ข่าว

ทวงคืนบึงรับน้ำ (แก้มลิง) คู้บอน กทม.เวนคืนที่ดิน เหตุใด นายทุนจึงเข้ามารังวัดถมที่ดิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คนกรุงเทพฯ ร้องผู้ว่าฯ ตรวจสอบ หลังมีนายทุน เข้าไปรังวัด ถมที่ดิน ในพื้นที่ บึงรับน้ำ (แก้มลิง) คู้บอน ทั้งที่จะมีการขอออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินแล้ว

หลังจากเกิดมหาอุทกภัยที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยในปี พ.ศ. 2554 สำนักระบายน้ำ กรุงเทพมหานครได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการจัดหาพื้นที่ลุ่มต่ำทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดทำเป็นบึงรับน้ำหรือแก้มลิง ในการชะลอน้ำมากักเก็บไว้ชั่วคราวก่อนจะระบายสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทยต่อไป

 

สำนักระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร จึงได้กำหนดพื้นที่ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกจรดคลองคู้บอน ทิศใต้และทิศตะวันออกจรดพื้นที่เอกชนแขวงคันนายาว เขตคันนายาวให้เป็นพื้นที่บึงรับน้ำ (แก้มลิง) ในโครงการบึงรับน้ำบริเวณคลองคู้บอน (กทม.) และได้ทำการประชาสัมพันธ์และประชาพิจารณ์ไปเรียบร้อยแล้วในปีพ.ศ. 2560 ซึ่งชาวบ้านส่วนมากต่างเห็นประโยชน์ของบึงรับน้ำ(แก้มลิง) คู้บอนและไม่คัดค้านแต่อย่างใด

ทวงคืนบึงรับน้ำ (แก้มลิง) คู้บอน กทม.เวนคืนที่ดิน เหตุใด นายทุนจึงเข้ามารังวัดถมที่ดิน

พื้นที่บริเวณบึงรับน้ำ(แก้มลิง) คู้บอนนี้อยู่ระหว่างการขอพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน เป็นพื้นที่โล่งและพื้นที่เกษตรกรรมมีขนาด 130 ไร่หรือเทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 29 แห่ง สามารถรองรับน้ำได้ 870,000 ลูกบาศก์เมตร สามารถช่วยป้องกันน้ำท่วมใน 4 เขต คือ เขตคลองสามวา เขตคันนายาว เขตสายไหม และเขตมีนบุรี โดยมีประชากรประมาณ 1.4 ล้านคนอาศัยอยู่

 

แต่มา มีสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล เกิดขึ้น เมื่อ ได้มีนายทุนเข้ามารังวัดพื้นที่ และนำดินเข้ามาถมเพื่อปรับที่ดิน ส่งผลให้เกิดคำถามมากมายว่า พื้นที่ดังกล่าว นั้นเป็นการกำหนดแนวพื้นที่ ทำบึงรับน้ำ (แก้มลิง) คู้บอน ที่อยู่ระหว่างการขอพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน แล้วเหตุใด นายทุนจึงเข้ามารังวัดและนำรถมาถมที่ดินได้ กลุ่มชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันศึกษาข้อมูลและไปยื่นหนังสือที่ กทม. เพื่อสอบถามเรื่องที่เกิดขึ้น

ตัวแทนหมู่บ้านและชุมชนที่อยู่รอบบึงรับน้ำ (แก้มลิง) คู้บอน ได้ร่วมประชุมกับนายชูชาติ พุ่มน้อย ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตคันนายาวและคณะตัวแทนจากสำนักระบายน้ำ ตัวแทนจากสำนักการโยธา (ฝ่ายจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน) ตัวแทนจากสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง และตัวแทนเจ้าของที่ดิน กรณีพื้นที่โครงการบึงรับน้ำ (แก้มลิง) คู้บอน เขตคันนายาว ซึ่งอยู่ในระหว่างการรออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินเพื่อจัดทำเป็นพื้นที่รับน้ำ (แก้มลิง)

 

สืบเนื่องจากการยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ยื่นครั้งที่ 2) ในวันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ว่าฯ ใช้อำนาจบังคับบัญชาสูงสุดของกรุงเทพมหานครเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักระบายน้ำ สำนักการโยธาฝ่ายจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน สำนักงานเขตคันนายาว และสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ร่วมกันตรวจสอบพื้นที่เตรียมประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตเวนคืนที่ดินจัดทำบึงรับน้ำบริเวณคลองคู้บอน และกำหนดมาตรการในการคุ้มครองพื้นที่เตรียมประกาศฯ ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ ตัวแทนชาวบ้านได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดิน ผังบริเวณการจัดทำพื้นที่แก้มลิงคลองคู้บอน ตามที่สำนักการระบายน้ำได้กำหนดขอบเขตรูปแบบโครงการ พบว่าที่ดินในพื้นที่โครงการบึงรับน้ำคลองคู้บอนบางส่วนมีเอกชนนำดินเข้ามาถมและปรับหน้าดิน รวมทั้งทำถนนเข้าถึงที่ดิน ที่ดินบางแปลงมีการยื่นรังวัดแบ่งแยกโฉนดเป็นแปลงย่อย และยื่นขออนุญาตจัดสรรที่ดินไว้แล้ว หากปล่อยให้มีการดำเนินการดังกล่าวต่อไปอีกอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของที่ดินหรือบุคคลภายนอกที่รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในภายหลังที่ต้องเสียหายจากการถูกเวนคืนที่ดิน รวมถึงส่วนราชการอาจต้องจ่ายเงินค่าชดเชยในการเวนคืนที่ดินที่สูงเกินความจำเป็น

ทวงคืนบึงรับน้ำ (แก้มลิง) คู้บอน กทม.เวนคืนที่ดิน เหตุใด นายทุนจึงเข้ามารังวัดถมที่ดิน

ต่อมา นายชูชาติ พุ่มน้อย ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตคันนายาว นำตัวแทนจากสำนักระบายน้ำและสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ปักป้ายประชาสัมพันธ์โครงการบึงรับน้ำ (แก้มลิง) คู้บอน เขตคันนายาว ว่าอยู่ระหว่างการเสนอพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน 2 จุดคือ กำแพงหมู่บ้านปัญญาอินทรา P. 1 (ติดคลองคู้บอน) ถนนปัญญาอินทรา และในบริเวณหมู่บ้านเสนาพาร์ควิลล์ ถนนคู่ขนานวงแหวนตะวันออก รวมทั้งจะได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบในประกาศของเวบไซต์และเฟซบุ๊กของสำนักงานเขตคันนายาวต่อไป

ทวงคืนบึงรับน้ำ (แก้มลิง) คู้บอน กทม.เวนคืนที่ดิน เหตุใด นายทุนจึงเข้ามารังวัดถมที่ดิน

ส่วนขั้นตอนต่อไปนั้น ท่านด้าน ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตคันนายาว ได้ชี้แจงขั้นตอนการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตเวนคืนที่ดินว่ามี 10 ขั้นตอน ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนที่ 1 คือสำนักการโยธาเป็นผู้รวบรวมข้อมูลต่างๆเพื่อนำเสนอผู้ว่ากรุงเทพมหานครและกระทรวงมหาดไทยต่อไป ก่อนจะนำเรื่องเข้าพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน หากไม่มีการแก้ไขใดๆจะใช้เวลา 8-12 เดือน ทั้งนี้ ตัวแทนจากกองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา ได้แจ้งในที่ประชุมว่าขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดรังวัดเขตพื้นที่โครงการฯที่จะเวนคืนได้ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา แต่ตัวแทนจากสำนักการโยธาแจ้งว่า มีเลขที่โฉนดที่ดินที่จะต้องเวนคืนแล้ว

พื้นที่บริเวณบึงรับน้ำ (แก้มลิง) คู้บอนนี้ เป็นพื้นที่ที่เกิดขึ้นจากการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการจัดหาพื้นที่ลุ่มต่ำทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดทำเป็นบึงรับน้ำหรือแก้มลิง ในการชะลอน้ำมากักเก็บไว้ชั่วคราวก่อนจะระบายสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทยต่อไป อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างการขอพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน เป็นพื้นที่โล่งและพื้นที่เกษตรกรรมมีขนาด 130 ไร่หรือเทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 29 แห่ง สามารถรองรับน้ำได้ 870,000 ลูกบาศก์เมตร หากดำเนินการเสร็จสิ้น สามารถช่วยป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ 4 เขต คือ เขตคลองสามวา เขตคันนายาว เขตสายไหม และเขตมีนบุรี ที่มีประชากรประมาณ 1.4 ล้านคนอาศัยอยู่

 

ข้อมูล บึงรับน้ำคู้บอนเพื่อคนกรุงเทพฯ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ