ข่าว

#ไม่เอาพรบคู่ชีวิต วิจารณ์เดือดหลัง ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

#ไม่เอาพรบคู่ชีวิต วิจารณ์เดือดบนเทรนด์ทวิตเตอร์ หลัง ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต โดยคู่รักเพศเดียวกัน สามารถจดทะเบียนได้แล้ว

#ไม่เอาพรบคู่ชีวิต กำลังถูกพูดถึงอย่างดุเดือดบนเทรนด์ทวิตเตอร์ หลังจากที่ มติ ครม.อนุมัติร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต คู่รักเพศเดียวกัน สามารถจดทะเบียนได้แล้ว พร้อมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

อ่านข่าว : เปิด..พ.ร.บ.คู่ชีวิต คู่รักเพศเดียวกัน จดทะเบียนได้แล้ว

 

สำหรับใจความสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ประกอบด้วย

 

1. “คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้

 

2. กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้

 

3. กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย

 

4. กำหนดให้ในกรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุ นิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต

 

5. กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 3 และ 5 (2) และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 29 วรรคหนึ่ง) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

6. กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน

 

7. คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียน รับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตน ด้วยก็ได้

 

8. เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่ เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

 

9. กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส (มาตรา 1606 1652 1563) ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม

 

อย่างไรก็ตามก็ได้มีการผุด #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ขึ้นมาบนโลกทวิตเตอร์ มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างดุเดือด โดยหลายคนมองว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังไม่ตอบโจทย์การนำไปสู่ สมรสเท่าเทียม บางคนมองว่า การออกร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นการแบ่งแยกเพศจากการออก พ.ร.บ.ใหม่ แทนที่จะมีการปรับแก้และใช้ พ.ร.บ.เดียวกันกับการแต่งงานระหว่างชายและหญิง เพื่อให้ทุกเพศเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

 

นอกจากนี้ บางคนยัง ระบุว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตนั้น ยังไม่ได้ให้สิทธิต่างๆ ของคู่ชีวิตได้เท่าเทียมกับคู่สมรส และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังไม่เปิดให้คนทุกเพศสามารถหมั้นกันได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งแตกต่างจากการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... 

 

ซึ่งก่อนหน้านี้ในสื่อสังคมออนไลน์ได้เชิญชวนกันให้ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จน #สมรสเท่าเทียมติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยถึงอันดับ 6 โดยก่อนหน้านี้ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ก็ได้เผยแพร่ข้อมูลการเปรียบเทียบระหว่างร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้ด้วย

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ