ข่าว

ทำความรู้จัก "เถียงนา" ที่ "หมอทวีศิลป์" ยกเป็นโมเดล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เถียงนา" สิงปลูกสร้างขนาดเล็กกำลังเป็นที่พูดถึงกัน หลังจาก โฆษก ศบต.ระบุว่าได้เกิด "เถียงนาโมเดล" รองรับผู้ที่เดินทางจากกรุงเทพ และปริมณฑลโดยปรับเป็นศูนย์พักคอย สำหรับคนป่วยที่ไม่มีอาการ เราจะมาทำความรู้จัก "เถียงนา"ว่าแท้จริงแล้วสร้างขึ้นเพื่ออะไรกันแน่

หลังจากที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19)  หรือ ศบค. กล่าวถึง รูปแบบของการกระจายเชื้อ โควิด-19  จากข้อมูล วันที่ 5 ก.ค. 2564  หลังจากที่แรงงานก่อสร้าง เดินทางกลับจากกรุงเทพฯและปริมณฑลฯ ทำให้เกิดคลัสเตอร์ติดเชื้อในครอบครัว แบ่งเป็น  ภาคเหนือ 6 คลัสเตอร์ ติดเชื้อ 21 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 คลัสเตอร์ ติดเชื้อ 16 คน โดยในภาคอีสาน ได้เกิด "เถียงนาโมเดล"  ใน อ.โนนคูณ จ.ศรีสะเกษ  พบว่า เป็นรูปแบบที่ดีในการดูแลผู้ป่วยโควิด19 โดยแยกตัวผู้ป่วยฯ ไปอยู่เถียงนาห่างจากหมู่บ้านพอสมควร  มีจุดส่งอาหารเป็นเวลา 

 

 ทำความรู้จัก "เถียงนา"  ที่ "หมอทวีศิลป์" ยกเป็นโมเดล

 

 

 

หลายคนอาจคุ้นเคยกับ "เถียงนา"  สิ่งปลูกสร้างขนาดเล็ก ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้อาศัยกันแดด กันฝนได้ชั่วคราว หรือใช้เป็นที่พักแรม เพื่อเฝ้านา ไร่ ในแต่ละท้องถิ่นก็จะชื่อเรียกที่ต่างกันไป เช่น ขนำ ห้างนา หรือแม้กระทั่ง กระท่อมปลายนา จากข้อมูลของเว็บไซต์ ประตูสู่อีสาน ระบุว่า คําว่า "เถียงนา" มีการอธิบายถึงความหมายอย่างกว้างๆ ว่า เป็นสถาปัตยกรรมที่ตั้งอยู่ในที่นาใช้งานในช่วงฤดูเพาะปลูกเป็นหลัก สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องการเดินทางไป-กลับ ระหว่างบ้านและที่นาที่ต้องใช้เวลานาน และใช้เป็นสถานที่เพื่อการพักผ่อนระหว่างวัน ซึ่งสถาปัตยกรรมลักษณะเช่นนี้คล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า "ห้างนา" ของภาคเหนือ "โรงนา" ของภาคกลาง และ "ขนํานา" ของภาคใต้

 

 ทำความรู้จัก "เถียงนา"  ที่ "หมอทวีศิลป์" ยกเป็นโมเดล

 

"เถียงนา" จะถูกสร้างในพื้นที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่า "ดอนหัวนา" ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง มักมีต้นไม้ขนาดใหญ่โดยรอบบริเวณเถียงนา และถ้าเป็นเถียงนาขนาดใหญ่กึ่งถาวร จะปลูกผักพืชสวนครัวไว้เป็นอาหาร และมีพื้นที่ที่ใช้เลี้ยงสัตว์ บางแห่งมีการขุดบ่อน้ำไว้สำหรับอาบ กิน หรือใช้เลี้ยงปลา ในช่วงฤดูทำนา เก็บเกี่ยว ไถหว่าน ชาวนาจะยกครอบครัว เครื่องใช้ต่างๆ รวมทั้งสัตว์เลี้ยงไปอยู่ที่เถียงนาเพื่อความสะดวกในการดูแล เหมือนเป็นบ้านหลังที่สอง และเมื่อสิ้นฤดูการทำนา เถียงนา มักจะถูกทิ้งร้าง ใช้เป็นเพียงที่พักพิงในช่วงเวลากลางวันตอนออกไปเลี้ยงวัว ควาย หรือหาของป่าตามหัวไร่ปลายนา 

 

 ทำความรู้จัก "เถียงนา"  ที่ "หมอทวีศิลป์" ยกเป็นโมเดล

 

 

 

 

สำหรับเรื่องความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับเถียงนา เชื่อว่าก่อนลงมือสร้างเถียงนาบางแห่งมีการทําพิธีบนบาน บอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง เพื่อขออนุญาตปลูกสร้างเถียงนา และบางพื้นที่ก็อาจมีการสมมติเหตุการณ์ เพื่อเป็นการถือเคล็ด โดยให้คน 2 คนออกไปในนา บริเวณตรงที่จะปลูกสร้างเถียง แล้วให้ทั้งสองคนถกเถียงกันอย่างรุนแรง ทำให้เกิดเสียงดังมากๆ หรืออาจจจะทำให้ถึงขั้นลงมือชกต่อยกัน เพื่อให้ดูสมจริงมากขึ้น จะได้เป็นการรบกวนไปถึงผีป่าหรือวิญญาณที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น เกิดความรำคาญหรือความกลัว จนต้องหลบหนีไปอยู่ที่อื่น ซึ่งเชื่อกันว่า จะทำให้พื้นที่ปลูกสร้างนั้นเกิดความสงบร่มเย็น ปราศจากภัยอันตรายต่างๆ จากนั้นจึงเริ่มลงมือปลูกสร้างเถียงนา

 

 

การสร้างเถียงนานี้ บางพื้นที่จะไม่สร้างเถียงนาหันไปทางทิศตะวันตก เพราะถือว่าเป็น "ทิศผีตาย"  นอกจากนี้ การเลือกที่ตั้งยังต้องสังเกตว่า เป็นที่อากาศปลอดโปร่ง สะดวกต่อการเดินทาง การลําเลียงผลผลิต และสามารถมองเห็นโดยรอบ เพื่อให้ง่ายในการดูแลนาข้าว ซึ่งการเลือกทําเลที่ตั้งนี้ ถือเป็นภูมิปัญญาที่มีการสืบทอดกันต่อมา

 


"เถียงนา" มีเอกลักษณ์ คือ เป็นเรือนมีหลังคา ด้านข้างเปิดโล่งคล้ายศาลา ไม่นิยมกั้นฝา เพื่อระบายอากาศเวลาพักผ่อน สามารถสอดส่องดูแลผลิตผลทั่วถึง บางแห่งอาจกั้นฝาในบางด้าน เพื่อป้องกันฝน ลม และแดด แต่จะไม่นิยมกั้นโดยรอบ และไม่นิยมทำรั้ว  ส่วนใหญ่มีเสา 4 ต้น หลังคา เป็นทรงจั่ว หรือเพิงระนาบ ยกสูงด้านด้านหนึ่งเพื่อระบายฝน วัสดุส่วนใหญ่เป็นหญ้าคา ใบไม้ หรือวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น  พื้น ส่วนใหญ่ทำจากไม้ ไม้ไผ่ หรือไม้กระดาน พื้นของเถียงนาจะยกสูงจากพื้นดิน บางหลังอาจต่อเติมพื้นเพื่อการใช้งานเพิ่มเติม  เถียงนาบางแห่งไม่มีพื้นกระดาน ใช้พื้นดินแทน มักเป็นเถียงนาที่น้ำท่วมไม่ถึง ใต้ถุน บางแห่งยกพื้นขึ้นสูง เพื่อใช้งานบริเวณด้านล่าง 

 

 ทำความรู้จัก "เถียงนา"  ที่ "หมอทวีศิลป์" ยกเป็นโมเดล

 

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเถียงนา มีลักษณะและขนาดที่ไม่แน่นอน แต่ปกติมักมีขนาดตั้งแต่ 2 x 2 เมตรขึ้นไป ความคงทนและความประณีตขึ้นอยู่กับที่ตั้งระหว่างเถียงนากับบ้านว่า มีความใกล้หรือไกลมากน้อยเท่าใด มีการระบุการแบ่งประเภทเถียงนาออกเป็น 2 ลักษณะคือ

- เถียงนาชั่วคราว เป็นเถียงนาที่สร้างอยู่ใกล้บ้าน เดินทางไป-กลับได้ภายในหนึ่งวัน
- เถียงนาค่อนข้างถาวร เป็นเถียงนาที่สร้างไกลจากบ้าน ไม่สะดวกในการเดินทางไป-กลับ โครงสร้างเถียงนามักมีขนาดเสา 6 ต้น สามารถทําห้องได้ 2 ห้อง มีการยกพื้นสามารถอาศัยนอนได้

 

 

ขอบคุณ  https://www.isangate.com/


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

"เถียงนาโมเดล" ไอเดียหมอทวีศิลป์ มีปลื้ม-มีค้าน
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ