ข่าว

เตือน "พายุโซนร้อน" 2 ลูก ทั่วไทยฝนถล่ม เสี่ยงท่วม-น้ำป่าหลาก กทม.ตก 80%

08 ก.ย. 2564

กรมอุตุฯ เตือนจับตา "พายุโซนร้อน" 2 ลูก โกนเซิน - CHANTHU ทั่วไทยฝนตกหนักระวัง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2 เมตร

วันที่ 8 กันยายน 2564 "กรมอุตุนิยมวิทยา" เตือนให้จับตา "พายุโซนร้อน" 2 ลูก พร้อมระบุว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ภาคเหนือ และภาคอีสาน ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ต้องระวังฝนตกหนักถึงหนักมาก ในระยะ 1 - 3 วันนี้ เมฆฝนยังเกิดขึ้นตามแนวร่องมรสุม วิเคราะห์ลมระดับล่าง ๆ มีกระแสลมไหลเวียนเข้าหากัน (Cyclonic) ปกคลุมบริเวณตอนกลางของบ้านเรา ระดับบนเป็นลมตะวันออก 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขณะนี้มี "พายุโซนร้อน" 2 ลูก ลูกแรกบริเวณตอนกลางประเทศฟิลิปปินส์ คือ พายุโซนร้อน "โกนเซิน" (CONSON) กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย คาดว่าจะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ในวันที่ 9 กันยายน 2564 และจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำลงสู่อ่าวตังเกี๋ย ในช่วงวันที่ 12 - 13 กันยายน 2564 

 

และในมหาสมุทรแปซิฟิก ชื่อพายุโซนร้อน "CHANTHU" มีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปทางเหนือ ต้องติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจาก กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นระยะ ๆ 

 

สำหรับ พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 7 กันยายน 2564 - 13 กันยายน 2564 

 

ในช่วงวันที่ 7 - 10 กันยายน 2564 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง 

 

ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 13 กันยายน 2564 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นมาพาดภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง 

 

สำหรับในช่วงวันที่ 8 - 13 กันยายน 2564 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร 

 

เตือน \"พายุโซนร้อน\" 2 ลูก ทั่วไทยฝนถล่ม เสี่ยงท่วม-น้ำป่าหลาก กทม.ตก 80%

 

 

อนึ่ง พายุโซนร้อน "โกนเซิน" (CONSON) ที่ปกคลุมตอนกลางของประเทศฟิลิปปินส์ กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย คาดว่าจะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ในวันที่ 9 กันยายน 2564 และจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำลงสู่อ่าวตังเกี๋ยในช่วงวันที่ 12-13 กันยายน 2564 

 

ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 7 - 13 กันยายน 2564 ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง 

 

ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 7 - 10 ก.ย. 2564 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 13 ก.ย. 2564 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. 

 

ภาคกลาง ในช่วงวันที่ 7 - 10 ก.ย. 2564 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 13 ก.ย. 2564 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. 

 

ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 7-10 ก.ย. 2564 มีฝนตกหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 8 - 13 ก.ย. 2564 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร 

 

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) ในช่วงวันที่ 7 - 10 ก.ย. 2564 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 13 ก.ย. 2564 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 8 - 13 ก.ย. 2564 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร 

 

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) ในช่วงวันที่ 7 - 10 ก.ย. 2564 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 13 ก.ย. 2564 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 8 - 13 ก.ย. 2564 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร 

 

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในช่วงวันที่ 7 - 10 ก.ย. 2564 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 13 ก.ย. 2564 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. 

 

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้สรุปปริมาณฝนสะสมรายวันที่ผ่านมา (5 กันยายน - 7 กันยายน 2564) ดังนี้ 

 

วันที่ 5 กันยายน 2564 มีฝนตกอยู่ในเกณฑ์เล็กน้อยถึงหนัก ปริมาณฝนสูงสุด (ฝนหนัก) วัดได้ 75.1 มม. ที่ จ.กาฬสินธุ์ 

 

วันที่ 6 กันยายน 2564 ปริมาณฝนเพิ่มขึ้น บริเวณภาคตะวันออก ปริมาณฝนสูงสุด(ฝนหนัก) วัดได้ 81.5 มม. ที่ จ.จันทบุรี 

 

วันที่ 7 กันยายน 2564 ปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ปริมาณฝนสูงสุด(ฝนหนักมาก) วัดได้ 194.2 มม. ที่ จ.ชลบุรี 

 

เตือน \"พายุโซนร้อน\" 2 ลูก ทั่วไทยฝนถล่ม เสี่ยงท่วม-น้ำป่าหลาก กทม.ตก 80%

 

ที่มา กรมอุตุนิยมวิทยา