ข่าว

แห่ลงทะเบียน"รับ 5 พัน"กว่า 16 ล้านคน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คลังยันยังไม่มีกำหนดปิดเว็บไซต์-จ่ายเงินเข้าบัญชีเร็วสุด 7 วันทำการหลังคัดกรองคุณสมบัติผ่าน สั่งฟันเว็บปลอมอื้อฐานฉ้อโกง กระทรวงแรงงานจ่อเสนอครม.เคาะช่วยผู้ประกันตนรับ 5,000 ด้วย

มาตรการของภาครัฐให้ผู้ได้รับผลกระทบ โควิด-19 ระบาด มีประชาชนกว่า 16 ล้านคนร่วมลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5 พันบาท

 

 

 

 

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยกรณีเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่ใช้ลงทะเบียนรับสิทธิ์เงินเยียวยาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนนั้น เกิดปัญหาเนื่องจากก่อนเปิดระบบมีประชาชนสนใจรอลงทะเบียนกว่า 2 ล้านคน และในช่วง 5 นาทีแรกของการลงทะเบียน มีผู้เข้ามาลงทะเบียนมากถึง 20 ล้านคน

 

 

 

 

ซึ่งเป็นจำนวนสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มากและเกินกว่าที่ระบบจะรองรับได้ที่ 3.48 ล้านคนต่อนาที อย่างไรก็ตามธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบจำเป็นต้องปิดระบบชั่วคราวและหลังจากนั้นไม่นานก็เข้าสู่ภาวะปกติ และมีจำนวนผู้ที่สามารถลงทะเบียนจนถึงวันนี้ (29 มี.ค.) เวลา 06.00 น. สำเร็จแล้วจำนวน 9.6 ล้านคน และยังเปิดให้ลงทะเบียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้จะแจ้งผลการลงทะเบียนและสิทธิ์ตอบกลับไปยังผู้ลงทะเบียนผ่านทางข้อความ SMS เมื่อลงทะเบียนแล้ว ระบบพร้อมจ่ายเงินเยียวยาเข้าบัญชีเร็วสุดภายใน 7 วันทำการ โดยจะโอนเงินให้บัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชนผ่านบัญชีธนาคารที่มีชื่อและนามสกุลเจ้าของบัญชีตรงกับชื่อและนามสกุลนำมาลงทะเบียน

ทั้งนี้ขอเน้นย้ำว่าการขอรับสิทธิ์ตามมาตรการนี้ไม่ใช่วิธีมาก่อนได้ก่อนแต่ประชาชนทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากไวรัสโควิด-19 และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์จะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลครบทุกคน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าพี่น้องประชาชนตื่นตัวและรักษาสิทธิ์ของตนเอง โดยกระทรวงการคลังขอน้อมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นพร้อมจะนำปัญหาต่างๆ ไปปรับปรุงแก้ไขกับระบบเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนต่อไป

นายชาญกฤช กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีกลุ่มมิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสในช่วงวิกฤติเอารัดเอาเปรียบผู้ได้รับความเดือดร้อนจากไวรัสผ่านวิธีการต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการเปิดเว็ปไซต์ปลอม ซึ่งมีมากกว่า 44 เว็บไซต์ โดยอ้างว่าจะรับลงทะเบียนให้เพื่อแลกความสะดวก รวมทั้งขอค่าตอบแทนบางส่วนจากเงินที่ได้รับ ดังนั้นอย่าหลงเชื่อผู้ที่หาผลประโยชน์โดยไม่ถูกต้องเหล่านั้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ประโยชน์อื่นใดในทางที่ไม่ถูกต้องและเกิดความเสียหายทางการเงินตามมา ซึ่งขณะนี้ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบอย่างเข้มงวดและดําเนินการตามกฎหมายทันที เพราะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

มีรายงานจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า ล่าสุดเวลา 15.00 น. พบว่ามีประชาชนลงทะเบียนรวม 16.28 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาประมาณ​ 11.00​ น. ที่มีประมาณ 13.9 ล้านคน

ที่ ศบค.ทำเนียบรัฐบาล นายลวรณ แสงสนิท โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยกรณีมาตรการรับเงินเยียวยา 5,000 บาท เมื่อได้รับรหัส otp แล้ว หมายความว่าได้ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าผ่านการคัดกรอง ทั้งนี้ยอดคนที่ลงทะเบียนล่าสุดเมื่อเวลา 11.00 น. มีคนลงทะเบียนกว่า 13.9 ล้านคน เมื่อลงทะเบียนแล้วต้องมีกระบวนการตรวจสอบคัดกรองว่าข้อมูลที่กรอกผ่านระบบถูกต้องหรือไม่และผ่านเกณฑ์กรณีไม่อยู่ในระบบประสังคมต้องเป็นลูกจ้างหรือประกอบอาชีพอิสระและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไร

“ไม่ว่าผลการคัดกรองจะมีผู้ผ่านเกณฑ์กี่ล้านคน รัฐบาลยืนยันว่าจะได้รับการเยียวยาทุกราย ส่วนกรณีผู้ที่เป็นนักศึกษาทำงานพาร์ทไทม์นั้น สถานะถือว่าไม่เข้าเกณฑ์ โดยกระบวนการในการคัดกรองเร็วที่สุดคือ 7 วันทำการที่จะได้รับการเยียวยา” โฆษกคลังกล่าว และว่า สำหรับผู้ประกอบอาชีพหาบเร่แผงลอย ลงทะเบียนอาจจะไม่สะดวกอยากให้ไหว้วานลูกหลานหรือเพื่อนบ้านเป็นผู้ลงทะเบียนให้ อย่าพยายามออกจากบ้านไปรวมตัวกันจำนวนมาก เพราะอาจเกิดการแพร่ระบาดได้ ทั้งนี้เว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ยังไม่มีกำหนดปิดจะเปิดไปเรื่อยๆจนกว่าจะมั่นใจว่าทุกคนที่ได้รับผลกระทบมาลงทะเบียนครบหมดแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มช่องทางการลงทะเบียนอื่นด้วยและย้ำว่าบัญชีที่จะนำมารับเงินเยียวยาจะเป็นธนาคารอะไรก็ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ แจ้งประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐรวมถึงธนาคารออมสินที่ได้ประกาศปิดทำการไปก่อนหน้านี้ พร้อมเปิดให้บริการตามปกติ แต่งดให้บริการเปิดบัญชีใหม่และบริการผูกพร้อมเพย์ที่สาขา ระหว่างวันที่ 30-31 มีนาคม แต่สามารถดำเนินการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์และออนไลน์เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการของศบค.ที่ขอความร่วมมือให้ยกเว้นกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดการเดินทางหรือเคลื่อนย้ายประชาชนจำนวนมากมารวมตัวกัน

สำหรับลูกค้าที่ต้องการลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์เยียวยา 5,000 บาทของรัฐบาลนั้น ลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาติดต่อที่ธนาคารแต่สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งเชื่อมั่นว่าความร่วมมือร่วมใจของลูกค้าและคนไทยทั้งประเทศจะสามารถก้าวข้ามสถานการณ์แห่งความยากลำบากในครั้งนี้ด้วยกันได้ในที่สุด 

ขณะที่ นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า แนวทางการช่วยเหลือผู้ประกันตนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโดย 1.มติครม.ให้แก้กฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย กำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม โดยให้แก้ไขคำให้ครอบคุมถึงภัยที่เกิดจากโรคโควิด-19 เช่น กรณีกักตัว 14 วันจากการใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ประกันสังคมจะจ่ายเงิน 50% หรือกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย เราเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th เพื่อ สปส.จะจ่ายเงินทดแทนให้

ทั้งนี้กรณีการว่างงานจากการเลิกจ้าง หรือนายจ้างหยุดกิจการ ลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทนจากกรณีว่างงานไม่เกินระยะเวลา 200 วัน กรณีลูกจ้างลาออกจะได้รับเงินกรณีว่างงาน 45% ของค่าจ้างไม่เกินระยะเวลา 90 วัน แต่ต้องขึ้นทะเบียนเป็นคนว่างงาน และรายงานตัวเดือนละ 1 ครั้งในเว็บไซต์ของสปส. ทั้งนี้ได้เพิ่มช่องทางในการติดต่อไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงาน เช่น ช่องทางไปรษณีตอบรับ ส่งทางโทรสาร ทางอีเเมล หรือแอพพลิเคชั่นไลน์ของแต่ละจังหวัด

 

 

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊กของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้เผยแพร่ว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นการเร่งด่วน โดยมี นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ กรมสรรพากร เพื่อหารือมาตรการช่วยเหลือแรงงานซึ่งเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโดยที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงแรงงานแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ไม่ถึง 5,000 บาท มีสิทธิได้รับเงินไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 มีนาคม เพื่อให้สอดคล้องและเท่าเทียมกันกับการช่วยเหลือแรงงานลูกจ้างที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม โดยจะเสนอต่อที่ประชุมครม.ให้ความเห็นชอบในวันที่ 31 มีนาคมนี้

 

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ