ข่าว

กรมควบคุมโรค ประกาศเตือนประชาชน 6 โรค เฝ้าระวังช่วงหน้าร้อน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมควบคุมโรคออกประกาศเตือนประชาชนในการป้องกันโรคและภัยสุขภาพ ประกอบด้วย 6 โรค และ 3 ภัยสุขภาพ ที่ควรระมัดระวังการเจ็บป่วยในช่วงฤดูร้อน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเตือนประชาชนในการป้องกันโรคและภัยสุขภาพ ประกอบด้วย 6 โรค และ 3 ภัยสุขภาพ ที่ควรระมัดระวังการเจ็บป่วยในช่วง ฤดูร้อน เพื่อให้ประชาชนดูแลสุขภาพอนามัยอย่างถูกต้อง
 

วันนี้ (18 มีนาคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว ทำให้สภาพอากาศในหลายพื้นที่ร้อนอบอ้าว ซึ่งประชาชนอาจเจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆ จากภาวะอากาศร้อนได้ หากดูแลรักษาสุขภาพไม่ถูกต้อง กรมควบคุมโรค จึงออกประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2564 เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุดูแลสุขภาพอนามัยของตนเองได้อย่างถูกต้อง โดยโรคและภัยสุขภาพที่มีแนวโน้มจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในฤดูร้อน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 1.โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ (โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด โรคไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย โรคไวรัสตับอักเสบ เอ และโรคอหิวาตกโรค) 2.ภัยสุขภาพ (การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน ผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาหมอกควัน การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจมน้ำ)
กลุ่มที่ 1 โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ แบ่งเป็น 6 โรค ได้แก่

1. โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ผู้ป่วยจะถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ อาจอาเจียนหรือมีภาวะขาดน้ำร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักหายได้เอง แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรงและถึงขั้นเสียชีวิตได้

2. โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีสิ่งปนเปื้อนสารพิษหรือสารเคมี ซึ่งมักพบในพืชและสัตว์ เช่น เห็ด และอาหารทะเลต่างๆ อาการป่วยจะขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของสารพิษที่ได้รับ ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยจะหายได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจอาเจียนและท้องเสียจนร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรงได้

3. โรคบิด เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อโปรโตซัวในระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยจะมีไข้ร่วมกับถ่ายเหลว อุจจาระมีมูกหรือมูกปนเลือด มีอาการเหมือนถ่ายไม่สุด ปวดเบ่ง คลื่นไส้ อาเจียน เด็กอาจมีอาการชักร่วมด้วย ผู้ที่มีเชื้อจะสามารถเป็นพาหะและแพร่เชื้อได้ตลอดเวลาที่มีอาการ เพราะจะมีเชื้อออกมากับอุจจาระทุกครั้งที่ถ่าย และเชื้อจะค่อยๆ หมดไปหลังจาก 2-3 สัปดาห์

4. ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย เกิดจากการได้รับเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับอุจจาระหรือปัสสาวะของผู้ป่วย หากมีสุขอนามัยไม่ดีก็จะนำไปสู่การปนเปื้อนในน้ำหรืออาหารต่างๆ ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงลอยมากกว่า 1 สัปดาห์ และมีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องอืดหรือท้องผูก บางรายอาจถ่ายเหลวหรือมีผื่นขึ้นตามหน้าอกหรือลำตัว

5. โรคไวรัสตับอักเสบ เอ เกิดจากการติดต่อกันผ่านการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ หรืออาหารไม่ผ่านการล้างทำความสะอาด

6. โรคอหิวาตกโรค ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีเชื้ออหิวาตกโรคปะปนอยู่ ส่วนใหญ่มีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ คลื่นไส้อาเจียน บางรายมีภาวะขาดน้ำรุนแรงและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

กรมควบคุมโรคเตือน 6 โรค ช่วงหน้าร้อน

ขอบคุณ : กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ