ข่าว

Wilderness เราควรจะรักหรืออย่าไปยุ่งกับธรรมชาติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทความนี้ว่าด้วยเรื่องของการออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้ง ที่เขียนไว้เมื่อสามปีที่แล้ว ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่า ขอให้เปิดใจอ่าน แล้วคุณจะเข้าใจการใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติได้มากขึ้น

"Wilderness เราควรจะรักหรืออย่าไปยุ่งกับธรรมชาติ" 

เมื่อไหร่คือครั้งล่าสุดที่คุณและผมได้ยืนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติบริสุทธิ์ มองไปสุดสายตาแล้วไม่เห็นสิ่งรกตาและหูไม่ได้ยินเสียงรบกวนที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์?

เมื่อกว่า 50 ปีก่อน ในปี 1964 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายที่ไม่เหมือนที่ไหนในโลกออกมาฉบับหนึ่งชื่อว่า Wilderness Act เป็นกฎหมายที่น่าสนใจมากแต่น้อยคนจะเคยได้ยิน 

Wilderness Act เป็นการกำหนดพื้นที่ที่ต้องการคงสภาพธรรมชาติบริสุทธิ์ไว้ให้ปราศจากสิ่งที่มนุษย์เรียกว่าศิวิไลซ์  ปราศจากสิ่งถาวรที่มนุษย์สร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เห็นได้ด้วยตาหรือได้ยินด้วยหู เพื่อให้เป็นสถานที่ที่ผู้คนสามารถแสวงหาความสงบหรือวิถีชีวิตดั่งเดิมได้ โดยมนุษย์สามารถเข้าสู่พื้นที่ได้ในฐานะผู้มาเยี่ยมเยียน แต่ไม่สามารถอยู่ได้อย่างถาวร

 

 

Wilderness เราควรจะรักหรืออย่าไปยุ่งกับธรรมชาติ

 

 

นั่นหมายถึงว่าพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็น Wilderness จะปราศจากถนน ห้ามก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง ห้ามยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์กลไกไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนเข้าไป 

 

 

แต่ก็หมายความว่า Wilderness ไม่ได้เป็นเขตหวงห้าม เพราะเป้าหมายสำคัญของการจัดตั้งส่วนหนึ่งคือ เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าไปแสวงหาความสงบ เข้าสู่ธรรมชาติที่ไร้การปรุงแต่งหรือแม้กระทั่งเข้าไปใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมด้วยการตกปลาล่าสัตว์ก็ยังได้ แต่จะต้องเดินทางด้วยการเดินเข้าไป, พายเรือ, ขี่ม้า, สกี หรือวิธีอื่น ต้องกินอยู่อย่างง่าย ๆ ที่จะไม่รบกวนธรรมชาติ

Wilderness เราควรจะรักหรืออย่าไปยุ่งกับธรรมชาติ

พื้นที่ Wilderness แตกต่างจากอุทยานแห่งชาติที่มีการพัฒนาและจัดการเพื่อมุ่งเน้นให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและเป็นที่ให้ผู้คนสามารถเข้าถึงธรรมชาติได้ง่าย ๆ เพื่อให้คนส่วนมากได้เข้าถึงและเริ่มรักธรรมชาติ ส่วน Wilderness คือพื้นที่ที่ต้องการให้คงสภาพบริสุทธิ์ให้มากที่สุดเพื่อให้คนได้มีโอกาสพบเห็นและสัมผัสธรรมชาติที่ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงโดยมนุษย์ โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อให้คนเข้าใจธรรมชาติและรักธรรมชาติโดยแท้จริง

 

 

ความคิดเกี่ยวกับ Wilderness นี้เกิดขึ้นในอเมริกาโดยการผลักดันของ Aldo Leoplod พนักงานอุทยาน (ผู้กลายมาเป็นนักคิดนักเขียนที่มีชื่อเสียงในเรื่องแนวทางอนุรักษ์ธรรมชาติในเวลาต่อมา) ในปี 1924 โดยที่ Aldo เสนอแนวความคิดและโน้มน้าวให้ผู้บริหาร National Park Service ประกาศให้ Gila Wilderness ใน New Mexico เป็น Wilderness แห่งแรกของโลก

 

 

Wilderness เราควรจะรักหรืออย่าไปยุ่งกับธรรมชาติ

 

ในช่วงจังหวะที่การท่องเที่ยวในอุทยานเริ่มเป็นที่นิยมสุดขีด อุทยานหลาย ๆ แห่งขยายถนนปรับพื้นที่เร่งสร้างสิ่งต่าง ๆเพื่อรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยวจนหลายคนเริ่มกังวลว่าจะไม่มีที่ที่ยังคงเป็นธรรมชาติที่แท้จริงเหลืออยู่  นักนิยมธรรมชาติหลายคนนำแนวความคิดเรื่อง Wilderness ของ Aldo ขึ้นมาผลักดันให้เป็นโครงการณ์ระดับชาติ และคนที่จุดชนวนพลุอีกคนก็คือ Sigurd Olson นักพายเรือ Canoe ที่ทำภาพยนต์สั้นส่งให้สภา Congress เพื่อเรียกรองให้กันพื้นที่ Wilderness ไว้เพื่อให้ผู้คนได้สัมผัสท่ามกลางความสงบปราศจากสิ่งรบกวนจากมนุษย์

 

 

พื้นที่ที่กำหนดเป็น Wilderness นั้นเป็นการกำหนดทับขีดเส้นขึ้นอีกชั้นหนึ่ง เช่นพื้นที่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติ อาจจะเป็นป่าสงวน หรือเขตอพยพของสัตว์ป่า เมื่อพื้นนี้นั้นถูกตั้งเป็น Wilderness แล้วจะอยู่เหนือการใช้พื้นที่เพื่อการพานิชใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้, ทำเหมือง หรืออื่น ๆ และหากจะเปลี่ยนสภาพของ Wilderness จะต้องผ่านสภา Congresss เท่านั้น

 

Wilderness เราควรจะรักหรืออย่าไปยุ่งกับธรรมชาติ

บทความเรื่อง Wildereness ใน National Geographic เดือนพฤศจิกายน ปี 1998 เขียนไว้ได้ยอดเยี่ยมให้มุมมองหลากหลาย น่าอ่านมากๆครับ

 

 

 

จากวันที่เริ่มใช้กฎหมายจนถึงวันนี้ รัฐบาลสหรัฐประกาศพื้นที่เป็น Wilderness ไปแล้วถึง 750 แห่ง มีตั้งแต่ ขนาดเล็ก ๆอย่าง Pelican Island Wilderness ใน Florida ที่มีขนาดเพียง 13 ไร่ ไปจนถึง Wrangell-St. Elias Wilderness ที่มีพื้นที่ 23 ล้านไร่ ใหญ่กว่าประเทศเบลเยี่ยม พื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็น Wilderness ทั้งหมดรวมกันคิดเป็น 5% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งใหญ่กว่ารัฐ California เสียอีก และมีคนเข้าไปใช้พื้นที่เพื่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติกว่า  2 ล้านคนต่อปี

 

 

Wilderness เราควรจะรักหรืออย่าไปยุ่งกับธรรมชาติ

การได้เข้าไปใช้ชีวิตใน Wilderness เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้คนเข้าใจและรักธรรมชาติอย่างจริงใจและจริงจัง

 

 

หลังจากประกาศใช้กฎหมายอนุรักษ์ในประเทศไทยมาได้เกือบ 60 ปี ดูเหมือนเราจะย่ำอยู่กับที่ บางมุมดูเหมือนถอยหลังด้วยซ้ำ ไม่เลย ผมไม่คิดว่าปัญหาอยู่ที่เจ้าหน้าที่ผู้ที่ทำงานกันแทบเป็นแทบตายเพื่อรักษาธรรมชาติไว้จากการแก่งแย่งของผู้คนรอบด้าน แต่ผมคิดว่า ปัญหาของเราคือการเข้าถึงที่จำกัดจนมีคนน้อยคนมากที่เข้าใจธรรมชาติอย่างที่มันเป็น และน้อยคนลงไปอีกที่รักธรรมชาติจริงจัง 

 John Muir นักอนุรักษ์ธรรมชาติคนสำคัญของอเมริกา เคยเขียนไว้ว่า

ไม่ว่าจะใช้คำบรรยายมากแค่ไหนก็ไม่สามารถให้ใครคนหนึ่งสามารถเข้าใจภูเขาเหล่านี้ได้   การได้ไปสัมผัสภูเขาจริง ๆสักวันหนึ่งนั้นดีกว่าการอ่านหนังสือเต็มคันรถ” 

(John Muir เป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติชาวอเมริกันที่ชักจูงให้ประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวล จัดตั้งอุทยานแห่งชาติ Yosemite และอีกหลาย ๆ แห่งได้สำเร็จ และออกกฎหมายอนุรักษ์ธรรมชาติที่เป็นพื้นฐานการอนุรักษ์ที่ประสบความสำเร็จของเมริกามาจนถึงวันนี้) 

ผมเชื่อว่าอ่านหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติหรือการอนุรักษ์สักร้อยเล่มก็ไม่สามารถทำให้คนเข้าใจหรือรักธรรมชาติได้เท่ากับการได้เข้าไปเดินในป่าจริง ๆ สักครั้ง เหมือนกับเราไม่สามารถจะตกหลุมรักใครสักคนที่เห็นแต่เพียงใน Facebook ได้จริง ๆ แม้จะกด Like เขาสักร้อยครั้งพันครั้ง

 

 

 

Wilderness เราควรจะรักหรืออย่าไปยุ่งกับธรรมชาติ

 

 

 

 

 

 

ความเข้าใจในธรรมชาติอย่างถูกต้องและลึกซึ้งของคนหมู่มากในสังคมนั้นมีผลอย่างมากไม่แพ้กฎหมายและการบังคับใช้ เพราะมันคือพื้นฐานของการตัดสินใจว่าเราควรปฎิบัติอย่างไรต่อธรรมชาติ อะไรควรเก็บรักษา อะไรควรใช้ประโยชน์ และใช้ประโยชน์อย่างไรจะเกิดประโยชน์สูงสุดโดยรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของสังคมปัจจุบันที่ความคิดเห็นใน Social Media มีส่วนชี้นำส่ิงต่าง ๆ โดยแทบไม่มีใครบอกได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด

การอนุรักษ์ในบ้านเรานับจากวันที่เริ่มต้นดูเหมือนจะมีการปรับเปลี่ยนไปในทางเดียวคือกันคนออกจากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ กั้นเขตห้ามเข้า ล้อมรั้วให้มากขึ้นทุกครั้งที่มีปัญหา กันพื้นที่ที่เข้าถึงได้ไว้เพียงลานกางเต็นท์, จุดชมวิว หรืออย่างดีก็เส้นทางศึกษาธรรมชาติสายสั้น ๆ 

ในขณะที่รัฐเร่งสร้างส่ิงอำนวยความสะดวกให้ผู้คนเข้าถึงอุทยานมากขึ้น ขยายถนน, ปรัปปรุงลานกางเต็นท์, สร้างจุดชมวิว แต่กลับห้ามไม่ให้ใครเดินเข้าไปในป่า 

 

 

Wilderness เราควรจะรักหรืออย่าไปยุ่งกับธรรมชาติ

แม้การได้เข้าไปกางเต็นท์พักแรมจะเป็นสิ่งดีที่ให้คนได้เริ่มรู้จักกับธรรมชาติ แต่มันยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นไม่ต่างจากตัวอย่างภาพยนต์ที่ชวนให้ดูต่อ แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เข้าใจเนื้อความทั้งหมด และก็ไม่เพียงพอที่จะเข้าใจเรื่องราวของภาพยนต์นั้นได้

 

 

"ทุกวันนี้ผู้คนในสังคมกำลังใช้ความรู้จากดูหนังตัวอย่างมาตัดสินความผิดถูกกัน"

หากทุกคนเข้าใจไปว่าธรรมชาติจริง ๆ นั้นเหมือนสิ่งที่เขาเห็นจากลานกางเต็นท์หรือจุดชมวิว ผู้คนในสังคมก็จะมองธรรมชาติเป็นสิ่งสวยงามเพียงที่ตาเห็น หลายคนอาจจะคิดว่าทำรีสอร์ตสวย ๆ ปลูกต้นไม้ตัดหญ้าเรียบก็เป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติไม่ต่างกัน บางคนอาจจะคิดว่าการตัดถนนเข้าไปจุดชมวิวเแล้วขับรถเข้าไปแออัดกันในป่าเป็นทางเลือกเดียวที่จะชื่นชมธรรมชาติและไม่ใช่เรื่องเสียหาย หลายคนก็คิดว่าป่าที่ดูเหมือนสวยจากระยะไกลนั่นก็ดีแล้วนี่อย่าไปยุ่งกับมัน แต่คงไม่มีใครเลยที่เข้าใจว่าธรรมชาติที่สมบูรณ์นั้นเป็นอย่างไร และนานไปแม้ปากจะบอกว่าสนับสนุนการอนุรักษ์ แต่ลึก ๆ ในใจของคนส่วนใหญ่ก็จะไม่มีคำตอบว่าจะอนุรักษ์ไปทำไมนอกเหนือจากคำที่ได้ฟังเขาบอกเล่ามา 

 

 

Wilderness เราควรจะรักหรืออย่าไปยุ่งกับธรรมชาติ

เมื่อไม่มีโอกาสได้ชื่นชมหรือ “ใช้” ธรรมชาติร่วมกัน ผู้คนในสังคมก็ขวนขวายที่จะจับจองเอาธรรมชาติในแบบที่เขาเข้าใจ มาเป็นของตนเอง เป็นที่มาของการบุกรุกป่า รุกทะเลสร้างบ้านตากอากาศและรีสอร์ตมากมายที่เราเห็นเป็นข่าวกันอยู่ตลอดเวลา และคนที่เหลือก็นั่งบ่นด่าโดยนั่งดูไม่ลงมือทำอะไร เราจึงมีเพียงเจ้าหน้าที่ไม่กี่คนที่ต้องต่อสู้กับผู้คนมากมายที่ต้องการหยิบฉวย “ความงาม”จากธรรมชาติมาครอบครอง

 

 

“Conservation is a state of harmony between men and land.” 

“การอนุรักษ์คือสถานะความประสานกลมกลืนกันระหว่างคนและแผ่นดิน”

Aldo Leopold

ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีตัวแทนที่จะเรียกร้องความต้องการของคนที่รักและนิยมการใช้ชีวิตในธรรมชาติ ปัญหาส่วนหนึ่งอาจจะมาจากที่เราขาดผู้นำทางความคิด ขาดองค์กรที่มองปัญหาในภาพรวมแล้วเรียกร้องและร่วมมือกับรัฐในระดับนโยบายเพื่อสร้างความเข้าใจธรรมชาติให้กับคนในสังคม ทุกวันนี้องค์กรอิสระ “เพื่อการอนุรักษ์” ส่วนใหญ่มีอยู่ ก็เพียงแต่เล่นเกมส์มวลชนปลุกระดมเพื่อต่อต้านโครงการณ์อะไรที่เกิดขึ้นมาเป็นครั้ง ๆ ไป แล้วจบด้วยการขอเชิญร่วมบริจาค ซึ่งก็มักจะได้ผล 

 

 

Wilderness เราควรจะรักหรืออย่าไปยุ่งกับธรรมชาติ

ป้ายนี้ติดอยู่ที่ข้างทาง National Park ในอเมริกา ชัดเจน โปร่งใส ไม่ต้องมาคอยเรี่ยรายเงินบริจาค

 


ผ่านมากว่า 60 ปีแล้ว ข้อกำหนดการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่เขียนไว้เดิมอาจจะต้องถึงเวลาปรับปรุงให้เหมาะสมกับปัญหาที่ต่างกันไปของยุคสมัย พื้นที่บางส่วนอาจจะต้องเก็บรักษาอย่างเดียว​ บางส่วนควรให้ผู้คนได้เข้าถึงแต่ต้องคงสภาพไว้ดั่ง Wilderenss และหลายส่วนอาจควรเอามาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ากว่าที่เป็นอยู่ น่าจะดีกว่าห้ามเข้าทั้งหมดแต่รักษาให้คงสภาพไม่ได้อย่างที่เป็นอยู่

 

 

Wilderness เราควรจะรักหรืออย่าไปยุ่งกับธรรมชาติ

ที่ทางเข้าพื้นที่ Wilderness จะมีป้ายบอกพื้นที่และข้อบังคับไว้ชัดเจน ทุกคนสามารถเข้าไปได้ แต่ถ้าจะค้างคืนจะต้องขอ permit ซึ่งจะมีจำนวนจำกัดเพื่อควบคุมจำนวนคนในพื้นที่ให้เหมาะสม

 

 

การลอกเอารูปแบบการจัดการ Wilderness จากอเมริกามาใช้ อาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับบ้านเรา แต่มันก็นับเป็นตัวอย่างและกรณีศึกษาที่เยี่ยมยอด และหลายอย่างก็ควรถูกนำมาประยุกต์ใช้

 

 

จากตัวอย่างที่เล่าเรื่อง Wilderness มาให้อ่านกัน ข้อกำหนดในการจัดการพื้นที่ Wilderness ในอเมริกานั้นถูกวิพากย์วิจารย์อยู่โดยตลอดและมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาทั้งก่อนและหลังกฎหมายฉบับนี้ออกมา การขัดแย้งมีมากมายตั้งแต่ว่าควรจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติหรือมีการจัดการบางส่วน (เช่นการควบคุมไฟป่า) , จำนวนคนที่อนุญาตให้เข้าพื้นที่, การประกาศพื้นที่เพิ่มหรือว่ามีพอแล้ว ฯลฯ แต่เป้าหมายที่สำคัญของมันไม่เคยเปลี่ยนไปจากวันแรกทั้งสองข้อ นั่นก็คือ  ข้อที่หนึ่ง กันพื้นที่ส่วนนี้ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติดั้งเดิมและปราศจากสิ่งปรุงแต่งจากมือมนุษย์ให้มากที่สุดเพื่อรักษาธรรมชาติที่สมบูรณ์ให้กับคนรุ่นหลัง และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือข้อสองที่ให้โอกาสผู้คนได้เข้าไปสัมผัสความงดงามอันพิสุทธ์ของธรรมชาติได้นี้ได้

“Thousands of tired, nerve-shaken, over civilized people are beginning to find out that going to the mountain is going home; that wilderness is a necessity….”

“ผู้คนมากมายที่เหน็ดเหนื่อย, ประสาทคลอน จากความศิวิไลซ์ที่ท่วมท้นเริ่มที่จะพบแล้วว่าการไปเยี่ยมเยียนขุนเขาคือการได้กลับบ้าน เริ่มเข้าใจกันแล้วว่า Wilderness เป็นสิ่งจำเป็น”

John Muir กล่าวไว้เมื่อกว่าหนึ่งร้อยปีก่อน ผมแน่ใจว่าเขาจะคิดอย่างไรเมื่อเห็นผู้คนติดมือถือติด Wifi กันอย่างทุกวันนี้

 

 

 

Wilderness เราควรจะรักหรืออย่าไปยุ่งกับธรรมชาติ

 

 

ถึงแม้ว่าพื้นที่ธรรมชาติบริษุทธิ์ที่ไม่เคยผ่านน้ำมือมนุษย์อาจจะหาได้ยากแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญที่ Wilderness ที่ถูกรักษาให้คงสภาพมากที่สุดจะสามารถให้กับผู้คนได้คือ “ประสบการณ์ การดำรงอยู่ในวิถีชีวิตของมนุษยชาติท่ามกลางธรรมชาติแบบดั้งเดิมในโลกยุคใหม่ที่จะเชื่อมต่อเราเข้ากับอดีต เปิดรับสิ่งที่เราไม่คาดคิด ฟื้นฟูร่างกายและวิญญาณ และที่สำคัญที่สุด ค้นพบวิถีง่าย ๆ ที่กำหนดความเป็นมนุษย์ที่เราสูญเสียไปจากการใช้ชีวิตในเมือง”

“In truth wilderness is a state of mind and heart. Very little exists now in actuality.”

“ในความเป็นจริง Wildeness เป็นสภาวะของความคิดและหัวใจ แม้ว่าสถานที่จะมีเหลืออยู่น้อยมากในโลกแห่งความเป็นจริง”

Ansel Adams ช่างภาพและนักอนุรักษ์ธรรมชาติคนสำคัญของอเมริกาอีกคนหนึ่งเคยกล่าวไว้

เมื่อไหร่คือครั้งล่าสุดที่คุณและผมได้ยืนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติบริสุทธิ์ ที่ปราศจากสิ่งรกตาและเสียงรบกวนที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์? ถ้าคุณยังไม่เคย ผมอยากแนะนำให้ลองสัมผัสครับ ความรู้สึกนั้นต้องพบกับตัวเองไม่สามารถบอกเล่าสู่กันได้

ขอบคุณบทความและภาพประกอบจากคุณงบ-ธัชรวี หาริกุล

ที่มาhttps://www.thailandoutdoor.com

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ