือการสร้างฉันทามติในสังคม นายปิยบุตร กล่าว

 

ชี้ฝ่ายสนับสนุนต้องขยายแนวร่วม-ลดขัดแย้ง วอนฝ่ายเห็นต่างทบทวนความคิด 
.
นายปิยบุตร ยังได้สื่อสารไปถึงทุกฝ่ายในสังคมไทย ให้ร่วมกันมองเห็นความสำคัญของการยกเลิก "มาตรา 112" โดยสำหรับผู้สนับสนุน นายปิยบุตรระบุว่าจะต้องรณรงค์อย่างต่อเนื่องหาพวกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องไปคุยเพื่อให้เปลี่ยนใจ
.

ดังนั้น ท่าทีของการสื่อสารต้องมีความหลากหลาย ระดมคนเข้ามาให้มากที่สุด นักวิชาการปัญญาชนที่สนับสนุนต้องมาช่วยกันสื่อสาร และที่สำคัญ ผู้ที่สนับสนุนพรรคการเมืองต่างพรรค ควรหยุดถากถางกันเอง โดยเฉพาะในฝ่ายพรรคก้าวไกลที่รณรงค์เรื่องนี้มาก่อนควรแสดงความยินดีหากมีพรรคการเมืองอื่นมาร่วมผลักดันวาระสำคัญนี้ด้วยกัน 
.

นายปิยบุตรยังกล่าวส่งสารสุดท้ายไปถึงผู้ที่ยังไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรา 112 โดยระบุว่าผู้ที่จงรักภักดีอย่างจริงใจหลายคน หากไม่หลอกตัวเองจนเกิดไปควรจะต้องเห็นปัญหาของการใช้มาตรา 112 และควรต้องเข้าใจว่าการรักษาสถาบันกษัตริย์ที่ดีที่สุดย่อมไม่ใช่การไล่ฟ้องไล่ขังคน เพราะมีแต่จะทำให้ฝ่ายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ยิ่งแรงขึ้น
.

ดูประเทศอื่นเขาใช้วิธีอะไร ที่ประเทศอังกฤษมีกลุ่มอยากยกเลิกสถาบันกษัตริย์อยู่เต็มไปหมด แต่สำรวจกี่ทีก็เป็นส่วนน้อย สถาบันกษัตริย์อังกฤษก็ยังอยู่ มีคนเอาควีนอลิซาเบธไปล้อเลียนเต็มไปหมดทำไมเขาอยู่ได้ นั่นแสดงให้เห็นว่าเขาเปิดให้พูด เปิดให้คุย เปิดให้ล้อเลียน แล้วทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นคนกลุ่มน้อยของสังคม วิธีนี้ต่างหากที่จะรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ได้ เราเดินทางมาไกลจนย้อนกลับไม่ได้แล้ว ผมอยากจะชวนฝ่ายอนุรักษ์นิยมฝ่ายที่ประกาศตัวว่าเป็นเป็นผู้จงรักภักดี ลองคิดเรื่องนี้ใหม่อีกครั้ง นายปิยบุตร กล่าว

 

112 คือเรื่องปากท้อง-ลดงบสถาบันอัดฉีดประชาชนได้มากมาย - ถามทิ้งท้าย ตกลงไทยเป็น ปชต.หรือสมบูรณาญาสิทธิ์
.

ในช่วงครึ่งหลังของรายการ นายปิยบุตรได้พูดคุยแลกเปลี่ยน และตอบคำถามที่เข้ามาจากผู้ฟังทางบ้านหลายราย ซึ่งหนึ่งในคำถามนั้น เป็นข้อสงสัยที่ประชาชนจำนวนหนึ่งมี ว่าเหตุใดจึงไม่เรียกร้องในเรื่องของปากท้องให้ประชาชนก่อน
.

นายปิยบุตร ระบุว่าการรณรงค์นั้นสามารถทำได้หลายเรื่องพร้อม ๆ กัน ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น และที่สำคัญ เรื่องของมาตรา 112 ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชนโดยตรงด้วย
 

ทั้งนี้เพราะรายจ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ประเทศไทยตั้งไว้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งในส่วนราชการในพระองค์และในส่วนราชการอื่น รวมกันแล้วมีมากถึง 3-4หมื่นล้านบาทต่อปี ที่สามารถเอามาทำสวัสดิการ แก้ไขปัญหาปากท้อง อัดฉีดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจได้ 
.

แต่ปัจุบันมาตรา 112 ทำให้เกิดข้อจำกัดในการอภิปรายพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา ไม่สามารถตัดทอนปรับเปลี่ยนงบประมาณส่วนนี้ให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและความต้องการของประชาชนได้ ซึ่งย่อมเป็นเรื่องของปากท้องประชาชนโดยตรง
.

เยาวชนที่พูดถึงเรื่องนี้ต้องถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หรือไม่ต้องอื่นไกล เพื่อนผม (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า) พูดเรื่องวัคซีนและเป็นประโยชน์ต่อประเทศจริงแล้วก็ถูกด้วยที่พูด กลับโดนดำเนินคดีมาตรา 112 สิ่งที่ธนาธรพูดเกี่ยวกับชีวิตของผู้คน ชีวิตของพี่น้องประชาชนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นถามว่าเรื่องของมาตรา 112 มันโยงกับปากท้องได้ไหม มันย่อมเกี่ยวข้องแน่นอน บทบาทของสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทยแทรกซึมอยู่ในทุกอณูแล้ว ถ้าเราเปิดให้มีการวิจารณ์พูดถึง ให้สามารถติชมอย่างสุจริตใจเพื่อประโยชน์สาธารณะและเพื่อประโยชน์ของสถาบันกษัตริย์ได้ ผมว่ามันเป็นประโยชน์กว่าแน่นอน ดีกว่าเอา 112 มาปิดปากกันแบบนี้ นายปิยบุตรกล่าว
.

นอกจากนี้ ยังมีคำถามถึงกรณีที่ผู้ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรา 112 มักจะหยิบยกมา นั่นคือข้อโต้แย้งว่าหากไม่ได้ทำผิดแล้วจะกลัวทำไม ซึ่งนายปิยบุตรระบุว่านี่คือตรรกะที่ผิดเพี้ยนที่สุดที่ตนได้ยินมา เคยได้ยินตั้งแต่รณรงค์เรื่องนี้มาเมื่อสมัย ครก.112 
.

นายปิยบุตรกล่าวว่า หากจะอ้างแบบนี้ หมายความว่าประเทศนี้จะแก้กฎหมายอาญาไม่ได้เลยหรือ การแก้กฎหมายอาญาย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ถ้ากฎหมายนั้นไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ของสังคมอีกต่อไป 
.

นายปิยบุตรอธิบายว่ากฎหมายใดก็ตามที่กำหนดให้มีความผิดอาญา มีหลักสำคัญคือหลักความได้สัดส่วน ความพอสมควรแก่เหตุระหว่างการกระทำอันเป็นความผิดกับโทษ ถ้าหากการกระทำนั้นเป็นความผิดที่มีลักษณะที่ร้ายแรงโทษก็สูง แต่ถ้าเป็นการกระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรงโทษก็ต้องลดหลั่นลงไป 
.

ผมถามว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อพระมหากษัตริย์ร้ายแรงถึงขนาดต้องเอาเข้าคุก 3-15 ปีเลยหรือ กฎหมายแบบนี้เป็นอารยะหรือ เราต้องการปรับเพื่อให้กฎหมายทันสมัยขึ้น กฎหมายต้องเป็นไปตามยุคตามสมัย นายปิยบุตรกล่าว
.

นายปิยบุตรยังร่วมแลกเปลี่ยนในตอนหนึ่ง ว่านอกเหนือจากตัวบทและการบังคับใช้แล้ว มาตรา 112 ยังมีปัญหาในเชิงอุดมการณ์อีกด้วยนั่นคือการที่มีคนบางกลุ่มยังมีวิธีคิดว่าประเทศไทยเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ ทั้งๆ ที่ปัจจุบันประเทศไทยกำหนดว่าปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว 
.

นายปิยบุตร ตั้งคำถามว่าเป็นไปได้อย่างไรที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เท่ากับความมั่นคง หากประเทศนี้เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์การหมิ่นประมาทกษัตริย์อาจจะเข้าข่ายเรื่องความมั่นคงในราชอาณาจักรได้ แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแล้ว การที่มาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคงจึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไป
.

ใครที่ยืนยันว่า 112 ถูกต้องแล้ว ช่วยตอบผมดัง ๆ หน่อย ว่าประเทศนี้ยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่หรือ ถ้าไม่เป็นแล้วจะไปอยู่ในหมวดความมั่นคงทำไม ประวัติศาสตร์ของ112 หลัง 2475 ไม่ได้อยู่ในหมวดความมั่นคง ซึ่งถูกย้ายไปอยู่ในหมวดความมั่นคงหลังรัฐประหาร 2490 แล้วโทษมันเพิ่มขนาดนี้หลังรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 เพราะฉะนั้นมาตรา112 มันจึงไม่ใช่ตัวบทกฎหมายธรรมดา แต่มันสัมพันธ์กับบริบททางการเมืองตลอดเวลา นายปิยบุตรกล่าว
 


.

logoline