ข่าว

หวั่นสูญพันธุ์ ผู้ว่าฯกำแพงเพชรชงงบ 50 ล้าน ผลักดันเพิ่มพื้นที่ปลูกกล้วยไข่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้ว่าฯกำแพงเพชร ชงงบ 50 ล้าน ผลักดันเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกกล้วยไข่ ผลไม้เศรษฐกิจสัญลักษณ์ประจำจังหวัด หลังพบจำนวนสวนกล้วยไข่เหลือน้อยลง หวั่นจะสูญพันธุ์

 

วันที่ 9 ก.ย. 2563 นายเชาวลิตร แสงอุทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมด้วย นายสุวรรณ ศุภกิจเจริญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้ว ลงพื้นที่สวนกล้วยไข่ของนายช่วงชัย พุ่มใย อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 87 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เกษตรกรชาวสวนกล้วยไข่ ที่เริ่มพัฒนากล้วยไข่ ผลไม้ประจำถิ่นให้เป็นกล้วยไข่เตี้ย ลำต้นใหญ่แข็งแรง แก้ปัญหาการเสียหายจากพายุ โดยการทดลองใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของต้นกล้วยไข่ เพื่อลดความสูงของต้นกล้วย

 

นายเชาวลิตร ผู้ว่าฯกำแพงเพชร กล่าวว่า จังหวัดกำแพงเพชร เป็นเมืองเกษตรกรรมโดยมีกล้วยไข่ เป็นผลไม้เอกลักษณ์ประจำถิ่น และจะให้ผลผลิตในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งจะตรงกับช่วงวันสารทไทย (แรม 15 ค่ำ เดือน 10) ชาวบ้านจึงนิยมนำกล้วยไข่สุกและกระยาสารท ไปถวายพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ เป็นประเพณีสืบทอดต่อๆกันมา

 

ปัจจุบันพื้นที่ปลูกกล้วยไข่ทั้งจังหวัดกำแพงเพชรมีทั้งหมด 2,898 ไร่ มีพื้นที่ปลูกมากที่อำเภอเมืองกำแพงเพชร 966 ไร่ รองลงมาคือ คลองขลุง พรานกระต่าย คลองลาน โกสัมพีนคร บึงสามัคคี ปางศิลาทอง ขาณุวรลักษบุรี ลานกระบือ และทรายทองวัฒนา ตามลำดับ ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 2,000 กก.ต่อไร่ ผลผลิตรวม 5-6 พันตัน ราคากิโลกรัมละ 10 บาท สร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นมูลค่าทั้งหมด 50-60 ล้านบาทต่อปี

 

 

ในส่วนของพื้นที่การปลูกกล้วยไข่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการประสบปัญหาภัยแล้ง และลมพัดต้นกล้วยไข่หักเสียหาย ต้นกล้วยไข่ให้ผลผลิตปีละครั้ง หากเสียหายจะทำให้เกษตรกรขาดทุน และหันไปปลูกพืชอื่นทดแทน ทางจังหวัดกำแพงเพชรจึงต้องได้มีการรณรงค์ในการปลูกกล้วยไข่ โดยการของบประมาณฟื้นฟู 50 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติ หากได้งบประมาณจะนำมาซื้อพันธุ์หน่อกล้วยไข่ ประมาณ 2 ล้านหน่อ จะเพิ่มพื้นที่การปลูกกล้วยไข่ได้ประมาณ 6,000 ไร่

 

สำหรับประวัติความเป็นมาของงานประเพณีสารทไทยกล้วยไข่ และของดีเมืองกำแพง นั้น จังหวัดกำแพงเพชร เป็นจังหวัดที่นิยมปลูกกล้วยไข่กันมาก จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้เข้าจังหวัดแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ทำให้กล้วยไข่ที่ชาวสวนทั่วไปมองเป็นผลไม้พื้นๆ กลายเป็นของมีราคาขึ้นมาทันที และทำให้กำแพงเพชรเป็นเมืองที่มีฉายาว่า "เมืองกล้วยไข่" โด่งดังไปทั่วประเทศ

 

ดังนั้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานประเพณีการทำบุญวันสารทไทย และวัฒนธรรมอันดีงามของชาวจังหวัดกำแพงเพชร ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนซึ่งในปีนี้จังหวัดกำแพงเพชร ได้กำหนดจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 17-26 ก.ย. 2563 ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองกำแพงเพชร เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพการปลูกกล้วยไข่ให้คงเอกลักษณ์เป็นผลไม้ประจำถิ่น , ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวทุกมิติของจังหวัดกำแพงเพชรอีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ เกษตรกร รวมทั้งผู้ประกอบการของจังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดใกล้เคียง

 

 

ด้าน นายสุวรรณ ศุภกิจเจริญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้ว เปิดเผยว่า เดิมสมัยโบราณตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 พื้นที่ตำบลสระแก้วมีการปลูกกล้วยไข่เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาปี พ.ศ. 2511 มีโรงงานน้ำตาลเกิดขึ้น เกษตรกรหันไปปลูกอ้อยในส่วนหนึ่ง และประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ภัยแล้ง วาตภัย จึงเป็นสาเหตุทำให้พื้นที่เพาะปลูกน้อยลง จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะอนุรักษ์สืบสานปลูกกล้วยไข่ต่อไป เพราะกล้วยไข่จังหวัดกำแพงเพชรเป็นกล้วยไข่ที่อร่อยที่สุด โดยเฉพาะกล้วยไข่ที่ปลูกในพื้นที่อำเภอเมืองกำแพงเพชร สภาพดินมีความเหมาะสมกับพืช

 

ทางด้านตลาดมอกล้วยไข่ ตำบลอ่างทอง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ที่ไม่เคยเงียบเหงา แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดหรือปิดกิจการไป มาวันนี้กลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ

 

ด้าน นางสาหร่าย จันทร์แก้ว อายุ 60 ปี แม่ค้าตลาดมอกล้วยไข่ เปิดเผยว่า หลังจากที่นักท่องเที่ยวได้เดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนทางภาคเหนือ ในช่วงเทศกาลซึ่งมีวันหยุดยาวหลายวัน และ ขณะนี้เริ่มทยอยพากันเดินทางกลับเพื่อทำงานตามปกติ มีรถนักท่องเที่ยวจอดแวะหาซื้อของฝาก ทำให้ตลาดมอกล้วยไข่ กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง

 

ส่วนของฝากที่ขายดีในตลาดมอกล้วยไข่เป็นจำพวกกล้วยฉาบ เผือกฉาบ กล้วยไข่ หน่อกล้วยไข่ พวงกุญแจกล้วยไข่ และสินค้าพื้นเมืองอื่นๆ จึงทำให้ช่วงนี้ที่ตลาดมอกล้วยไข่เมืองกำแพงเพชรคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวที่แวะซื้อของฝากก่อนเดินทางกลับบ้าน

 


โดย พิพัฒน์ จงมีความสุข จ.กำแพงเพชร

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ