ข่าว

"อุณหภูมิสูง" ช่วยลดการระบาดของโรคโควิด-19 ได้จริงหรือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักวิจัยพยายามขุดค้นความสัมพันธ์ระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 กับอุณหภูมิ

 

               ปักกิ่ง, 27 เมษายน 2563 (ซินหัว) - เชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจหลายสายพันธุ์ อาทิ ไวรัสไข้หวัดใหญ่และโรคซาร์ส (SARS) มักแพร่ระบาดรุนแรงในเดือนที่อากาศหนาวเย็นและเลือนหายไปในฤดูร้อน แต่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) จะมีรูปแบบเฉกเช่นนั้นหรือไม่

อ่านข่าว - มะกันติดเชื้อเกือบล้าน โควิด-19 แพร่ระบาดทั่วโลกเกิน 3 ล้านราย

 

 

 

               ปัจจุบันคณะผู้เชี่ยวชาญยังไม่พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอจะยืนยันว่าความร้อนและความชื้นจะชะลอการแพร่กระจายของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2)

               “ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่สามารถแพร่กระจายได้ในทุกพื้นที่ รวมถึงพื้นที่ที่มีสภาพอากาศร้อนและชื้น” เป็นข้อความส่วนหนึ่งในรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าอุณหภูมิสูงไม่สามารถลดทอนการแพร่ระบาดได้

               ทอม คอตซิมโบซ์ (Tom Kotsimbos) รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโมนาชของออสเตรเลีย และแพทย์ระบบทางเดินหายใจประจำโรงพยาบาลอัลเฟร็ด (Alfred Hospital) ในเมืองเมลเบิร์น เปิดเผยกับเดอะการ์เดียน (The Guardian) หนังสือพิมพ์สหราชอาณาจักร ว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่เป็นไวรัสเกิดใหม่ ดังนั้น “มิได้หมายความว่ามันจะมีลักษณะเหมือนไวรัสสายพันธุ์อื่น”

 

 

 

               “ผมคิดว่าน่าสนใจตรงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ทั้งซีกโลกเหนือและใต้” คอตซิมโบซ์ กล่าวพร้อมเสริมว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ไม่ได้พึ่งพาอุณหภูมิในการระบาดหรือการพึ่งพานั้นอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญต่อการแพร่ระบาด

               ขณะเหล่านักวิจัยพยายามขุดค้นความสัมพันธ์ระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 กับอุณหภูมิ มีนักวิจัยบางส่วนได้เผยข้อสรุปชวนถกเถียงออกมา

               บทความในวารสารการแพทย์ เดอะ แลนเซต (The Lancet) เมื่อวันที่ 2 เม.ย. รายงานว่า คณะนักวิจัยจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกงของจีน ค้นพบความสัมพันธ์เชิงผกผันระหว่างอุณหภูมิและความคงตัวของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ โดยระบุว่า ไวรัสฯ มีความคงตัวสูงเมื่ออยู่ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส และมีระยะฟักตัวนานสูงสุด 14 วัน และเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นเป็น 70 องศาเซลเซียส ระยะเวลาในการทำให้ไวรัสฯ หมดฤทธิ์จะลดลงเหลือ 5 นาที

 

 

 

               ทว่าบทความในวารสารยูโรเปียน เรสพิราทอรี (European Respiratory) เมื่อวันที่ 8 เม.ย. กล่าวว่า คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นของจีน ค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 กับอุณหภูมิหรือรังสียูวีในเมืองต่างๆ ของจีนเพียงเล็กน้อย

               คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นทำการวิเคราะห์ด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้ 1) จำนวนผู้ป่วยสะสมใน 224 เมือง ซึ่งแต่ละเมืองมีผู้ป่วยสะสมไม่น้อยกว่า 10 ราย เมื่อนับถึงวันที่ 9 มี.ค. 2) ค่าเฉลี่ยที่ผู้ป่วยหนึ่งรายจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นในประชากรที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน (basic reproduction number) ของ 62 เมืองที่มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 50 ราย เมื่อนับถึงวันที่ 10 ก.พ. 3) ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา อาทิ อุณหภูมิ ความชื้น และรังสียูวี ก่อนได้ข้อสรุปว่า “อุณหภูมิโดยรอบไม่ได้ส่งผลกระทบอันมีนัยสำคัญต่อความสามารถในการแพร่กระจายของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่” และ “นี่ค่อนข้างคล้ายคลึงกับการระบาดของโรคเมอร์ส (MERS) ในคาบสมุทรอาหรับ ซึ่งยังคงตรวจพบผู้ป่วยแม้อุณหภูมิในพื้นที่จะสูง 45 องศาเซลเซียส”

 

 

 

               อย่างไรก็ดี จู อี้ฟาง ศาสตราจารย์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิส (UCLA) ของสหรัฐฯ กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างไวรัสฯ กับอุณหภูมินั้นมีอยู่จำกัด ทำให้เราไม่อาจสรุปแน่ชัดว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นพิสูจน์ยืนยันได้ทั่วโลก

               ขณะเดียวกัน จู เสริมว่า ไม่อาจตัดความเป็นไปได้ว่าอากาศร้อนที่กำลังจะมาเยือนซีกโลกเหนืออาจลดการแพร่ระบาดของไวรัสฯ และยังคงไม่มีข้อสรุปว่าโรคโควิด-19 จะกลับมาระบาดหนักในช่วงฤดูหนาวและกลายเป็นโรคระบาดตามฤดูกาลหรือไม่

 

 

 

--------------------

ที่มา : xinhuathai.com

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ