ข่าว

ราคาหมูไม่คุ้มทุน...ถึงเวลาปลดปล่อยเกษตรกร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรฯ ห่วงใยเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู แนะรัฐปลดเพดานราคา เหตุต้นทุนพุ่งใกล้ราคาขาย จากมาตรการป้องกันโรค ASF ที่ระบาดไปทั่วโลก ควรปล่อยราคาหมูให้ปรับตัวตาม 'กลไกตลาด' ก่อนทำให้รายย่อยนับแสนรายต้องเลิกเลี้ยง

ปัญหาหมู ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจนเรียกว่าแพง เมื่อเทียบกับกระเป๋าสตางค์ของผู้บริโภค จนกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ต้องกำหนดราคาหมูชีวิตหน้าฟาร์มไม่เกิน 80 บาท/กก. ราคาขายส่งเนื้อแดงห้างค้าปลีก 128 บาท/กก. และราคาขายปลีกเนื้อแดงไม่เกิน 160 บาท/กก. ราคานี้เท่ากับราคาเพดานช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2563 แต่ต้นทุนตอนนี้ไม่เท่าเดิม 

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์คงต้องบอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงใดๆ ที่เป็นการบิดเบือนราคาตลาดเพราะก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ อาจจะดูเหมือนคนเลือดเย็นที่จะบอกว่า ภาครัฐควรปล่อยให้ มือที่มองไม่เห็น (Invisible hand) หรือ กลไกตลาดทำงานอย่างเสรีแม้ดูเหมือนจะไม่ได้ทำอะไร แต่การไม่ทำอะไรนี่แหละดีแล้ว ปล่อยให้กลไกลตลาดของหมูปรับตัวไปตามธรรมชาติระหว่างปริมาณความต้องการ อาจต้องใช้เวลาสักนิด แต่จะไม่มีใครต้องมารับผลของการควบคุมราคาหน้าฟาร์มไว้ที่ 80 บาท

สาเหตุหลักของการกำหนดราคาเพดานคือ เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคในยุคโควิด กรมการค้าภายในจึงขอความร่วมมือสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติควบคุมราคาไว้ไม่ให้เกินนี้ ขณะที่ข้อมูลต้นทุนการผลิตจากคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดเล็กของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) พบว่า ต้นทุนการผลิตสุกรขุนไตรมาสที่ 1/2564 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 77.49 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4/2563 ที่ 75.16 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถ้าราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะกากถั่วเหลืองยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากมีภาวะภัยแล้งในช่วงเดือนมีนาคม-เดือนเมษายน ต้นทุนการผลิตสุกรขุนอาจขยับเพิ่มเป็น 78 - 80 บาท/กก.

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีต้นทุนป้องกันโรค PRRS และโรคอหิวาต์แอฟริกา(ASF) ที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 300 บาท/ตัว ทั้ง 2 โรคน่ากลัวพอกันเพราะจะทำให้หมูเสียหายหรือตายจำนวนมากหากป้องกันไม่ดี  PRRS มีอยู่เดิมและ ASF ก็จ้องจู่โจม ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคนี้ได้ แถมผลการทดลองใช้วัคซีน ASF ในประเทศจีนก็ไม่เป็นดังหวัง

โรคนี้ยังคงเป็นหอกข้างแคร่ทิ่มแทงอุตสาหกรรมหมูเอเชียต่อไป ต่างจากวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ตอนนี้ว่าจะใช้ของใคร วัคซีนโควิดมีแล้ว อยู่ที่ว่าจะฉีดได้เมื่อไร จะฉีดของใคร แต่ของวัคซีน AFS หมูมันยังไม่มี !!!

เมื่อยังไม่มีก็ต้องป้องกัน และค่าป้องกันตามระบบป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม GFM) รวมถึงการจัดการน้ำเสียก่อนปล่อยออกนอกฟาร์มไม่ถูกทุกอย่างคือต้นทุนที่ผู้ประกอบการฟาร์มหมูต้องแบกรับ ทางภาครัฐก็ตรวจและปรับอย่างเดียว ไม่มีมาตรการช่วยเหลือหรืออุดหนุนใด ๆ ดังเช่นประเทศอื่น

หากไปย้อนดูราคาขายหมูหน้าฟาร์มตามประกาศสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาราคาหน้าฟาร์มอยู่ในช่วง 68-80 บาทขึ้นอยู่กับพื้นที่ (ตารางที่ 1) จะเห็นว่า ราคาในภาคตะวันตกและภาคใต้จะถูกสุด เนื่องจากปริมาณหมูที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการในพื้นที่ ขณะที่ภาคเหนือมีราคาแพงสุด เนื่องจากปริมาณหมูที่ผลิตได้น้อยกว่าความต้องการ และราคาขายที่แนะนำจากสมาคมจะอั้นไว้ที่ 80 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ขอความร่วมมือ แต่การซื้อขายจริงในพื้นที่บางจุดโดยเฉพาะภาคเหนือทะลุเพดานไปเรียบร้อย เพราะหมูเสียหายจากโรคไปพอสมควร ยังไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้พอกับความต้องการได้ นี่คือตัวอย่างของการทำงานตามกลไกตลาดอย่างเสรี

ราคาหมูไม่คุ้มทุน...ถึงเวลาปลดปล่อยเกษตรกร

หากย้อนกลับไปช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า ทุกครั้งที่ผู้เลี้ยงสุกรหรือผู้ประกอบการหมูประสบภาวะขาดทุนสาเหตุหลักมาจากราคาขายหน้าฟาร์มต่ำกว่าต้นทุนเนื่องจากปริมาณหมูล้นตลาด เช่นปี พ.ศ. 2543-2546 2550 2555 และ 2560-2561(ภาพที่ 1) ใครสายป่านไม่ยาวพอ บริหารจัดการไม่ดีก็ต้องเลิกกิจการ คงเหลือแต่มืออาชีพมาจนถึงวันนี้ และเมื่อผู้อ่อนแอแพ้พ่ายปริมาณหมูที่ล้นตลาดจะค่อยๆ ปรับตัวลดลง ราคาขายหน้าฟาร์มจะขยับปรับตัวสูงขึ้น เป็นวัฏจักรเช่นนี้เสมอมาและนี่คือตัวอย่างของการปล่อยให้กลไกตลาดทำงานโดยที่รัฐต้องไม่ใช้งบประมาณใด ๆ ในการช่วยเหลือเยียวยาอย่างจริงจังดังเช่นสินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ

ราคาหมูไม่คุ้มทุน...ถึงเวลาปลดปล่อยเกษตรกร

ขณะที่ประเทศจีนขาดแคลนหมู ส่งผลให้คนจีนบริโภคเนื้อหมูในราคา กก.ละ 300 กว่าบาท  แต่ผู้บริโภคชาวไทยได้กินหมูคุณภาพดีในราคาเพียง กก.ละ 160 บาท ถูกที่สุดในโลก จากการกำหนดราคาเพดานหน้าฟาร์มไว้ที่ 80 บาท บนความสามารถป้องกันโรคของเกษตรกรไทย นี่คือน้ำใจที่ “เกษตรกร” ช่วยบรรเทาความเดือนร้อนของผู้บริโภค แต่มันกลายเป็น “กำแพง” ที่กำลังกดทับและทำลายชาวหมูรายย่อยเกือบ 2 แสนรายให้ออกจากอุตสาหกรรมนี้ทางอ้อม ซึ่งสุดท้ายแล้วจะไม่เกิดผลดีกับใครเลย

ถึงเวลาแล้วที่กระทรวงพาณิชย์ต้องปลดแอกคนเลี้ยงหมูทบทวนทุกอย่างให้สอดคล้องกับต้นทุนอย่างรอบด้านตามสถานการณ์จริง...และปล่อยให้“กลไกตลาด” ทำงานซึ่งจะเกิดสมดุลต่อทุกฝ่าย และเกิดผลกระทบเชิงลบน้อยที่สุดต่อทุกภาคส่วนจริงๆ.

โดย...

สุวรรณา สายรวมญาติ

ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัยพากร

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ