ข่าว

รมช.มนัญญา ร่วมพิธีเปิดโครงการนำร่องทดลองใช้ยางพาราเป็นอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รมช.มนัญญา ร่วมพิธีเปิดโครงการนำร่องทดลองใช้ยางพาราเป็นอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนนหลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จับมือคมนาคม หนุนสถาบันเกษตรกรผลิตเสาหลักนำทางและแผ่นหุ้มแบริเออร์จากยางพาราธรรมชาติ

นางสาวมนัญญา  ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายพิเชษฐ์  วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Kick Off) โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ณ บริเวณทางหลวงหมายเลข 3249 ตอนเขาไร่ยา - แพร่งขาหยั่ง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี  ซึ่งมีเกษตรกรชาวสวนยางพาราจากภาคตะวันออกมาร่วมงานดังกล่าวกว่า 2,000 คน โดยภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตเสาหลักนำทาง และกระบวนการผลิตแผ่นหุ้มแบริเออร์ เป็นอุปกรณ์ด้านการจราจรที่พร้อมสำหรับนำไปติดตั้งบนถนนเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนภายใต้แนวคิด “ยางพาราไทย เพิ่มความปลอดภัยในทุกเส้นทาง” โดยมีการถ่ายทอดสด Live ผ่านโปรแกรม Zoom กับชาวสวนยางในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศด้วย
 กิจกรรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายส่งเสริมการใช้ยางพาราในภาครัฐโดยความร่วมมือของกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางมีศักยภาพในการผลิตเสาหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) และผลิตแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตยางพารา ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้มีการศึกษา วิจัย การนำยางพารามาใช้ในงานก่อสร้าง และอุปกรณ์ทางจราจร เพื่ออำนวยความปลอดภัยทางถนนได้เป็นผลสำเร็จ และได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยรายละเอียดในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่กำกับคุณภาพในการผลิตอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพาราและสนับสนุนเครื่องมือและวัตถุดิบในการผลิตหลักนำทางและที่ครอบแบริเออร์ให้เป็นไปตามรูปแบบมาตรฐานและราคาตามที่กระทรวงคมนาคมกำหนด 
 

                      รมช.มนัญญา ร่วมพิธีเปิดโครงการนำร่องทดลองใช้ยางพาราเป็นอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนน

ปัจจุบันมีสหกรณ์ที่มีสมาชิกเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 807 แห่ง สมาชิก 223,155 ราย สมาชิกในครอบครัว จำนวน 900,224 ราย พื้นที่ปลูกยางพาราของสมาชิกสหกรณ์  3,462,646 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 820,647 ตัน/ปี ขณะที่สหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจยางพารา ทั้งรวบรวมน้ำยางสด ยางก้อนถ้วน แปรรูปยางแผ่นรมควัน ยางเครป ยางแท่งและผลิตภัณฑ์จากยางพาราอื่นๆ  มีจำนวน 661 แห่ง ปริมาณรวม 475,258 ตัน/ปี มูลค่ากว่า 16,998 ล้านบาท  

                         รมช.มนัญญา ร่วมพิธีเปิดโครงการนำร่องทดลองใช้ยางพาราเป็นอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนน

 ขณะนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) และแผ่นยางธรรมชาติ  ครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) สำหรับนำไปใช้ประโยชน์เป็นอุปกรณ์ทางด้านการจราจร              เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางถนน ให้กับผู้แทนของสถาบันเกษตรกรที่มีความพร้อม จัดครั้งที่ 1 ไปแล้วเมื่อวันที่ 9 – 10 กรกฎาคม 2563 ที่จังหวัดสตูล มีสถาบันเกษตรกร 13 แห่ง ในพื้นที่ 11 จังหวัด ทั้งจากจังหวัดตรัง ยะลา นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ พัทลุง บึงกาฬ ลำปาง อุทัยธานี และระยอง ที่เข้าร่วมโครงการผู้ผลิตแผ่นยางธรรมชาติ                  ครอบกำแพงคอนกรีต เข้ารับการอบรม และครั้งที่ 2 จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16 - 17 กรกฎาคม 2563 ที่จังหวัดจันทบุรี              มีสถาบันเกษตรกร 10 แห่ง ในพื้นที่ 9 จังหวัด ทั้งจากจังหวัดพัทลุง ยะลา ตรัง สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ บุรีรัมย์ ลำปาง เลย และอุทัยธานี ที่เข้าร่วมโครงการผลิตเสาหลักนำทางจากยางธรรมชาติ
  ทั้งนี้ สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน ที่มีศักยภาพในการผลิตแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (RFB) มีจำนวน 18 แห่ง กำลังการผลิต 1,200 กิโลเมตร/ปี และมีสหกรณ์ที่พร้อมผลิตเสาหลักนำทาง (RGP) จำนวน 13 แห่ง  กำลังการผลิต 832,800 ตัน/ปี ซึ่งโครงการส่งเสริมการผลิตเสาหลักนำทางจากยางธรรมชาติและผลิตยางแผ่นธรรมชาติครอบแบริเออร์ จะช่วยให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน มีศักยภาพในการแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางพารา จำนวน 31 แห่ง สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพาราได้ 5,384.09 ล้านบาท จากการคาดการณ์ในระยะที่ 1 นี้ จะสามารถรวบรวมน้ำยางสดจากเกษตรกรได้ 34,481 ตัน

 และเมื่อคิดตลอดโครงการฯถึงปีงบประมาณ 2565 จะรวบรวมน้ำยางสดจากเกษตรกร เพื่อใช้ในการผลิตได้ 1.007 ล้านตัน เกิดการจ้างงานในชุมชน และช่วยกระดับราคายางพาราได้ไม่น้อยกว่า 30 บาท/กิโลกรัม คิดเป็นเงินที่เกษตรกรจะได้รับ 30,018 ล้านบาท เป็นการสร้างกลไกตลาดที่ช่วยยกระดับและสร้างเสถียรภาพ ราคายางพารา และสร้างความเชื่อมั่นในอาชีพแก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราอีกด้วย ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว นอกจากจะลดความสูญเสีย ช่วยสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินบนท้องถนนที่ไม่อาจประเมินค่าได้แล้ว ยังเป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศให้มีมั่นคงต่อไป

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ