ข่าว

การรถไฟฯ แจงยิบกรณีพิพาท "ที่ดินเขากระโดง" ยัน เป็นเรื่องซับซ้อน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การรถไฟฯ ชี้แจงกรณี "อภิปรายไม่ไว้วางใจ" "ที่ดินเขากระโดง" เหตุไม่ฟ้อง ปชช. มีการออกเอกสารสิทธิทับซ้อนของหน่วยงานอื่น เผยขณะนี้มีผู้บุกรุกจำนวนมาก

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจง กรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ของนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนราธิวาส พรรคประชาชาติ ที่มีการกล่าวถึงการดำเนินการของการรถไฟฯ เกี่ยวกับกรณีการแก้ไขปัญหาที่ดินข้อพิพาทที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนบริเวณพื้นที่เขากระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ว่า  สำหรับปัญหาที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณเขากระโดง จากการตรวจสอบพบว่ามีผู้บุกรุก จำนวนประมาณ 83 ราย ซึ่งที่ผ่านมา รฟท. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการบุกรุกตามขั้นตอนภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ทั้งนี้บริเวณเขากระโดง มีปัญหามาอย่างยาวนาน และมีความสลับซับซ้อน ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการสำรวจ การออกเอกสารสิทธิ์ที่คลาดเคลื่อน โดยล่าสุดเมื่อต้นปี 2564 การรถไฟฯ ได้ดำเนินการสำรวจที่ดินบริเวณเขากระโดง โดยไม่ได้มีการสำรวจที่ดินของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นการเฉพาะ พบว่า มีผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยหน่วยงานราชการประมาณ 900 ราย   ซึ่งในกรณีดังกล่าว การรถไฟฯ ได้ยึดแนวทางในการดำเนินการทุกขั้นตอนบนหลักการว่า ประชาชนผู้ถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ออกโดยทางราชการ และอาศัยอยู่ในที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว ถือว่าเป็นผู้อาศัยในที่ดินโดยสุจริต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

นายนิรุฒ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมไม่ฟ้องประชาชนตามคำแนะนำของสำนักงานอัยการสูงสุดการรถไฟฯ ไม่ทราบว่ากรมที่ดิน ได้หารือประเด็นใดรวมถึงการจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบ การพิจารณาวินิจฉัยของสำนักงานอัยการสูงสุดเพียงใด อย่างไรก็ตามการรถไฟฯ ได้นำคำวินิจฉัยของสำนักงานอัยการสูงสุดมาพิจารณาในการดำเนินการแล้วเห็นว่า การที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ทับบนที่ดินที่สันนิษฐานว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ เป็นกรณีที่ประชาชนผู้ถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ออกโดยทางราชการและอาศัยอยู่ในที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว เป็นผู้อาศัยในที่ดินโดยสุจริต การรถไฟฯ จึงไม่มีความประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับประชาชนผู้ถือเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยทางราชการ แต่จะดำเนินการโดยมุ่งเน้นพิสูจน์ข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เมื่อกรมที่ดินเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ราษฎรและให้บริการ จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น และมีข้อเท็จจริงปรากฏตามผลของคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น ทำให้การรถไฟฯ เชื่อได้ว่าการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่บริเวณเขากระโดงโดยความคลาดเคลื่อนเกิดจากเจ้าพนักงาน

สำหรับ การรถไฟฯ  มีที่ดิน มีจำนวนทั้งสิ้น 245,807.97 ไร่ มีที่มาของกรรมสิทธิ์ที่ดินจาก 6 ช่องทาง คือ การได้มาโดยพระบรมราชโองการ การเวนคืน การจัดซื้อ การรับมอบจากประชาชน การจับจอง และการแลกเปลี่ยนพื้นที่โดยรวมของการรถไฟฯ ทั้งหมดทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่

1.พื้นที่ใช้ในการเดินรถในปัจจุบัน 190,606.97 ไร่ อาทิ พื้นที่ย่านสถานี พื้นที่บ้านพักและที่ทำการ พื้นที่เขตทางรถไฟ พื้นที่โรงรถจักร โรงซ่อมบำรุง

 

2.พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการเดินรถในปัจจุบัน 55,201 ไร่ แบ่งออกเป็นพื้นที่ที่นำมาจัดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้โดยนำออกจัดประโยชน์แล้ว 5,205 ไร่  อยู่ระหว่างดำเนินการ 49,996 ไร่ และพื้นที่ที่ยังไม่สามารถนำมาจัดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ แบ่งออกเป็น

 

  • ที่ดินที่มีการบุกรุก มีผู้บุกรุกเข้าครอบครองที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 18,822 ราย ประกอบด้วย พื้นที่ในเขตกรุงเทพปริมณฑล 1,538 ราย พื้นที่ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 911 ราย นครราชสีมา ขอนแก่น ศรีสะเกษ และจังหวัดใกล้เคียง 3,045 ราย นครสวรรค์ พิษณุโลก จังหวัดใกล้เคียง 869 ราย และพื้นที่ในจังหวัดอื่นๆ 12,459 ราย

 

  • ที่ดินที่มีข้อพิพาท ซึ่งมีการออกเอกสารสิทธิ์บนพื้นที่ที่สันนิษฐานว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ เช่น พื้นที่บริเวณพังงา-ท่านุ่น จ.พังงา พื้นที่บริเวณอรัญประเทศ จ. สระแก้ว พื้นที่บริเวณ บ้านโพธิ์มูล จ.อุบลราชธานี

 

 

ที่มา:ฝ่ายสื่อสารองค์กร การรถไฟแห่งประเทศไทย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ