ข่าว

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ค้านคำร้องลบชื่อ "อานนท์"ออกจากทะเบียนทนายความ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่น 266 รายชื่อ ค้านคำร้องลบชื่อ "อานนท์"ออกจากทะเบียนทนายความ

จากกรณีเมื่อวันที่ 7 ส.ค .63 นายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะทนายความประจำสำนักกฎหมาย อ.อัมพร ณ ตะกั่วทุ่ง เข้ายื่นเรื่องขอให้สภาทนายความฯลบชื่อ นายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ และทนายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกจากทะเบียนทนายความ เนื่องจากมีพฤติกรรมเข้าข่ายละเมิดข้อบังคับสภาทนายความฯ จากการปราศรัยที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 3 ส.ค.63 มีเนื้อหายุยง ปลุกปั่น บิดเบือน และล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์

ขณะที่วันนี้ (21 สิงหาคม 2563)  นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และตัวแทนนักกฎหมาย ทนายความที่ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึก ได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกพร้อมรายนามของทนายความ นักกฎหมาย 266 นาม ขอให้สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ยกคำร้องของนายอภิวัฒน์ ขันทอง กรณียื่นหนังสือให้สภาทนายฯ ถอนชื่อนายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนออกจากทะเบียนทนายความ

โดยนายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบหมายให้ ดร.กิตติมา สิริศุภชัย กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย/ปฏิคมเป็นตัวแทนออกมารับเรื่องแทน ในการนี้ คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ให้เหตุผลต่อสภาทนายความฯ เพื่อพิจารณายกคำร้องของนายอภิวัฒน์ ขันทอง ดังนี้

1. การลบชื่อทนายความออกจากทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 52 (3) นั้น ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 51 วรรคสอง ซึ่งต้องปรากฏว่าทนายความฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับที่สภาทนายความตราขึ้น แต่เมื่อพิจารณาข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ทั้งฉบับ ก็ไม่ปรากฏว่าเหตุผลตามที่นายอภิวัฒน์ ขันทอง กล่าวอ้างนั้น อยู่ในข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความฯ ข้อใด อันจะเข้าเงื่อนไขให้มีการลบชื่อนายอานนท์ออกจากทะเบียนทนายความได้


นอกจากนี้คดีที่นายอภิวัฒน์ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อนายอานนท์ ที่สน.สำราญราษฎร์ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ผ่านมา ก็กำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ซึ่งยังไม่มีการพิพากษาว่าการกระทำตามที่อานนท์ถูกดำเนินคดีเป็นความผิด


ทั้งนี้ เมื่อเห็นได้ชัดแล้วว่าข้อร้องเรียนของนายอภิวัฒน์ไม่ได้ตรงกับข้อบังคับของสภาทนายความฯ ข้อใด สภาทนายความฯ จึงควรยกคำร้องของนายอภิวัฒน์ทันที โดยมิต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้สภาทนายความฯ ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของบุคคลใดเพื่อคุกคามทำลายผู้เห็นต่างทางการเมือง รวมถึงเพื่อคุ้มครองสิทธิของทนายความในการปฏิบัติหน้าที่ และป้องปรามมิให้ทนายความด้วยกันเองใช้ระเบียบของสภาทนายความฯ มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง”


2.ในการทำงานที่ผ่านมาของนายอานนท์ นำภา ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ทนายความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในหลากหลายประเด็น ทั้งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองแรงงาน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนประเด็นด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ทนายความเพื่อผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพอย่างกล้าหาญ ยืนหยัดปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนสมกับเป็นผู้มีวิชาชีพทนายความที่ทนายความควรเอาแบบอย่าง


3. รายนามในจดหมายเปิดผนึก นอกจากสมาชิกทนายความของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังมีสำนักงานกฎหมาย ทนายความ และนักกฎหมายทั่วประเทศ ข้าร่วมลงชื่อด้วย กว่า 266 รายนาม ซึ่งสะท้อนว่ามีทนายความเป็นจำนวนมากที่สนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวและเห็นด้วยว่าการกระทำของทนายอานนท์เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                           สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ค้านคำร้องลบชื่อ \"อานนท์\"ออกจากทะเบียนทนายความ

 

ด้าน นายปัญญา จารุมาศ เลขานุการคณะกรรมการมรรยาททนายความ เปิดเผยกับ "คมชัดลึกออนไลน์" ถึงขั้นตอนการพิจารณาคำร้องว่า ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาคำร้องของนายอภิวัฒน์ ว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง หากกรณีที่รับคำร้อง ทางผู้ถูกร้องจะต้องยื่นคำแก้ข้อกล่าวหา จากนั้น ตั้งกรรมการขึ้นมา 3 คน เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไป 

ส่วนกรณีที่มีการยื่นคำร้อง เพื่อขอให้ยกคำร้องของนายอภิวัฒน์ นั้น ทางคณะกรรมการมรรยาท จะนำมาประกอบการพิจารณา อย่างไรก็ตามขณะนี้ คณะกรรมการมรรยาททนายความ ยัง อยู่ระหว่างการพิจารณาเอกสารเท่านั้น  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ