ข่าว

จับตา ประชุมกต. ปรเมษฐ์ หวังขอ"คืนความเป็นธรรม"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปรเมษฐ์หวังกต."คืนความเป็นธรรม" ให้นั่งผู้พิพากษาอาวุโส วอนกต.ให้ความเป็นธรรมตามกฎหมาย ชี้หากไม่ได้รับความเป็นธรรม ใช้สิทธิทางกม.

ในวันที่ 23 ส.ค.นี้ คณะกรรมการตุลาการ(กต.) สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมจะมีการประชุมพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการศาลยุติธรรมประจำปี 2564 ในส่วนที่ยังค้างและอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ที่จะมีผลในวันที่ 1 ต.ค.นี้  ซึ่งเป็นที่จับตาว่า กต.ให้ความเป็นธรรมต่อนายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ หรือไม่

จับตา ประชุมกต.  ปรเมษฐ์ หวังขอ"คืนความเป็นธรรม"

โดยวาระที่น่าสนใจคือ  กรณีนายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ช่วยทำงานผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกาและประธานคณะกรรมการตุลาการเป็นจำเลย ฐานเป็นเจ้าพนักงานประพฤติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลอาญา มาตรา 157   โดยต้องพิจารณาว่ากต.จะพิจารณาให้นายปรเมษฐ์ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสในปีนี้หรือไม่ หลังจากเลื่อนพิจารณามาหลายครั้งแล้ว
   

โดยในปีนี้มีการยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายและการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของข้าราชการสำนักงานศาลยุติธรรม และกต.บางรายและยังไม่มีความคืบหน้า  

อาทิ  กรณีที่ประธานศาลฎีการลงนามตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อกล่าวหาว่าอดีตประธานศาลฎีกา 2 คน และ อดีตประธานศาลอุทธรณ์ 1 คน ปรากฎชื่อเป็น 3 คนในผู้พิพากษาของศาลฎีกา ที่เว็บ Law360 รายงานข่าวและวิเคราะห์ในด้านกฎหมายของสหรัฐอเมริกา กล่าวอ้างถึงในผลการสอบสวนภายในของบริษัท โตโยต้า คอร์ป ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่น ระบุว่าเข้าไปเกี่ยวพันกับการจ่ายสินบนจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์(ประเทศไทย)จำกัด ที่จ่ายผ่านบริษัทสำนักงานกฎหมาย เพื่อให้ศาลมีคำตัดสินในทางที่เป็นคุณในเรื่องข้อพิพาททางภาษีจากการนำเข้ารถโตโยต้า พรีอุส ระหว่างปี 2555-2558 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้บ.โตโยต้า (ประเทศไทย) จ่ายภาษีและค่าปรับกว่า 11,000 ล้านบาท เมื่อประมาณปี 2563  แต่ บ.โตโยต้า(ประเทศไทย)ยื่นฎีกา   โดยกรณีนี้ศาลฎีกาได้รับเรื่องนี้ไว้ในระบบแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กต.คลอดหลายตำเเหน่ง "ชำนาญ"ข้องใจ"อนุรักษ์"ได้ไปต่อ พร้อมร้องนายกฯทบทวน

เขย่าตุลาการอีกรอบ "ชำนาญ" ค้านตั้ง "อนุรักษ์" 

"ปรเมษฐ์" เตรียม ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ฟ้อง "ประธานศาลฎีกา"

 

กรณีนายประสิทธิ์ เจริญถาวรโภคา รองประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) ได้ประกาศลาออกกลางที่ประชุม เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา เพราะไม่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของ อ.ก.ต. เสียงข้างมาก ในการแต่งตั้งผู้พิพากษารายหนึ่ง ให้ เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ทั้งที่ถูกร้องเรียนว่ามีส่วนเข้าไปพัวพันกับการแทรกแซงกระบวนการต่อสู้คดีข้อพิพากษาที่ดินจำนวน 46 แปลง ระหว่างบริษัทเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่งกับคู่กรณี ซึ่งมีคดีฟ้องร้องกันจำนวนหลายคดีทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง จนกระทั่งบริษัทต้องยอมจ่ายเงินชดเชยจำนวน 400 ล้านบาท 
   
กรณีที่นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี   , สำนักงานป.ป.ช. และประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.)และกรรมการ ก.ต. เรื่องคัดค้านบัญชีรายชื่อการแต่งตั้ง นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล รองประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์ เนื่องจากมีเหตุสงสัยที่จะมีการกระทำผิดวินัยอันมีลักษณะการหาเสียงเลือกตั้ง ก.ต.บุคคลภายนอกครั้งที่ผ่านมาในไลน์ ”สภาตุลาการ” ทั้งที่อยู่ในตำเเหน่ง ก.ต. แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้

 

แหล่งข่าว จากสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า  หากมติ กต.ในวันที่ 23 ส.ค. ระบุว่า จะไม่ให้นายปรเมษฐ์ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส    คาดว่านายปรเมษฐ์จะใช้สิทธิ์ ตาม กฎหมาย และรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ปวงชนชาวไทย ย่อมได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเสมอภาคกัน  

 

 

   

รวมทั้งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ มาตรา45 ที่ระบุว่า   ในการประชุมกต.ห้ามไม่ให้กรรมการผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องพิจารณาเข้าร่วมประชุมและลงมติในเรื่องนั้น เพราะโดย ปกติกรรมการผู้มีส่วนได้เสีย ย่อมต้องรู้ดีว่า ไม่สมควรเข้าไป ประชุม และ ลงมติ ที่เป็นผลร้ายแก่คู่กรณี ที่มีส่วนได้เสีย ในเรื่องนั้น

 

“มองสิ่งที่นายปรเมษฐ์เคยยื่นคำร้องไว้ว่าการพิจารณาแต่งตั้งดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส ต้อง พิจารณตามพ.ร.บ.หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสฉบับที่ 4 พศ 256 มาตรา 6/1 บัญญัติว่า   ข้าราชการตุลาการซึ่งมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณใดให้พ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ เมื่อสิ้นงบประมาณนั้น และให้ไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสจนกว่าจะพ้นจากราชการตามมาตรา 8/1 และมาตรา 9 บัญญัติว่าข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมซึ่งจะมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณใดให้ กต. จัดให้มีการประเมินสมรรถภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตุลาการ แล้วเสนอผลการประเมินให้กต.พิจารณาประกอบการแต่งตั้ง


เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายจะได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสแล้ว กต.ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญของสถาบันศาลยุติธรรมในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายและพิจารณาวินัยข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม จะต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมายโดยให้ความเป็นธรรมแก่ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม”เเหล่งข่าว วิเคราะห์สิ่งที่นายปรเมษฐ์ ระบุไว้

เเหล่งข่าวกล่าวว่า การดำเนินการของนายปรเมษฐ์ที่ผ่านมาโดยมีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมมาโดยตลอดแต่นายปรเมษฐ์คงมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ประธานศาลฎีกามีนโยบายว่าศาลเป็นที่พึ่งแรกของประชาชน แต่ก็ดีผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมไม่ได้รับความเป็นธรรมจะหาที่พึ่งจากที่ใด ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามไม่ให้ประชาชนหรือผู้พิพากษาใช้สิทธิทางศาลแล้ว  


เเหล่งข่าวกล่าวว่า   หากกต. พิจารณา ลงมติไม่ให้นายปรเมษฐ์ดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาอาวุโสแล้ว จะมีผลทำให้พ้นจากตำแหน่ง และเป็นการลงโทษทางวินัยล่วงหน้า นายปรเมษฐ์น่าจะต่อสู้ว่า เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย น่าจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนวินัย ยังสอบสวน ไม่แล้วเสร็จ เป็นแนวบรรทัดฐานและมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องของผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมและสถาบันศาลยุติธรรมในอนาคต เกิดความเสียหายยากจะเยียวยาได้ ในภายหลัง การกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เช่นนี้มีผลทำให้ผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิทางศาลฟ้องร้อง ทั้ง ทางแพ่งและทางอาญา ต่อไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมในฐานะประชาชนชาวไทยมีสิทธิได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญอย่างเสมอภาคเช่นเดียวกัน

 

“มองว่าดังนั้นการที่นายปรเมษฐ์ถูกร้องเรียนกล่าวหาโดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นดำเนินการสอบสวนโดยไม่ชอบ และคณะกรรมการสอบสวนวินัยยังสอบสวนไม่เสร็จ ตามกฎหมายต้องแต่งตั้งดำรงตำแหน่งเป็น ผู้พิพากษาอาวุโส โดยต้องได้รับความเป็นธรรมเช่นเดียวกับผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมอื่น และกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมบางท่าน ถูกร้องเรียนกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายและผิดวินัย แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆอันเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ส่วนกรณีนายปรเมษฐ์รีบเร่งเร่งด่วน ด่วนสรุปดำเนินการอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่วัน นายปรเมษฐ์น่าจะต่อสู้ว่าการไม่ได้รับความเป็นธรรมเช่นนี้จะอธิบายต่อ ประชาชนและสังคมได้อย่างไร ว่าไม่มีการแพ็กมาจากบ้าน โดยไม่ได้พิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมาย ตามที่นายประสิทธิ์ รองประธานศาลฎีกาในฐานะ ประธานอนุ กต. เคยระบุตามที่เป็นข่าวไม่กี่วันมานี้”เเหล่งข่าว กล่าว

 

ด้านนายปรเมษฐ์ กล่าวว่า หวังจะได้รับความเป็นธรรม ในการพิจารณาจากกต.ในครั้งนี้ เพื่อเป็นแนวบรรทัดฐาน  มาตรฐาน ของผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม ในอนาคตต่อไป

 


 

logoline