ข่าว

ดีดีบินไทยไขก๊อก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พิษโควิด-19 ดีดีบินไทยยื่นใบลาออกแล้ว มีผล 1 เม.ย. ส่วน ผอ.สุวรรณภูมิไขก๊อกเซ่นผีน้อยหลุด ขณะที่คลัง-พาณิชย์ซัดกันไม่เลิกปมส่งออกหน้ากาก 330 ตัน "อุตตม" หย่าศึกสั่งเร่งทำความเข้าใจ

          สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลให้หลายหน่วยงานต้องวางแผนรับมือ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่หน่วยงานซึ่งเป็นด่านหน้าทั้งสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองจะสามารถคัดกรองบุคคลสุ่มเสี่ยงโรคดังกล่าวได้ทันท่วงที หลังกลุ่มผีน้อยทะลักออกไปเพ่นพ่าน เป็นหนึ่งในสาเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดในประเทศเพิ่มขึ้นโดยเร็ว

 

 

 

          วันที่ 12 มีนาคม นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ น.ท.สุธีวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการสนามบินสุวรรณภูมิ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นพนักงานของ ทอท. โดยหนังสือลาออกขอให้มีผลบังคับ 16 เมษายน 2563 โดยเหตุผลที่ขอลาออก คือ ขอแสดงความรับผิดชอบที่บริหารจัดการศูนย์ EOC ไม่ดีจนมีกรณีผีน้อยหลุดออกไปจากการคัดกรอง

          “ที่มีกระแสข่าวว่าผมจะลาออกจากตำแหน่งด้วยนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะยังมีภาระรับผิดชอบที่จะต้องเร่งดำเนินการในการผลักดันโครงการขยายขีดความสามารถสนามบินสุวรรณภูมิ ประกอบกับ ต้องเร่งช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายประการขณะนี้ และยังอยู่ในช่วงสัญญาจ้าง” นายนิตินัยยืนยัน

          รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า ภายหลังจากเกิดปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 พนักงานของ ทอท.ระดับผู้ปฏิบัติงานที่สนามบินของ ทอท.ทั้ง 6 แห่ง ซึ่งเป็นประตูหลักในการเดินทางเข้าออกประเทศต้องทำงานอย่างหนัก และแบกรับความเสี่ยงในการดำเนินการเพื่อคัดกรองผู้โดยสาร ขณะที่การประสานงานจากหน่วยงานหลัก อย่างกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ยังไม่มีความชัดเจน

          ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากคณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ว่า ขณะนี้ นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี การบินไทย) ได้ยื่นหนังสือลาออกแล้ว และจะมีผลในวันที่ 1 เมษายนนี้ ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า ผู้อำนวยการสนามบินสุวรรณภูมิ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานจาก ทอท. แต่อย่างใด

          รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ นายสุเมธได้ทำแผนแก้ปัญหาการเสริมสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทเสนอต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อขอให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ราว 20,000-30,000 ล้านบาท เนื่องจากประสบปัญหาการขาดทุนในปี 2562 ถึง 12,000 ล้านบาท อีกทั้งยังเจอผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างรุนแรงส่งผลต่อรายได้ของบริษัท แต่กระทรวงคมนาคมเห็นว่าการบินไทยเสนอแผนมาไม่ครบและตีกลับให้ไปจัดทำแผนใหม่เพื่อนำเสนออีกครั้ง ขณะเดียวกันบอร์ดการบินไทยเตรียมที่จะหารือเป็นการด่วนเพื่อหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งแทน

          ทางด้านความคืบหน้ากรณีความขัดแย้งระหว่าง 2 หน่วยงานหลัก เกี่ยวกับข้อมูลหน้ากากอนามัยนั้น ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) พร้อมฝ่ายกฎหมาย เข้าพบกับ พ.ต.ท.วิพัฒน์ รัชอินทร์ สารวัตร(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. เพื่อให้ดำเนินคดีกับนายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา กรณีแถลงข่าวพาดพิงว่ามีการส่งออกหน้ากากอนามัยจำนวน 330 ตัน ระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเสียหายต่อกรมการค้าภายใน

ดีดีบินไทยไขก๊อก

 

 

          นายวิชัย กล่าวว่า การส่งออกหน้ากากอนามัยจำนวน 330 ตัน เป็นไปตามที่กรมศุลกากรแจ้งในแถลงการณ์ว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นพิกัดจากศุลกากรซึ่งรวมสินค้าอื่นนอกจากหน้ากากอนามัย ทั้งผ้าหุ้มเบาะ ผ้าคลุม เป็นต้น และเป็นการส่งออกก่อนมีประกาศควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัยที่มีผลวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา อีกทั้งการส่งออกโดยปกติใช้มาตรวัดกันเป็นชิ้น ไม่ได้นับเป็นตัน เป็นการนำข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน ไม่ทราบว่านายชัยยุทธไปนำข้อมูลนี้มาจากไหน ซึ่งกรมการค้าภายในห้ามไม่ให้ส่งออกหน้ากากอนามัยสำหรับการแพทย์เด็ดขาด โดยตอนนี้มีโรงงานที่มีกำลังผลิตได้ 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน

          นายวิชัยกล่าวอีกว่า ตั้งแต่มีคำสั่งควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัย มีผู้ขออนุญาตส่งออกจำนวน 53 ล้านชิ้น ได้สั่งห้ามส่งออก 41 ล้านชิ้น เซ็นอนุญาตให้ส่งออกได้ 3 ครั้ง รวมจำนวน 12 ล้านชิ้น ซึ่งหน้ากากอนามัยที่อนุญาตไปนั้น เป็นหน้ากากที่ไม่สามารถใช้ในประเทศไทยได้ หรือเป็นสินค้ามีลิขสิทธิ์เฉพาะประเทศเจ้าของแบรนด์ เพราะไทยเป็นผู้รับจ้างผลิต หากเอามาใช้โรงงานจะโดนฟ้อง และหน้ากากที่สั่งทำโดยเฉพาะ ทั้งนี้ยืนยันว่าทุกขั้นตอนโปร่งใสและเป็นรูปแบบกรรมการตรวจพิจารณา

           “ภายในสัปดาห์นี้จะมีข่าวดีเรื่องหน้ากากอนามัย เพราะโรงงานเริ่มปรับไลน์การผลิตให้มีกำลังเพิ่มสูงขึ้น จากเดิม 1.2 ล้านชิ้น เป็น 1.3-1.4 ล้านชิ้น ซึ่งจะเพียงพอสำหรับบุคคลที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ เหตุผลที่ผมมาแจ้งความที่ บก.ปอท. เพราะเป็นหน่วยที่ครอบคลุมเรื่องสื่อคอมพิวเตอร์ทั้งหมด โดยวันนี้ผมมาแจ้งความเอาผิดนายชัยยุทธ ในนามของกรมการค้าภายใน เพื่อเรียกคืนศักดิ์ศรีให้องค์กร โดยยืนยันว่ากรมการค้าภายในไม่มีการส่งออกหน้ากากอนามัยจำนวนมากตามที่โฆษกกรมศุลกากรออกมาให้ข่าวแก่สื่อมวลชน และเหตุนี้ก็มองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของโฆษกกับกรม ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างองค์กรกันเอง” นายวิชัย กล่าว

          ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ได้รับรายงานจากอธิบดีกรมศุลกากรเกี่ยวกับข้อมูลการส่งออกหน้ากากอนามัยที่ไม่ตรงกันระหว่างกรมศุลกากรกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ แล้ว โดยมอบหมายให้กรมศุลกากรได้เร่งทำความเข้าใจเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งในส่วนข้อมูลกรมศุลกากรที่แถลงออกไปนั้น ต้องยอมรับว่าอาจมีความผิดพลาด ก็ต้องขออภัยและทำให้เกิดความถูกต้อง

          “ข้อมูลที่เราให้ไปนั้นอาจมีความคลาดเคลื่อน โดยในพิกัดรายการสินค้าหน้ากากอนามัยนั้นมีสินค้าอื่นร่วมด้วย จึงทำให้ตัวเลขคลาดเคลื่อน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ สามารถชี้แจงและทำความเข้าใจกันได้” รมว.คลัง ระบุ

          ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่าเป็นเรื่องตัวบุคคลระหว่างอธิบดีกรมการค้าภายในกับโฆษกกรมศุลกากร ซึ่งเมื่อได้เห็นข่าวก็ตกใจกับตัวเลขการส่งออกหน้ากากอนามัยและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา จึงตรวจสอบพบว่าตั้งแต่ประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม อธิบดีกรมการค้าภายในไม่ได้ออกใบอนุญาตให้มีการส่งออกหน้ากากอนามัยที่ใช้ในประเทศ ยกเว้นหน้ากากที่เป็นลิขสิทธิ์ที่มีการจ้างผลิตภายใต้กรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ขายในประเทศไม่ได้อยู่แล้ว

          นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ไม่ได้พูดคุยกับนายอุตตม ในฐานะกำกับดูแลกรมศุลกากร และนายอุตตมไม่ได้โทรมาประสานเพื่อขอให้ยกเลิกแจ้งความ ถ้าหากได้รับการประสานจากนายอุตตม ตนก็ไม่มีอำนาจไปสั่งนายวิชัยได้ ซึ่งการไปแจ้งความเพราะได้รับความเสียหายจากการแถลงข่าวของโฆษกกรมศุลกากร จะไปวินิจฉัยแทนว่าไม่ได้รับความเสียหายไม่ได้ อีกทั้งการฟ้องร้องไม่ใช่การฟ้องระหว่างหน่วยงานรัฐ จากนี้ไปคิดว่าการให้ข้อมูลของหน่วยงานรัฐจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะสถานการณ์ไม่ปกติ และขณะนี้โซเชียลมีเดียไปเร็วมาก กว่าจะทำความเข้าใจต้องใช้เวลา ส่วนที่มีการมองว่าเป็นการเล่นเกมการเมืองระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐ ที่ดูแลสองกรมนี้หรือไม่ ไม่ขอตอบ แต่ทุกอย่างจะยืนยันด้วยข้อเท็จจริงและเชื่อว่าในระยะยาวเมื่อสังคมพร้อมจะรับฟังความเห็นเมื่อสถานการณ์ปกติ ข้อเท็จจริงจะบอกเองว่าคืออะไร

 

 

 

          ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) วันเดียวกัน นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำหลักฐานเอกสารสำคัญมามอบให้แก่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกักตุน และเกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก หน้ากากอนามัยจำนวนมาก โดยระบุว่าเอกสารนี้มีข้อมูลเชื่อมโยงกับนักการเมืองหลายกลุ่มที่มีหญิงสาวซึ่งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีในรัฐบาลเป็นคนรับส่วนต่างจากบริษัทที่มีการส่งออกหน้ากากอนามัยไปยังประเทศจีน และมีข้อมูลว่า 14 บริษัทเอกชนเกี่ยวข้องกับการหายไปของหน้ากากอนามัยจำนวนมาก

          “ผมมีข้อมูลว่ามีพรรคการเมืองหนึ่งซึ่งมีความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองหนึ่งในรัฐบาลจับมือกับอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่พยายามสร้างสถานการณ์ในเกิดผลกระทบต่อรัฐบาลและขอตั้งข้อสังเกตกรณีที่นายจุรินทร์ออกมาแถลงข่าวยืนยันว่า มีหน้ากากอนามัยในสต็อกกว่า 200 ล้านชิ้น และสามารถผลิตได้กว่า 100 ล้านชิ้นต่อเดือน แต่เหตุใดจึงมีการเปลี่ยนตัวเลขเหลือเพียงกำลังการผลิตเพียง 36 ล้านชิ้นต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งจำนวนหน้ากากอนามัยที่หายไปสอดคล้องกับตัวเลขการส่งออกที่กรมศุลกากรมีการแถลงไปเมื่อวานนี้ (11 มี.ค.) ผมมองว่าเป็นการให้ข้อมูลขัดแย้งกันของหน่วยงานรัฐ” นายอัจฉริยะ กล่าว

          ต่อมาเวลา 13.20 น. นายพันธ์ยศ อัครอมรพงศ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคภราดรภาพ ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. เพื่อให้ข้อมูลกรณีที่ปรากฏภาพถ่ายร่วมเฟรมอยู่ในเฟซบุ๊กของนายศรสุวีร์ ภู่รวีรัศวัชรี หรือ เสี่ยบอย โดยก่อนหน้านี้นายพันธ์ยศออกมายอมรับว่าเป็นเจ้าของสถานที่ย่านหนองแขม ที่นายศรสุวีร์ไลฟ์สดเรื่องหน้ากากอนามัยกว่า 10,000 ชิ้นจริง แต่ไม่รู้เห็นเกี่ยวกับการไลฟ์สดดังกล่าว

          ด้าน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผบก.ปอท.ในฐานะโฆษก บก.ปอท บอกว่าขณะนี้รายละเอียดทุกอย่างอยู่ในสำนวนไม่สามารถเปิดเผยได้ ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้มีสื่อระบุคำพูดโดยอ้างว่าเป็นของตำรวจ ปอท. หลังสอบปากคำนายศรสุวีร์ ซึ่งบอกว่านายศรสุวีร์ดูเป็นคนซื่อๆ นั้น ในส่วนนี้ยอมรับว่าข่าวดังกล่าวค่อนข้างอ่อนไหว เบื้องต้นจะเรียกพนักงานสอบสวนที่ให้ข้อมูลมาซักถามข้อเท็จจริง เพราะอาจเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้พูด แต่อย่างไรก็ตามก็จะตักเตือนพนักงานสอบสวนให้มีความระมัดระวัง

          ค่ำวันเดียวกัน นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวในรายการ “คมชัดลึก” ทางเนชั่นทีวีช่อง 22 ถึงมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลนำออกใช้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ว่าแบ่งออกเป็น 2 เรื่องหลักคือการดูแลสุขภาพของประชาชนและมาตรการเศรษฐกิจ โดยมาตรการทางเศรษฐกิจนั้นจะประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก ได้แก่มาตรการทางการเงิน มาตรการด้านภาษีและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ ซึ่งจะดูแลในทุกกลุ่มอาชีพโดยมาตรการต่างๆ เหล่านี้เป็นมาตรการเร่งด่วนระยะสั้นเท่านั้นซึ่งเป็นมาตรการที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบเหมือนกัน

          “รัฐบาลทุ่มกับวิกฤติโควิด-19 ก่อนเพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วน ส่วนมาตรการทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเรารู้ปัญหาและมีมาตรการรองรับออกมาก่อนหน้านี้ หลังเจอวิกฤติภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งมีผลกระทบต่อการส่งออก เราก็มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องเพียงแต่ตอนนั้นไม่รุนแรง เพราะยังมีรายได้จากการท่องเที่ยวรองรับอยู่ แต่เมื่อเจอโควิด-19 ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดวูบ ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัดทำให้รัฐบาลจึงต้องงัดมาตรการต่างๆ มารับมืออย่างเร่งด่วน ทั้งเรื่องการลดดอกเบี้ยเงินกู้ การขยายผ่อนชำระ และมาตรการทางด้านภาษี เพราะถ้าธนาคารยังไม่ปล่อยกู้ ผลเสียหายทางเศรษฐกิจก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ