วันนี้ ( 4 ก.ย. )เป็นวันลงมติญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและ 5 รัฐมนตรี ดังนั้น "คมชัดลึก" ขอ "เช็กเสียงก่อนโหวต" มาตรวจสอบจำนวนเสียงรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีจำนวนเท่าไหร่ ห่างกันมากน้อยแค่ไหน และหวังผลได้แค่ไหนกับการซักฟอกครั้งนี้ "ลุงตู่จะได้อยู่ต่อ" หรือ "พอแค่นี้"
การลงมติญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ สำหรับรัฐมนตรีที่ถูกฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีทั้งสิ้น 6 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และรมต.จาก 3 พรรครัฐบาล คือพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
สำหรับเสียงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะทำให้รัฐมนตรี ต้องพ้นจากตำแหน่งนั้น
มาตรา 151 รัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า "มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
และมาตรา 170 รัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ
( 3 ) สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ
ส.ส.เท่าที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรขณะนี้มีจำนวน 482 คน (จากจำนวนเต็ม 500 คน) กึ่งหนึ่งก็คือ 241 คน
ดังนั้นรัฐมนตรีคนใด ถูกลงมติ “ไม่ไว้วางใจ” มากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 242 เสียงขึ้นไป รัฐมนตรีคนนั้น ก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งทันที
มาถึงตรงนี้ต้องมา "เช็กเสียงรัฐบาล" และ "ฝ่ายค้าน" ว่าแต่ละฝ่ายมีมากน้อยกว่ากันเท่าไหร่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผู้นำฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซัด "นายกฯ" บริหารผิดพลาดร้ายแรง
- "อภิปรายไม่ไว้วางใจ" พิธา ซัด รอก่อนเป็นคำสุภาพที่หยาบที่สุด
- ศึก"อภิปรายไม่ไว้วางใจ" เวทีด้อยค่าส.ส. โหนกระแสความตาย ประท้วงวุ่น
จำนวน ส.ส.ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ 482 คน แยกเป็น
- ฝ่ายรัฐบาล 276 คน
- ฝ่ายค้าน 206 คน
รัฐบาล 276 เสียง ประกอบด้วย
- พลังประชารัฐ 119 เสียง
- ภูมิใจไทย 61 เสียง
- ประชาธิปัตย์ 48 เสียง
- ชาติไทยพัฒนา 12 เสียง
- เศรษฐกิจใหม่ 5 เสียง
- รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง
- พลังท้องถิ่นไท 5 เสียง
- ชาติพัฒนา 4 เสียง
- รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง
-ก้าวไกล(แนวโน้มงูเห่า ) 5 เสียง
-กลุ่ม 9 พรรคเล็ก 9 เสียง
"ฝ่ายรัฐบาล" นำโดย พรรคพลังประชารัฐ (119 เสียง ) ภูมิใจไทย (61 เสียง ) ประชาธิปัตย์ ( 48 เสียง ) ชาติไทยพัฒนา (12 เสียง ) รวมพลังประชาชาติไทย ( 5เสียง ) ชาติพัฒนา (4เสียง ) พลังท้องถิ่นไท ( 5เสียง) รักษ์ผืนป่าประเทศไทย ( 2 เสียง ) เสริมด้วยเสียงของ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่ย้ายขั้วมา ( 5เสียง ) และกลุ่มพรรคเล็ก 9 เสียง
ขณะที่ ส.ส.จากพรรคก้าวไกล อีก 5 คน ซึ่ง 4 คน เคยโหวตเห็นชอบให้กับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา และล่าสุดโหวต งบฯ ปี 65 วาระ 3 ก็มีส.ส. จากพรรคก้าวไกล 5 คนโหวตเห็นชอบกับรัฐบาล และอีกเสียงจากนายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ ทำให้รัฐบาลมีอย่างน้อย 276 เสียง โดยยังไม่นับ “งูเห่าฝากเลี้ยง”
ฟาก "ฝ่ายค้าน" พรรคเพื่อไทย (134 เสียง) ก้าวไกล (48 เสียง) เสรีรวมไทย (10 เสียง) ประชาชาติ (6 เสียง ) เพื่อชาติ (5 เสียง ) พลังปวงชนไทย (1 เสียง ) บวกเพิ่มอีก 2 เสียง จากนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ พรรคไทยศรีวิไลย์ รวมแล้ว 206 เสียง
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 3 ก.ย.64 นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานกรรมการในคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร หรือ "วิปรัฐบาล" เปิดเผยว่า ส.ส.พรรคพลังประชารัฐติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 รายและส.ส. จากพรรคภูมิใจไทยติดเชื้อ 1 ราย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากวันนี้มีผู้ติดเชื้อ 15,000 ราย ถึง 20,000 รายต่อวัน ซึ่งคะแนนตอนนี้อยู่ที่ 269 เสียง พร้อมกับระบุว่าตอนนี้มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้ว
เมื่อพิจารณาจากการล็อบบี้เคลียร์ใจกันภายในพรรคพลังประชารัฐ อันเป็นผลสืบเนื่องจาก"ใครบางคนคิดการใหญ่" จนมีการขอโทษขอโพยและสงบศึกแล้ว กอปรกับ จำนวนเสียงฝ่ายค้านที่มีจึงต้องอยู่ในความสงบตามไปด้วย
โอกาสที่จะล้มรัฐบาลจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนี้น่าปิดประตู สิ่งที่ฝ่ายค้านทำได้เหมือนศึกซักฟอกสองครั้งที่ผ่านมา คือ การใช้เวทีตามกติกาประชาธิปไตย เขย่าเสถียรภาพและความชอบธรรมของรัฐบาลไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงวันที่พลพรรคมีโอกาสหวนคืนสู่อำนาจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง