ข่าว

สามารถ ยกประวัติศาสตร์ "น้ำท่วม" ซ้ำซาก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สามารถ ร่าย ยกประวัติศาสตร์ "​น้ำท่วม" ซ้ำซาก​ แล้งซ้ำซ้อน​ ชูโมเดล delta work แก้ปัญหา​น้ำท่วม​ น้ำแล้งซึ่งเป็นความเดือดร้อน​ประชาชน​ให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน

    นายสามารถ เจนชัยจิตวนิช   อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม  โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีการแก้ปัญหา "น้ำท่วม" ในประเทศไทย ว่า "น้ำท่วม" ในประเทศไทยไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นแต่เกิดขึ้นตั้งแต่ประวัติศาสตร์ถ้าจำกันได้ ปัญหา "น้ำท่วม" เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา แต่อาจไม่ได้ส่งผลกระทบเหมือนในปัจจุบันเนื่องจากว่าทุกวันนี้เมืองขยายขึ้น และสมัยก่อนคนไทยนิยมปลูกบ้านริมน้ำ ปลูกยกใต้ถุนสูงหาก "น้ำท่วม" ก็ใช้เรือในการสัญจรก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่ในทุกวันนี้เมืองไม่ได้ใช้คลองในการสัญจรอีกแล้ว เพราะในทุกวันนี้เราใช้รถยนต์ในการสัญจร ใช้ถนนใช้รถไฟ เมื่อเกิดน้ำท่วมก็ไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องของการใช้เส้นทางสัญจรได้

 

   ตนอยากจะพาย้อนประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานครที่เคยลงไว้เมื่อปี พ.ศ. 2485 ซึ่งในพงศาวดารจดหมายเหตุก็มีลงไว้ว่าเกิด "น้ำท่วม" ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2328 เป็นช่วงต้นของรัตนโกสินทร์และเคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเช่นนี้ยาวไปจนถึง พ.ศ. 2485 อาทิ "น้ำท่วม" ครั้งแรก ในพงศาวดารมีการบรรยายว่าน้ำท่วมถึง 8 ศอก 10 นิ้ว ข้าวกล้าได้รับความเสียหาย ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 

ข้อมูลจาก หนังสือ “เหตุการณ์น้ำท่วม พ.ศ.2485” ของ “กระทรวงมหาดไทย” และจาก ข้อมูลสถิติ "น้ำท่วม" สำนักระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ระบุว่า เหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เกิดขึ้นอยู่เป็นนิตย์ ตั้งแต่อดีต ยุคตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน โดยมีครั้งสำคัญๆ ดังนี้

ปีมะเส็ง ปี 2328 ในรัชกาลที่ 1 ปีที่สร้างกำแพงพระนครและพระราชวังกรุงรัตนโกสินทร์เสร็จ ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ระดับน้ำที่สนามหลวงลึกถึง 8 ศอก 10 นิ้ว

เดือนตุลาคม ปี 2362 ในรัชกาลที่ 2 ข้าวยากหมากแพงเหมือนครั้งแรก

เดือนพฤศจิกายน ปี 2374 ในรัชกาลที่ 3 ท่วมทั่วพระราชอาณาจักร และมากกว่าปีมะเส็ง

ปี 2460 ในรัชกาลที่ 6 น้ำท่วมลานพระบรมรูปทรงม้า จนมีกิจกรรมการแข่งเรือ

ปี 2485 เริ่มท่วมตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนถึง 30 พฤศจิกายน 2485 น้ำท่วมมากกว่าปี 2460 เกือบเท่าตัว เนื่องจากฝนตกหนักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงมาก ไหลล้นคันกั้นน้ำทั้งสองฝั่ง วัดระดับน้ำท่วมที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้ 2.27 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง
ปี 2518 พายุดีเปรสชั่นพาดผ่านตอนบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำสูงทางภาคกลางตอนบน จนน้ำไหลล้นเข้าท่วมกรุงเทพฯ
ปี 2521 เกิดจากพายุ 2 ลูกคือ “เบส” และ “คิท” พาดผ่าน และมีน้ำไหลบ่าจากแม่น้ำป่าสัก ทำให้เกิดน้ำไหลบ่าจากทุ่งด้านตะวันออกเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ
ปี 2526 น้ำท่วมรุนแรงมาก เนื่องจากมีพายุพัดผ่านภาคเหนือและภาคกลางช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ประกอบกับมีพายุหลายลูกพัดผ่านกรุงเทพฯ ช่วงเดือนตุลาคม วัดปริมาณฝนทั้งปี 2119 มม. มีปัญหาจราจรที่รถกับเรือใช้เส้นทางเดียวกัน
ปี 2533 ในเดือนตุลาคมพายุโซนร้อน “อีรา” และ “โลล่า” พัดผ่านภาคอีสาน ทำให้ฝนตกหนักในกรุงเทพฯถึง 617 มม.
ปี 2537 เกิดพายุฝนฤดูร้อนถล่มกรุงเทพฯและปริมณฑลเมื่อ 7-8 พฤษภาคม 2537 วัดปริมาณฝนมากที่สุดที่เขตยานนาวา 457.6 มม. เฉลี่ยทั่วเขตกรุงเทพฯ มีปริมาณน้ำฝน 200 มม. มากที่สุดในประวัติการณ์ เรียกกันว่า “ฝนพันปี” เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่สร้างความเดือดร้อนทั่วกรุงเทพฯ

ข่าวที่น่าสนใจ 

 

ปี 2538 ฝนตกในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน เนื่องจากพายุหลายลูกพัดผ่าน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และมีฝนตกหนักช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เนื่องจากพายุ “โอลิส” ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูง วัดที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ สูงถึง 2.27 เมตร (รทก.) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (เท่าน้ำท่วมปี 2485) ทำให้น้ำล้นคันป้องกันริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำสูงถึง 50-100 ซม. น้ำเหนือหลากท่วมอยุธยา ปทุมธานี หมู่บ้านไวท์เฮ้าส์ ตอนเหนือของกรุงเทพฯ นาน 2 เดือน
ปี 2539 มีระยะเวลาท่วมขังตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม 2539 ตั้งแต่หลังปี 2539 เป็นต้นมา ยังไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงในเขตกรุงเทพฯ มีเพียงน้ำท่วมขังไม่นานก็ระบายออกได้สู่ภาวะปกติ

แต่พอปี​ พ.ศ.2554 ถ้าไม่มีคลองบางซื่อ​ขวางทางน้ำ​ และใช้ปั้มน้ำสูบออก​ กรุงเทพ​มหานคร​น่าจะจมน้ำอีกเช่นเคย

             ดังนั้น​ตนในฐานะประชาชนคนหนึ่งและได้รับฟังปัญหา​จากพ่อแม่​พี่น้อง​ประชาชน​ที่ได้รับความเดื​อดร้อนซ้ำซากจึงอยากให้รัฐบาลได้ดูต้นแบบประเทศ​เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเคยประสบอุทกภัย "น้ำท่วม" ครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่าสองพันคน ในปีค.ศ.1953 มาแล้ว หลังจากนั้นทำให้ประชาชนและภาครัฐร่วมกันจัดตั้ง คณะกรรมการสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เพื่อดำเนินการป้องกันภัยธรรมชาติอันอาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต และสานต่อแผนการเดิมที่ชื่อว่า “เดลตาแพลน” ผนวกกับแผนการเพิ่มเติม ที่มีมาตรการรองรับครอบคลุมยิ่งขึ้นกลายเป็น “Delta Works” ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของคนทั้งประเทศ เพื่อนำมาพัฒนาประเทศไทย

เพราะปัจจุบันเมื่อเกิดปัญหา "น้ำท่วม" อีกครั้งรัฐบาลควรจัดทำ Delta Works ได้แล้ว เพราะจะได้กันน้ำทะเลและน้ำจากแม่น้ำออกจากกัน และจะส่งผลดีต่อชายฝั่ง โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ใกล้ริมแม่น้ำ และการทำ Delta Works จะทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้ไม่ขาด เพราะ เมื่อเวลาน้ำทะเลหนุนขึ้นมาเกษตรกรก็ไม่สามารถทำการเกษตรได้เนื่องจากน้ำเค็มแต่การทำ Delta Works จะสามารถแยกน้ำเค็มและน้ำจืดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้กระทั่งกรุงเทพมหานครเมื่อปีที่แล้วก็ไม่สามารถใช้น้ำประปาได้เนื่องจากน้ำทะเลหนุนส่งผลให้น้ำประปาเค็ม การที่ประชาชนต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้โดยมีต้นทุนเพิ่มขึ้นถือเป็นการไม่ยุติธรรมกับพี่น้องประชาชน​ ทุกวัน​นี้น้ำทะเลหนุนไปถึงปทุมธานี​ ปราจีน​บุรีแล้ว

ถ้าเรามีการแก้ปัญหาพร้อมกับป้องกันในเรื่องของ "น้ำท่วม" และแก้ปัญหาน้ำทะเลหนุนได้ โดยใช้ทำเขื่อนเหมือนประเท​ศเนเธอร์แลนด์​ก็จะมีที่เก็บน้ำจืดขนาดใหญ่ได้ก็จะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งได้เป็นอย่างดีพร้อม​ทั้งเป็น​การแก้ปัญหา​อย่าง​ ยั่งยืน​ จึงอยากให้ท่านนายกฯ​กล้าตัดสินใจ​ทำเพื่อผลประโยชน์​ของ​ชาติ​และ​ประชาชน​

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ