ข่าว

"ประกาศแล้ว" มาตรการคุมเข้มสถานประกอบกิจการสกัดเชื้อโควิด-19

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ราชกิจจาฯ "ประกาศแล้ว" มาตรการคุมเข้มสถานประกอบกิจการเตรียมพร้อมป้องกันการติดเชื้อโควิด งัดโควิดไทยพลัส ขึ้นป้าย ระดับความเข้ม ระดับ 1 - ระดับ 3 สกัดการแพร่ระบาดใน"สถานประกอบกิจการ"

 

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 64 "ราชกิจจานุเบกษา"  เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID -19)) สำหรับสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2564

 

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงประกาศว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการป้องกัน ความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID -19) ) สำหรับสถานประกอบกิจการ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์การระบาด ที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเพื่อให้สถานประกอบกิจการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันความเสี่ยง จากการแพร่กระจายและการรับสัมผัสเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และให้ผู้มีหน้าที่สามารถปฏิบัติถูกต้อง ตามสุขลักษณะ มีประสิทธิภาพและเหมาะสม รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบกิจการนี้ด้วย

 

อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๔ แห่งกฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตราย ต่อสุขภาพ พ.ศ. ๒๕๖๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข จึงได้ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

"ประกาศแล้ว" มาตรการคุมเข้มสถานประกอบกิจการสกัดเชื้อโควิด-19

ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID -19)) สำหรับสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2564 ”

 

ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ ๓ ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการ การป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID -19)) สำหรับสถานประกอบกิจการ พ.ศ. ๒๕๖๓

 

ข้อ ๔ ในประกาศนี้ "สถานประกอบกิจการ" หมายความว่า สถานที่ที่ใช้ในการประกอบกิจการที่เป็นอันตราย ต่อสุขภาพ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามความในมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติ การสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม “ผู้ดำเนินกิจการ” หมายความว่า เจ้าของ หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของ สถานประกอบกิจการนั้น “ผู้ติดเชื้อ” หมายความว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID -19)) 

 

“เชื้อไวรัส ” หมายความว่า เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID -19))

“ดิจิทัล ” หมายความว่า เทคโนโลยีที่ใช้วิธีการนำสัญลักษณ์ศูนย์และหนึ่งหรือสัญลักษณ์อื่น มาแทนค่าสิ่งทั้งปวง เพื่อใช้สร้างหรือก่อให้เกิดระบบต่าง ๆ เพื่อให้มนุษย์ใช้ประโยชน์ “ระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ” หมายความว่า การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้และให้หมายความ รวมถึงข้อมูลและการสื่อสารที่เกิดจากการให้บริการหรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบอินเตอร์เน็ต หรือโครงข่ายโทรคมนาคม รวมทั้งการให้บริการโดยปกติของดาวเทียมและระบบ เครือข่ายที่คล้ายคลึงกันที่เชื่อมต่อกันเป็นการทั่วไป

 

“ระดับ ๑” หมายความว่า สถานการณ์ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสทั้งในสถานประกอบกิจการ และในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานประกอบกิจการ และในเขตองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีพื้นที่ติดต่อกันนั้น แต่ยังพบการระบาดของเชื้อไวรัสภายในประเทศและต่างประเทศ

 

“ระดับ ๒” หมายความว่า สถานการณ์ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อในสถานประกอบกิจการ แต่พบว่า มีประวัติการพบผู้ติดเชื้อ ซึ่งอยู่ในระยะแพร่เชื้อตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด เข้ามาใช้บริการ ในสถานประกอบกิจการนั้น หรือพบผู้ติดเชื้อในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หรือในเขต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีพื้นที่ติดต่อกัน

 

“ระดับ ๓” หมายความว่า สถานการณ์ที่พบผู้ติดเชื้อในสถานประกอบกิจการนั้น

 

ข้อ ๕ กรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอยู่ในระดับ ๑ ให้ผู้ดำเนินกิจการ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันความเสี่ยง ดังต่อไปนี้

 

(๑) จัดให้มีการทำความสะอาดอาคารสถานประกอบกิจการ พื้น ผนัง ด้วยน้ำยาทำความสะอาด อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะบริเวณพื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อยหรือสัมผัสร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์โดยสาร เก้าอี้ โต๊ะส าหรับรับประทานอาหาร ห้องน้ำและห้องส้วม ต้องดูแล ความสะอาดให้อยู่ในสภาพที่ถูกสุขลักษณะเป็นประจำทุกวัน

 

(๒) จัดให้มีการระบายอากาศที่ดีและเพียงพอ กรณีมีระบบปรับอากาศต้องมีอัตราการระบายอากาศ เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดูแลบำรุงรักษาระบบ ปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ ตรวจสอบให้อยู่ในสภาพดี และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

(๓) จัดให้มีพื้นที่ปฏิบัติงานและพื้นที่ให้บริการอย่างน้อยหนึ่งคนต่อสี่ตารางเมตร หรือมีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อยหนึ่งเมตร เว้นแต่จะมีมาตรการป้องกันรูปแบบอื่น ตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานสาธารณสุข

 

(๔) จัดให้มีการทำความสะอาด เครื่องมือ เครื่องใช้ ภาชนะ อุปกรณ์และเครื่องจักรเกี่ยวกับ กระบวนการผลิตและการประกอบกิจการที่มีการสัมผัสบ่อย หรือสัมผัสร่วมกัน ก่อนและหลัง ประกอบกิจการ หรือให้บริการทุกครั้ง

 

(๕) จัดให้มีอ่างล้างมือพร้อมน้ำและสบู่อย่างเพียงพอ หากไม่สามารถจัดให้มีอ่างล้างมือได้ ต้องจัดให้มีเจลแอลกอฮอล์ หรือแอลกอฮอล์เข้มข้นไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบ วางไว้ในจุดที่สามารถ ใช้ได้อย่างสะดวกและเพียงพอ โดยเฉพาะบริเวณที่ทำการผลิต ปรุงประกอบอาหาร หรือบริเวณ ที่ให้บริการ

 

(๖) ให้มีภาชนะบรรจุ หรือภาชนะรองรับที่เหมาะสมและเพียงพอกับประเภทและปริมาณ ของมูลฝอย โดยการจัดเก็บให้จัดเก็บใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้มิดชิด นำไปกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะ และทำความสะอาดภาชนะบรรจุหรือภาชนะรองรับและบริเวณที่ตั้งภาชนะนั้นอย่างสม่ำเสมอ

 

(๗) จัดให้มีอุปกรณ์ทำความสะอาด น้ำยาทำความสะอาด สารฆ่าเชื้อ อย่างเพียงพอ

 

(๘) จัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันตนเองสำหรับพนักงานทำความสะอาดอย่างเพียงพอ เช่น ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย รองเท้าบูท และคีบด้ามยาวสำหรับเก็บมูลฝอยใส่ถุง

 

(๙) ให้ผู้ดำเนินกิจการกำกับ ดูแลให้ผู้ปฏิบัติงานต้องมีสุขภาพดี ไม่เป็นโรคติดต่อ รักษา ความสะอาดของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดและมีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี

 

(๑๐) จัดให้มีการวัดอุณหภูมิของผู้ปฏิบัติงานและผู้มาใช้บริการ และมีการลงทะเบียนเข้า และออกจากสถานประกอบกิจการ ผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทางราชการกำหนด เช่น ไทยชนะ หรือใช้การบันทึกข้อมูล

 

(๑๑) ให้ผู้ดำเนินกิจการกำกับ ดูแลคัดกรองผู้ปฏิบัติงาน โดยให้ผู้ปฏิบัติงานประเมินตนเอง ก่อนเข้าทำงานทุกวัน ผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลตามที่กรมอนามัยกำหนด เช่น ไทยเซฟไทย (Thai Save Thai) หากพบว่า มีอาการป่วยจากเชื้อไวรัสหรือสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อภายในระยะเวลา ที่อาจมีความเสี่ยงในการเป็นผู้ติดเชื้อให้หยุดปฏิบัติงานทันที กรณีผู้มาติดต่อมีประวัติเข้าไป ในสถานที่เสี่ยง หรือสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อภายในระยะเวลาที่อาจมีความเสี่ยงในการเป็นผู้ติดเชื้อ ให้งดเข้าไปในสถานประกอบกิจการ

ในกรณีกิจการตามข้อ ๓ กิจการที่ ๙ เกี่ยวกับการบริการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยเรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ให้ผู้ใช้บริการต้องประเมินตนเองก่อนเข้ารับบริการ ผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลตามที่กรมอนามัยกำหนด เช่น ไทยเซฟไทย (Thai Save Thai ) หากพบว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะเป็นผู้ติดเชื้อให้งดเข้าใช้บริการ ผู้ดำเนินกิจการต้องก ากับ ดูแล ให้ผู้ปฏิบัติงาน ผู้มาติดต่อ และผู้ใช้บริการ สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในสถานประกอบกิจการ ยกเว้นขณะดื่มหรือรับประทานอาหาร

(๑๒) ให้ดำเนินการเฝ้าระวังโดยการประเมินสถานประกอบกิจการ ในการปฏิบัติตามมาตรการ ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส ผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลตามที่กรมอนามัยกำหนด เช่น ไทยสต็อปโควิดพลัส (Thai Stop COVID Plus )

(๑๓) กรณีที่มีการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มในสถานประกอบกิจการ ต้องจัดบริการ ที่ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคและต้องจัดให้มีอ่างล้างมือ หรือเจลแอลกอฮอล์หรือแอลกอฮอล์เข้มข้นไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบไว้ด้วย

ข้อ ๖ กรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอยู่ในระดับ ๒ ให้ผู้ดำเนินกิจการ ปฏิบัติตามมาตรการในระดับ ๑ และดำเนินการตามมาตรการในระดับ ๒ ดังต่อไปนี้ด้วย

(๑) ให้เพิ่มมาตรการในการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมในข้อ ๕ (๑) อย่างน้อยวันละ สองครั้ง หรือเพิ่มความถี่มากขึ้นหากมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก และอาจฆ่าเชื้อด้วยสารฆ่าเชื้อโรค (๒) เมื่อทราบว่ามีผู้ติดเชื้อเข้ามาในสถานประกอบการตามช่วงเวลา หรือลำดับเหตุการณ์ ที่อาจแพร่เชื้อไวรัสได้ ตามที่ได้รับแจ้งข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือได้รับแจ้งจากผู้ที่เชื่อถือได้ ให้หยุดการดำเนินกิจการในส่วนที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อทำความสะอาดสถานประกอบกิจการ เครื่องปรับอากาศ หรือระบบระบายอากาศ แล้วจึงเปิดการดำเนินกิจการได้

 

ทั้งนี้ กรณีเป็นกิจการ ตามข้อ ๓ กิจการที่ ๙ เกี่ยวกับการบริการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องกิจการ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กรมอนามัยกำหนดเพิ่มเติมด้วย

 

(๓) จัดให้มีมาตรการลดความแออัด ลดการสัมผัสในสถานประกอบกิจการ เช่น ลดการ รวมกลุ่มในสถานประกอบกิจการ จำกัดจำนวนผู้ปฏิบัติงาน เช่น เหลื่อมเวลาทำงาน ปฏิบัติงานที่บ้าน การประชุมผ่านระบบเครือข่ายทางคอมพิวเตอร์ และจ ากัดจำนวนผู้ใช้บริการในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น การจองผ่านระบบเครือข่ายทางคอมพิวเตอร์ การนัดเวลาเข้ารับบริการล่วงหน้า

 

(๔) จัดทำทะเบียนบันทึกประวัติและข้อมูลการเดินทางของผู้ปฏิบัติงาน กรณีที่มีการเดินทาง ไปในพื้นที่หรือสถานที่เสี่ยง และให้มีมาตรการป้องกันควบคุมโรค เช่น การกักตัวเพื่อสังเกตอาการ

(๕) จัดให้มีการตรวจหาเชื้อไวรัสให้แก่พนักงานตามความเหมาะสม กรณีตรวจแล้วได้ผล ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเป็นผู้ติดเชื้อ ให้รายงานต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยทันที และปฏิบัติ ตามมาตรการควบคุมโรคตามที่กฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกำหนด

(๖) ส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนได้รับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส ตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด

(๗) ให้เพิ่มมาตรการในการคัดกรองในข้อ ๕ (๑๑) ในกรณีมีบุคคลภายนอกที่เข้ามา ให้บริการหรือปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการมากกว่าหนึ่งชั่วโมง ต้องดำเนินการประเมินตนเอง ผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลตามที่กรมอนามัยกำหนดด้วย

(๘) ให้เพิ่มมาตรการกรณีที่มีการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มในสถานประกอบกิจการ ในข้อ ๕ (๑๓) โดยจัดให้มีที่นั่งรับประทานอาหารเป็นการเฉพาะ ที่สามารถป้องกันการแพร่กระจาย ของเชื้อไวรัส เช่น แยกที่นั่งแต่ละบุคคล หรือจัดให้มีฉากกั้น

ข้อ ๗ กรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอยู่ในระดับที่ ๓ ให้ผู้ดำเนินกิจการ ปฏิบัติตามมาตรการในระดับ ๒ และมาตรการในระดับ ๓ ดังต่อไปนี้ด้วย 

(๑) ให้สถานประกอบกิจการท าความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค ในบริเวณสถานประกอบกิจการ ที่คาดว่าผู้ติดเชื้ออยู่ในสภาพแวดล้อมในสถานประกอบกิจการนั้นทันที โดยพิจารณาหยุดกิจกรรม หรือการให้บริการ ในแผนกที่มีผู้ปฏิบัติงานติดเชื้อและบริเวณที่เกี่ยวข้อง และให้เปิดการดำเนินกิจการต่อไปได้ ในวันถัดจากวันที่ทำความสะอาดแล้วเสร็จหนึ่งวัน หรือตามที่เจ้าพนักงานสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วย การสาธารณสุขกำหนด หรือใช้มาตรการอื่นตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดแล้วแต่กรณี เช่น การควบคุม การระบาดของเชื้อไวรัสในสถานประกอบกิจการ โดยดำเนินการภายใต้มาตรการควบคุมป้องกันโรค อย่างเคร่งครัด ได้แก่ ควบคุมการเดินทางระหว่างที่ทำงานกับที่พักอาศัย ห้ามผู้ปฏิบัติงานแวะระหว่าง การเดินทาง เมื่อถึงที่พักอาศัยแล้วต้องอยู่ภายในที่พักอาศัยเท่านั้น และควบคุมไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานออกไป ภายนอกสถานประกอบกิจการ (Bubble and Seal ) หรือตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

(๒) ให้เพิ่มความถี่ในการท าความสะอาดสถานประกอบกิจการ อย่างน้อยทุกสองชั่วโมง หรือหลังการให้บริการ โดยเฉพาะในจุดเสี่ยงหรือจุดที่มีการสัมผัสร่วม กรณีสถานประกอบกิจการที่ให้บริการเป็นรอบ เช่น ประเภทการเลี้ยงสัตว์ให้ประชาชนเข้าชม และการให้เข้าชมมหรสพ ให้ท าความสะอาดทุกครั้งหลังจากมีผู้ใช้บริการในแต่ละรอบ

(๓) ให้เพิ่มการดูแลการระบายอากาศในสถานประกอบกิจการให้มีการถ่ายเทอากาศบริเวณ ที่พบผู้ติดเชื้อทันที และปรับปรุงระบบระบายอากาศให้ดียิ่งขึ้น โดยอาจติดตั้งอุปกรณ์เพิ่ม เช่น เครื่องกรองอากาศหรือพัดลมดูดอากาศให้เพียงพอ กรณีห้องส้วมให้เปิดพัดลมดูดอากาศ ออกตลอดเวลาการใช้งาน

(๔) ให้มีการจัดการมูลฝอยประเภทที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ชุดตรวจและน้ ายาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS -CoV - 2 (เชื้อก่อโรค COVID -19 ) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID -19 Antigen test self-test kits ) ที่ใช้งานแล้ว ในแผนกที่มีผู้ปฏิบัติงานผู้ติดเชื้อและบริเวณที่เกี่ยวข้อง ให้จัดที่ทิ้งมูลฝอยติดเชื้อ เป็นการเฉพาะ แยกเก็บรวบรวม และทำลายเชื้อไวรัส โดยใส่ถุงบรรจุมูลฝอยติดเชื้อที่ท าจากพลาสติก หรือวัสดุอื่นที่มีความเหนียวไม่ฉีกขาดง่าย ทนทานต่อสารเคมีและการรับน้ำหนัก กันน้ำได้ ไม่รั่วซึม และไม่ดูดซึม จำนวนสองชั้น ถุงชั้นแรกให้ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือน้ำยาฟอกขาว จากนั้นมัดปากถุง ให้แน่นแล้วซ้อนด้วยถุงแดงบรรจุมูลฝอยติดเชื้ออีกหนึ่งชั้นมัดปากถุง ให้แน่นอีกครั้ง หากไม่มีถุงแดง ต้องมีข้อความ “มูลฝอยติดเชื้อ ” ปรากฏบนถุงบรรจุมูลฝอยติดเชื้อ มูลฝอยติดเชื้อตามวรรคหนึ่ง ให้เก็บรวบรวมเพื่อรอการเก็บขนและกำจัดแบบมูลฝอยติดเชื้อ หรือเก็บรวบรวมแยกไว้เฉพาะตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก าหนด และจัดให้มีเจ้าหน้าที่กำกับดูแล การจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้ออย่างเคร่งครัด

ข้อ ๘ ให้สถานประกอบกิจการดำเนินการตามมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากเชื้อไวรัส ตามระดับของสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยเพิ่มมาตรการจากระดับ ๑ เป็นระดับ ๒ หรือจนถึง ระดับ ๓ หรือโดยลดมาตรการจากระดับที่ ๓ เป็นระดับที่ ๒ หรือเป็นระดับที่ ๑ แล้วแต่กรณี

ทั้งนี้ ตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือเจ้าพนักงานสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขกำหนด ข้อ ๙ ในกรณีที่สถานประกอบกิจการใดมีมาตรการกำหนดไว้โดยเฉพาะที่มีความเข้มข้น มากกว่ามาตรการตามประกาศนี้ ให้ปฏิบัติตามมาตรการนั้นต่อไปได้ และให้ปฏิบัติมาตรการตามกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องด้วย

 

ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๔

สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
 

อ่านประกาศฉบับเต็มได้ที่นี่.... 

 

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือโรคโควิด ๑๙ (Coronavirus Disease ๒๐๑๙ (COVID-๑๙)) สำหรับสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. ๒๕๖๔

logoline