ข่าว

เครือข่ายแรงงานฯยื่นจม.ถึงนายกฯให้เยียวยาแรงงานถ้วนหน้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน รวมตัวยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ให้เยียวยาแรงงานถ้วนหน้า ไม่ทิ้งใครไว้ครั้งหลัง ระบุแรงงานทุกภาคส่วนต้องได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน หากไม่พอให้นำงบกองทัพ-สถาบัน มาใช้

วันนี้เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน รวมตัวทำกิจกรรมริมรั้วทำเนียบรัฐบาล โดยแสดงสัญลักษณ์ ด้วยการชูป้ายข้อความ ทวงถามความคืบหน้า ภายหลังยื่นจดหมายเปิดผนึก ถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องเยียวยาแรงงานถ้วนหน้า ไม่ทิ้งใครไว้ครั้งหลัง

 

จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ที่เห็นชอบโครงการเราชนะเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น จะจ่ายเงินเยียวยาจำนวน 3,500 บาทเป็นเวลาสองเดือนรวม 7,000 บาทต่อคน โดยเน้นอาชีพอิสระ เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อยคล้ายกับโครงการเราไม่ทิ้งกัน แต่กลับไม่ให้เป็นเงินสดและจะโอนผ่านแอพพลิเคชั่นสัปดาห์ละครั้งจนจบ สิ่งนี้ทำให้พวกตนในฐานะเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน คับข้องใจอย่างยิ่ง

 

โดยเฉพาะคำแถลงของนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่กล่าวว่า ไม่อยากให้ประชาชนสัมผัสตัวเงินเพราะโควิด-19 เข้ามาปะปนได้ เงินเหล่านั้นจะหายไปกับสิ่งที่ควบคุมได้ยาก เช่นสุรา การพนัน ห้างร้านขนาดใหญ่และการจ่ายเงินสัปดาห์ละ 1,000 บาท เพื่อให้ประชาชนได้วางแผนการใช้เงินที่จำเป็นต่อชีวิต

 

ทั้งนี้จะเห็นว่าวิธีคิดของรัฐบาลเหมือนอยู่โลกคนละใบกับผู้ใช้แรงงานที่ต้องนำเงินไปใช้จ่ายตามความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละคนอยู่แล้ว เช่นจ่ายค่าเช่าบ้าน ใช้หนี้ และต้องการควบคุมอำนาจการตัดสินใจของประชาชนซึ่งมีลักษณะเผด็จการ ไม่สนใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำกำหนดนโยบาย ดังเห็นได้จากมาตรการเยียวยารอบที่สองของรัฐบาลที่ยังคงทิ้งคนกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง คือแรงงานในระบบประกันสังคม ม.33 จำนวนกว่า 11 ล้านคน

เครือข่ายแรงงานฯยื่นจม.ถึงนายกฯให้เยียวยาแรงงานถ้วนหน้า

 

ดังนั้นรัฐบาลต้องเยียวยาแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ซึ่งเป็นลูกจ้างในธุรกิจหน่วยงานทุกภาคส่วนรวมถึงแรงงานข้ามชาติที่เข้าระบบประกันสังคมราว 1.5 ล้านคน และนายจ้างร่วมสมทบเงินประกันสังคม เพราะพวกเขาเหล่านี้กำลังประเชิญปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่การระบาดรอบแรก เช่นเดียวกับแรงงานนอกระบบ การผลักให้พวกเขาเหล่านี้ไปใช้เงินกองทุน ซึ่งเป็นเงินของลูกจ้างตามประกาศของกระทรวงแรงงาน ทำให้ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะตกงานและถูกละเมิดสิทธิ์

 

กระทรวงแรงงานไม่สามารถตรวจสอบบริษัทและโรงงานที่ปิดกิจการชั่วคราวที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดโดยตรง จึงพบเห็นว่ามีหลายบริษัทโครงสร้างลดต้นทุนโยนภาระให้ลูกจ้างไปใช้เงินทดแทนว่างานซึ่งควรจ่าย 75% ตามกฏหมายแรงงาน และรัฐบาลควรทดแทนรายได้ให้ครบ 100% แต่กลับไม่ทำไม่ว่าในกรณีใด ทำให้ลูกจ้างสูญเสียรายได้และสวัสดิการหลายกรณีถูกลดวันทำงาน ลดโอที ลดค่าจ้าง ลาไม่ได้รับเงินเดือน หลายรายถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ถูกเบี้ยวค่าจ้างค่าชดเชย ต้องเป็นภาระไปฟ้องศาลสุดท้ายลูกจ้างเป็นหนี้มากขึ้นแทนที่รัฐบาลจะแบกหนี้เหล่านี้

 

อย่างไรก็ตามกลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ต้องการให้รัฐบาลใช้หลักคิดถ้วนหน้าเท่าเทียม ไม่กำหนดเงื่อนไขยุ่งยาก ไม่ต้องลงทะเบียน ผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบจากคำสั่งใหม่ๆ ขอรัฐบาลกับการใช้อำนาจในทางที่ผิดของเจ้าหน้าที่ แรงงานทุกภาคส่วนต้องการได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน หากงบประมาณไม่เพียงพอต้องพิจารณานำงบกองทัพและงบสถาบันที่ใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย และเพิ่มฐานภาษีความมั่งคั่งจากมหาเศรษฐี 1% ของประเทศเพื่อนำมาสร้างสวัสดิการถ้วนหน้าให้แก่ประชาชน 99% ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกกาลเทศะมากกว่าหาเรื่องปวดหัวรายวันให้แก่ประชาชน

เครือข่ายแรงงานฯยื่นจม.ถึงนายกฯให้เยียวยาแรงงานถ้วนหน้า

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ