ข่าว

4 กระทรวง เตรียมแผน travel bubble เสนอ ศบค. 17 มิ.ย. "พิพัฒน์" มั่นใจไทยมีศักยภาพท่องเที่ยว-สาธารณสุข

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ก.ท่องเที่ยว เดินหน้าแผน travel bubble เปิดรับนักท่องเที่ยว วันละ1,000คนเข้าประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว14 วันเตรียมเสนอ กก.เฉพาะกิจฯ17 มิย.นี้เผย 4 กระทรวง เร่งหารือขั้นตอนในรายละเอียดขณะ ดุสิตโพลล์ ระบุคนไทยยังไม่อยากให้นักท่องเที่ยวเข้ามา แนะคนไทย เที่ยวไทย

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2563 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ผลักดัน travel bubble หรือ การจับคู่ประเทศ เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างประเทศที่สามารถจัดการโรคโควิด-19 ได้ดีเท่าๆกัน ซึ่งเป็นความร่วมมือในลักษณะทวิภาคีด้านการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่ทั่วโลกกำลังหันมาสนใจ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ในหลายๆประเทศเริ่มดีขึ้น โดยที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นของการหารือระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหาข้อสรุปในแนวทางการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น แนวทางการเจรจากับประเทศกลุ่มเป้าหมาย ข้อปฏิบัติต่างๆ รวมถึงการเฝ้าระวังโรคระบาด ก่อนเสนอ ศบค.พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า อย่างที่ทราบว่าเศรษฐกิจไทยและทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงหวังให้ travel bubble เป็นจุดเริ่มต้นในการรองรับชาวต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศไทย โดยไทยมีจุดแข็งในการรับมือกับโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ระยะแรกจะเปิดรับกลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มที่ต้องการเข้ามารักษาพยาบาลในไทย คาดว่าจะชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาประมาณวันละ 1,000 คน ซึ่งเมื่อดำเนินการไปสักระยะหนึ่ง แล้วพบว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี ก็จะพิจารณาให้นักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆเข้ามาตามลำดับ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวตามแนวทาง travel bubble จะไม่มีการกักตัว 14 วัน แต่มีมาตรการอื่นรองรับ เพื่อสร้างความไม่มั่นใจในความปลอดภัย โดยเริ่มจากการเลือกประเทศกลุ่มเป้าหมายที่มีความปลอดภัย สามารถควบคุมโรคได้ดี ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทางและตรวจอีกครั้งเมื่อเดินทางถึงไทย อาจกำหนดพื้นที่ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางไปได้ มีการติดตามตัวผ่านแอพพลิเคชั่นตลอดเวลาที่อยู่ในเมืองไทย ฯลฯ ที่สำคัญชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในไทยนั้น ล้วนมาจากประเทศที่มีความสามารถรับมือกับโควิด-19 ได้ดีเท่าๆกัน

ขณะที่ โพล สวนดุสิตโพล พฤติกรรมท่องเที่ยว คลายล็อก เปิดประเทศ โควิด-19 หวังรัฐชะลอ‘เปิดประเทศ’ งดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ก่อน 14 มิถุนายน 2563 “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณี “พฤติกรรมท่องเที่ยว ของ คนไทยหลังคลายล็อกดาวน์” จำนวนทั้งสิ้น 1,116 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 9-12 มิถุนายน 2563 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนกรณีรัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์ หลังสถานการณ์ของโรค COVID-19 เริ่มคลี่คลาย และมีแผนฟื้นฟู การท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสให้กลับมาสร้างรายได้ เชิญชวนคนไทยท่องเที่ยวในประเทศ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นโดยเร็ว สรุปผลได้ ดังนี้
1. “5 จังหวัด” ที่ประชาชนอยากไปเที่ยวมากที่สุด หลังจากรัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์
อันดับ 1 เชียงใหม่ 31.00%
อันดับ 2 ประจวบคีรีขันธ์ 28.14%
อันดับ 3 กรุงเทพมหานคร 19.35%
อันดับ 4 ชลบุรี 18.55%
อันดับ 5 กาญจนบุรี 11.92%


2. ประชาชนคิดว่าควรท่องเที่ยวอย่างไร? จึงจะปลอดภัยจาก COVID-19
อันดับ 1 ควบคุม จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหมาะสมตามขนาดของแต่ละพื้นที่ 83.29%
อันดับ 2 เลือกสถานที่ที่มีการทำความสะอาด พ่นฆ่าเชื้อ ก่อนและหลังการให้บริการทุกครั้ง 82.84%
อันดับ 3 มีการคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิของนักท่องเที่ยว 78.50%
อันดับ 4 ผู้ให้บริการ พนักงานขับรถ ต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งในขณะปฏิบัติหน้าที่ 74.07%
อันดับ 5 จัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อให้แก่นักท่องเที่ยว 72.09%
อันดับ 6 เว้นระยะห่างทางสังคม 69.56%
อันดับ 7 เที่ยวคนเดียวหรือไปเป็นกลุ่มเล็ก ไม่ไปเป็นกลุ่มใหญ่ 53.84%


3. ประชาชนคิดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งภายในระยะเวลาเท่าใด?
อันดับ 1 1 ปี 41.40%
อันดับ 2 ภายใน 6 เดือน 25.90%
อันดับ 3 2 ปี 20.52%
อันดับ 4 มากกว่า 2 ปี 12.18%


4. ประชาชนอยากให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยหรือไม่?
อันดับ 1 ไม่อยากให้เข้ามา อยากเชิญชวนให้คนไทยเที่ยวในประเทศก่อน 54.39%
อันดับ 2 อยากให้เข้ามาเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับประเทศ 24.28%
อันดับ 3 ไม่อยากให้เข้ามา เพราะกลัวแพร่เชื้อโควิด-19 21.33%
*หมายเหตุ : ผู้ตอบสามารถระบุความคิดเห็นได้มากกว่า 1 เรื่อง (ค่าร้อยละจึงคำนวณในแต่ละข้อ)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ