ข่าว

"กสศ."ร่วมเอกชนสร้างการศึกษาทางเลือกใหม่ป้องเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กสศ." - StartDee - True – Samsung - Kerry Express เปิดตัวนวัตกรรม Free School-in-a-Box” ช่วยเด็กหลุด"นอกระบบการศึกษา"จากวิกฤตโควิด-19 ให้กลับมาเรียนอีกครั้งพร้อมชวนคนไทยร่วมกันบริจาคมือถือหรือแท็บเล็ตให้น้องๆ ที่ขาดแคลน

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษหรือ"กสศ." รายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาล่าสุดในภาคเรียนที่ 1/2564 พบว่ามีนักเรียนยากจนพิเศษช่วงชั้นรอยต่อจำนวน 43,060 คนหายไปจากระบบการศึกษา หรือไม่กลับเข้ามาเรียนต่อในภาคเรียนที่ 1/2564

 

โดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับ ม.3 จำนวน 33,710 คน และ ป.6 จำนวน 8,699 คน 

 

"กสศ."ร่วมเอกชนสร้างการศึกษาทางเลือกใหม่ป้องเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา 

 

ล่าสุด 5 หน่วยงานประกอบด้วย  กสศ.  StartDee  บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  บริษัท ไทยซัมซุง 
อิเลคโทรนิคส์ จำกัด และบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ริเริ่มโครงการ “Free School-in-a-Box” โรงเรียนหลังที่สอง เปิดกว้างให้เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาจากวิกฤตโควิด-19 ได้กลับมาเรียนต่อ ด้วยแนวทางที่ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับความจำเป็นรายบุคคล โดยเริ่มต้นที่ 6,500 คนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว 
 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ที่ผ่านมานักเรียนในครัวเรือนยากจนมีโอกาสศึกษาต่อในระดับ ม.ปลายเพียง 53%  และเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้เพียง 10%  เท่านั้น

 

เมื่อมีการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนนักเรียนยากจนสูงขึ้น และเพิ่มโอกาสในการออกจากระบบการศึกษาหลังสำเร็จการศึกษาภาคบังคับเพื่อประกอบอาชีพและหาเลี้ยงครอบครัว ความสูญเสียจากปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กและภาวะถดถอยทางการเรียนรู้มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ธนาคารโลกประเมินว่าจะมีระดับความเสียหายสูงที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 

“กสศ.พยายามระดมความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่มีความยืดหยุ่น เพื่อให้เยาวชนมีโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพควบคู่กันไป รวมทั้งร่วมกันทดลองต้นแบบระบบการศึกษาทางเลือกใหม่ (Alternative Education) โดยโครงการ “Free School-in-a-Box” เป็นหนึ่งในความพยายามค้นหาวิธีการเอาชนะอุปสรรคในการจัดการเรียนรู้ภายใต้สถานการณ์ Covid-19 นี้ได้ ทำให้เห็นว่าทุกภาคส่วนสามารถระดมทรัพยากรกำลังเพื่อช่วย “บรรเทาผลกระทบ” และ “เสริมแรง” ครูและผู้ปกครองในการดูแลเด็กเยาวชนในช่วงเวลาสำคัญนี้” 

 

ดร.ไกรยส  กล่าวว่า ครู ผู้ปกครอง สถานศึกษา และภาคส่วนต่าง ๆ พยายามจะช่วยสนับสนุนเด็กเยาวชนทุกคนผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน มีนวัตกรรมที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนในอนาคต และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เสมอภาค รวมถึงการมีแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพและไม่จำกัดเพียงแค่ในรั้วโรงเรียน จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้การศึกษาจะไปถึงเด็กทุกคน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้

 

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ  ซีอีโอ บริษัท เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี จำกัด
 

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ  ซีอีโอ บริษัท เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี จำกัด ที่พัฒนาแอปพลิเคชัน StartDee กล่าวว่า Free School-in-a-Box คือ การจัดส่งกล่องการเรียนรู้ไปให้กับนักเรียนจำนวน 6,500 คนที่หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว เกิดจากความคิดในการสร้างโรงเรียนหลังที่สองรองรับนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษา เพื่อให้กลับเข้าสู่ระบบได้อย่างไร้รอยต่อ StartDee ในฐานะที่มีซอฟต์แวร์และสื่อการสอนสำหรับทุกวิชาหลักในระดับชั้น ป.4 - ม.6 ได้ร่วมกับ กสศ. ที่มีข้อมูลเด็กนอกระบบการศึกษาทั่วประเทศ และบริษัทเอกชนที่เป็นพันธมิตรทั้งทรู ซัมซุง และเคอรี่ โดย กสศ. ได้ออกแบบระบบส่งต่อโรงเรียนในกล่องให้ไปถึงเด็กนอกระบบการศึกษา

 

"กสศ."ร่วมเอกชนสร้างการศึกษาทางเลือกใหม่ป้องเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา 


“กล่องนี้จะเป็นแบบจำลองโรงเรียนที่เด็ก ๆ จะเข้าถึงได้ โดยภายในประกอบด้วย 3 สิ่งที่สำคัญ อย่างแรกคือซิมอินเทอร์เน็ตฟรีจากทรู อย่างที่สองคือโค้ดที่กรอกแล้วสามารถเข้าถึงทุกคลังความรู้ทั้งหมดในแอป StartDee ได้ครบถ้วน และสามคือ สมาร์ทโฟนจากซัมซุง หรือโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตมือสองพร้อมสายชาร์จที่ประชาชนร่วมบริจาคเข้ามา สำหรับน้อง ๆ ที่ขาดแคลนอุปกรณ์”

 

นายพริษฐ์กล่าวว่า หลังจากส่งกล่องไปถึงมือเด็ก ๆ แล้ว กสศ.ร่วมกับ StartDee พร้อมระดมครูอาสาสมัครที่จะคอยช่วยสนับสนุน จัดคู่มือการเรียน ให้คำแนะนำน้อง ๆ วางแผนการเรียน การสอบนอกระบบ เพื่อให้ผ่านพ้นอุปสรรคและเรียนให้สำเร็จไปในแต่ละขั้นได้

 

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าเด็กยากจนพิเศษ 80% เข้าไม่ถึงการศึกษาออนไลน์ทั้งเรื่องอุปกรณ์สัญญาณ เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เด็กซึ่งมีความสามารถแต่ขาดโอกาส ทางกลุ่มบริษัททรู โดยมูลนิธิสานอนาคตทางการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED FOUNDATION) ได้มีส่วนร่วมยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้พัฒนาอย่างยั่งยืนผ่าน 5 ยุทธศาสตร์หลัก เช่น การระดมทุนเพื่อการศึกษา พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง ตลอดจนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน

 

 
“ในโอกาสนี้ ทางบริษัททรูมีความยินดีที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือมาให้น้อง ๆ 6,500 ซิม และซิมนี้จะเข้าไปเรียนในแอปพลิเคชันของสตาร์ทดี ตลอดจน แอปพลิเคชันพื้นฐาน เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก ยูทูบสำหรับหาข้อมูลเพิ่มเติมในการเรียนรู้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้ดาต้า รวมทั้งยังช่วยเติมเต็มด้วยระบบ VLEARN ที่จะเป็นเครื่องมือสำหรับให้คุณครูเข้ามาสอนสดกับนักเรียนอีกด้วย โดยสถานการณ์ขณะนี้ยังเป็นเพียงแค่เวฟแรกที่กำลังจะมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง ตรงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่พวกเรามุ่งมั่นมาช่วยกันเติมเต็มแก้ปัญหา ซึ่งความยากจนพิเศษเป็นของชั่วคราว พวกเขาจะหลุดพ้นได้หากมีความรู้ และความรู้มีวันหมดอายุ ต้องหาความรู้ใหม่เพิ่มเติม” ดร.ธีระพลกล่าว 
 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ