ข่าว

พณ.จับลาซาด้าขายหน้ากากฟันกำไรเว่อร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"จุรินทร์" เอาผิด "ลาซาด้า" ขายหน้ากากแพง ด้านตร.รอกรมการค้าฯ แจ้งจับ "เสี่ยบอย" พาณิชย์เผยเสี่ยงเจอโทษหนักคุก 7 ปี "สนธิญา" สมาชิก พปชร.ร้อง ปอท.สอบเพจดังกุข้อมูลเท็จ "แหม่มโพธิ์ดำ" สวนทันควันไม่สะดวกให้ปากคำ

          ความคืบหน้าหลังจากที่ตำรวจจัดกำลังเข้าตรวจค้น 6 จุดเป้าหมายในพื้นที่กรุงเทพฯ และ จ.ชลบุรี เพื่อหาความเชื่อมโยงกับนายศรสุวีร์ ภู่รวีรัศวัชรี หรือ เสี่ยบอย ที่ถูกเพจเฟซบุ๊กดัง “แหม่มโพธิ์ดำ” แฉแอบอ้างสนิททีมงานของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ กักตุนหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น และจำหน่ายเกินราคา

อ่านข่าว-สิระ ปัดกดดัน ธรรมนัส ลาออก ชี้เป็นดุลยพินิจ

 

 

 

          ล่าสุดวันที่ 11 มีนาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผบ.ตร. เปิดเผยถึงเรื่องการเรียกสอบสวนปากคำพยานในเรื่องดังกล่าวว่าเป็นอำนาจที่ตำรวจมีในการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยเฉพาะในประเด็นที่เสี่ยบอยอ้างว่ามีหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น จนทำให้สังคมเกิดความสับสนและตื่นตระหนก โดยประเด็นที่สังคมตั้งข้อสงสัยคือมีการกักตุนหน้ากากอนามัยจริงหรือไม่ เรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนและส่งผลการตรวจสอบข้อมูลให้กรมการค้าภายในรับไปพิจารณาแล้ว ซึ่งต้องรอให้กรมการค้าภายในเข้าแจ้งความร้องทุกข์อย่างเป็นทางการก่อนจึงจะเรียกสอบสวนประเด็นนี้ได้เต็มที่
          “ขอยืนยันว่านายกรัฐมนตรีได้ให้ความสนใจประเด็นนี้และสั่งการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อคลายความสงสัยให้สังคม ส่วนประเด็นที่พบว่าเสี่ยบอยเป็น กต.ตร. และเคยไปถ่ายภาพในงานเลี้ยงแห่งหนึ่งร่วมกับตำรวจหลายนาย เรื่องนี้จะหารือกับ ผบ.ตร.อีกครั้ง ว่าต้องมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือไม่ เพราะผู้ที่จะมาเป็น กต.ตร. ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ไม่ใช่ใครจะมาเป็นก็ได้" พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าว
          มีรายงานข่าวว่าการตรวจค้นโรงงานย่านมีนบุรีที่พบมีการเก็บหน้ากากอนามัย 500,000 ชิ้น และมีรายงานตัวเลขการจัดสรรหน้ากาก ส่วนการตรวจค้นบริษัทเอกชนย่านหนองแขม พบหน้ากากอนามัยประมาณ 10,000 ชิ้น ซึ่งจากการสอบสวนมีการอ้างว่าสั่งซื้อผ่านเว็บออนไลน์เพื่อเตรียมนำไปบริจาค ซึ่งผลการตรวจสอบทั้ง 2 จุด มีการส่งข้อมูลให้กรมการค้าภายในรับไปตรวจสอบแล้ว แต่ยังไม่ได้รับรายงานกลับมาว่าการจัดสรรดังกล่าวพบความผิดปกติใดหรือไม่ ประกอบกับยังไม่มีการมอบอำนาจให้ตำรวจเข้าไปดำเนินการสอบสวน จึงยังไม่สามารถสอบสวนในคดีที่เกี่ยวข้องกับการกักตุนหน้ากากได้
          ทั้งนี้การสอบปากคำเสี่ยบอยที่ผ่านมาก็ยอมรับว่าเคยมีการซื้อขายหน้ากากอนามัย 200,000 ชิ้น แต่เป็นลักษณะการนำผู้ขายมาเจอผู้ซื้อโดยตรง โดยจะได้รับส่วนแบ่ง 50 สตางค์ต่อหน้ากาก 1 ชิ้น ส่วนเรื่องการตรวจสอบเส้นทางการเงินของเสี่ยบอย เร็วๆ นี้จะส่งข้อมูลให้ ปปง.รับไปตรวจสอบว่ามีการทำธุรกรรมใดผิดปกติหรือไม่ ส่วนประเด็นที่นักแสดงชื่อดัง “พีท ทองเจือ” และบริษัท อาลี บาบา จะขอดำเนินคดีกับเสี่ยบอยที่นำไปแอบอ้างทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงจะยังไม่นำเข้ามารวมในสำนวนคดีหลัก
          วันเดียวกันที่ทำเนียบรัฐบาล นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบและติดตามกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวนกำลังขยายผล โดยนายศรสุรีว์ อาจจะถูกดำเนินคดี 3 ข้อหา ประกอบด้วย 1.ไม่ได้แจ้งการเก็บสินค้าคงเหลือ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท 2.จำหน่ายเกินราคาควบคุม โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และ 3.ค้ากำไรเกินควร โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท
นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า ส่วนนายพันธ์ยศ อัครอมรพงศ์ กรมการค้าภายในได้ตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่ามีการเก็บหน้ากากอยู่ 12,500 ชิ้น โดยมีการออกหมายเรียกมาดำเนินคดีในข้อหาที่ไม่ได้แจ้งปริมาณการเก็บสินค้าคงเหลือ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปรับ ไม่เกิน 20,000 บาท ส่วนข้อหาอื่นๆ กรมการค้าภายใน จะรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอพนักงานสอบสวนต่อไป
          “อย่างไรก็ตามตึกดังกล่าวคือบริษัทไทยเฮลท์ ที่นายพันธ์ยศเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท แต่ได้ยกเลิกบริษัทไปแล้ว จึงถือว่าไม่มีบริษัทอยู่ กระทรวงพาณิชย์กำลังตรวจสอบอยู่ว่ามีการใช้ชื่อบริษัทนี้ในนามนิติบุคคลไปทำธุรกิจใดๆ หรือไม่ โดยเฉพาะการจำหน่ายหน้ากากอนามัย หากมีก็จะมีความผิด” นายบุณยฤทธิ์ กล่าว

 

 


          ขณะเดียวกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 11 มีนาคม ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นายสนธิญา สวัสดี สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. เพื่อขอให้ตรวจสอบเพจแหม่มโพธิ์ดำ หลังจากได้โพสต์เรื่องราวของนายศรสุวีร์ หรือ เสี่ยบอย ที่อ้างตัวว่ารู้จักกับอดีตผู้ติดตาม ร.อ.ธรรมนัส พร้อมบอกว่ามีหน้ากากอนามัยกว่า 200 ล้านชิ้น
          นายสนธิญา กล่าวว่า ก่อนอื่นยอมรับในการทำงาน หลังจากได้ติดตามเพจแหม่มโพธิ์ดำมานาน แต่เมื่อนำเรื่องของเสี่ยบอยกักตุนหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น มาโพสต์เผยแพร่ จนมีผู้คนแชร์เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะเกิดความวุ่นวายตามมา มองว่าเป็นข้อมูลเท็จ เนื่องจากทราบข้อมูลมาว่าประเทศไทยมีโรงงานผลิตหน้ากากทั้งประเทศอยู่ 13 แห่ง ผลิตได้วันละ 1.2 แสนชิ้น หากจะมีหน้ากากมากขนาดนั้นได้ต้องสั่งซื้อจากโรงงานทั่วประเทศมาไม่ต่ำกว่า 7 เดือน แต่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดเพิ่งจะผ่านมาแค่ 2 เดือนนี้ จึงต้องการให้ บก.ปอท.ตรวจสอบเพจแหม่มโพธิ์ดำ เนื่องจากมีโปรไฟล์ที่ไม่ชัดเจน ไม่มีรูปปัจจุบัน ไม่มีเบอร์โทรศัพท์ หรือสถานที่ติดต่อ
          นายสนธิญา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เพจแหม่มโพธิ์ดำยังเปิดรับบริจาคเงินได้เกือบ 1 ล้านบาท จากบุคคลแวดวงต่างๆ และจัดซื้อหน้ากากภายในคืนเดียว 2.5 หมื่นชิ้นนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เพราะสินค้าดังกล่าวอยู่ในหมวดสินค้าคุ้มครองของกรมการค้าภายใน ถามว่าไปเอามาจากที่ใด และหลังเกิดเรื่องขึ้นเพจแหม่มโพธิ์ดำก็ปิดตัวไป ก่อนจะกลับมาเปิดอีกครั้ง มองว่าเพจแหม่มโพธิ์ดำควรให้ความชัดเจนทุกอย่าง หลังจากนี้เมื่อทราบตัวแล้วจะมาแจ้งความดำเนินคดีฐานนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์อีกครั้ง
          “ผมยังเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า ร.อ.ธรรมนัส ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ซึ่งมีคณะทำงานเป็นผู้ติดตามจำนวนมาก เชื่อว่ารัฐมนตรีทุกท่านจะไม่รู้รายละเอียดของคนติดตามทั้งหมดอย่างแน่นอน ขอยืนยันว่าการมาครั้งนี้ไม่ได้มีใบสั่ง แต่ผมมาในนามส่วนตัว โดยไม่ได้แจ้งพรรคก่อน หากแหม่มโพธิ์ดำมั่นใจว่าจะทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงก็ขอให้ออกมาเปิดหน้าเหมือนนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่เปิดหน้าชัดเจน และไม่สนถ้าถูกฟ้องกลับ ที่เคยร้องเรียนจนพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบไปแล้ว” นายสนธิญา กล่าว
          ในเวลาต่อมาเฟซบุ๊กเพจ Drama-addict ของนายวิทวัส ศิริประชัย หรือ ฉายา “จ่าพิชิต ขจัดพาลชน” โพสต์ข้อความตอบโต้นายสนธิญา โดยนำข้อความที่อ้างว่ามาจากแอดมินเพจแหม่มโพธิ์ดำ ฝากมาลง ระบุว่ารู้สึกเป็นงงมาก ว่านายสนธิญากำลังทำอะไรอยู่ มาหาว่าเพจลงข้อมูลอันเป็นเท็จ ต้องเปิดเผยตัวตน แทนที่จะไปจับ ไปตามสืบว่านายศรสุวีร์ เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ยังไง เพราะนายศรสุวีร์โพสต์เองทุกอย่าง คลิปก็มี หน้ากากก็เพียบ ให้ตรวจเช็กบัญชีธนาคารนายศรสุวีร์และคนรอบข้าง แต่มาตามหาตัวคนแฉที่เสี่ยงลงรายละเอียดทุกเรื่องเพื่อช่วยชาติตามหาหน้ากาก ยืนยันว่าไม่ไปพบพนักงานสอบสวนเพราะไม่สะดวก อยู่ต่างประเทศ เชิญทำให้เต็มที่ แล้วเดี๋ยวรู้กันว่าคนทิ้งชีวิตแล้ว เขาจะสู้ตายแค่ไหน ชีวิตก็มีชีวิตเดียว ถ้าต้องแลกกับการเปิดโปงความอยุติธรรมที่เกิดตอนนี้ก็คุ้ม
          นอกจากนี้แอดมินเพจ Drama-addict ยังระบุด้วยว่า แอดมินเพจแหม่มโพธิ์ดำไม่ได้รับบริจาค แต่เปิดเพจมาแล้วไปชวนผู้ประกอบการที่สนิทกันมาลงขัน หาเงินไปซื้อหน้ากากอนามัย เพราะแพทย์ พยาบาลเดือดร้อน แล้วส่งหลังไมค์ไปขอความช่วยเหลือ ส่วนเรื่องบริจาคเห็นแอดมินเพจแหม่มโพธิ์ดำทำอยู่เลยชวนคนในเพจว่าใครสนใจไปร่วมลงขันกันได้ แต่แอดมินเพจแหม่มโพธิ์ดำไม่รับ บอกให้ไปบริจาคให้ที่อื่น เลยให้คนไปบริจาคเข้าเว็บไซต์เทใจดอทคอมแทน อย่าสับสนประเด็น ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าควีนเป็นใคร แต่อยู่ที่ว่าเรื่องที่แฉนั้นจริงหรือไม่ ควรไปตรวจสอบอันนี้ต่างหากพร้อมติดแฮชแท็กเซฟแหม่มโพธิ์ดำ

 

 

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ร.อ.ธรรมนัส มีคำสั่งตั้งคณะกรรมทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีกักตุนหน้ากากอนามัย ที่นายพิตตินันท์ รักเอียด อดีตผู้ติดตามเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยคำสั่ง ร.อ.ธรรมนัส เซ็นชื่อลงนามในหนังสือแต่งตั้งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม โดยมีนายรัตนะ สวามีชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการกักตุนหน้ากากอนามัย กระทั่งวันนี้มีการแจ้งผู้สื่อข่าวว่าให้นายพิตตินันท์มาให้ปากคำที่กระทรวงเกษตรฯ นั้น แต่สื่อมวลชนต้องรอเก้อ เพราะมีรายงานว่าการสอบข้อเท็จจริงเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากนายรัตนะติดภารกิจอยู่ต่างจังหวัด ขณะที่ความเคลื่อนไหวของร.อ.ธรรมนัส ก็เดินทางไปราชการที่ จ.สุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อนายพิตตินันท์ แต่ไม่สามารถติดต่อได้
          ต่อมานายรัตนะบอกสื่อมวลชนว่า มีการสอบปากคำนายพิตตินันท์ อดีตทีมงาน ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งเจ้าตัวได้เดินทางมาให้ปากคำแล้ว และอยู่ระหว่างการสอบสวน แต่ขอไม่เปิดเผยสถานที่
          จากนั้นเวลา 13.45 น. วันเดียวกัน ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นายพิตตินันท์ รักเอียด อดีตผู้ติดตามและคณะทำงานของร.อ.ธรรมนัส เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. เพื่อให้ปากคำในคดีที่นายศรสุวีร์ โพสต์ข้อความ ภาพ และคลิปในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยอ้างว่าสามารถจัดหาหน้ากากอนามัยได้มากกว่า 200 ล้านชิ้น
นอกจากนี้ที่รัฐสภามีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย เป็นประธานการประชุม โดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าให้ข้อมูลต่อ กมธ. ในกรณีที่มีข่าวกระแสถึงการกักตุนหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น
          นายสมชัย กล่าวตอนหนึ่งว่า จากการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต เชื่อมั่นว่าจำนวนหน้ากากอนามัยที่ผลิตในประเทศมีปริมาณมากกว่า 200 ล้านชิ้น ไม่ใช่มีกำลังการผลิตเพียงแค่หลักสิบล้านชิ้น จาก 11 โรงงาน เนื่องจากช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายจุรินทร์เคยให้ข้อมูลหลังจากการตรวจโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยว่า มีเพียงพอต่อความต้องการ เพราะมีจำนวนในสต็อกมากกว่า 200 ล้านชิ้น
          นายสมชัย กล่าวว่า สงสัยในกรณีหน้ากากอนามัยขาดแคลนในโรงพยาบาล และประชาชนทั่วไปไม่สามารถหาซื้อหาได้เพราะมีกระบวนการขออนุญาตส่งออกหน้ากากอนามัยเกินจำนวนที่ควบคุมหรือไม่ เพราะตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาต การอนุญาต แบบบหนังสืออนุญาต และวิธีการส่งออกซึ่งหน้ากากอนามัย ที่มีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นเลขาธิการ ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญห้ามส่งออกเกิน 500 ชิ้นต่อ 1 ครั้ง และในประกาศดังกล่าวยังพบการแก้ไขเพิ่มเติมลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ระบุห้ามส่งออกโดยเด็ดขาด ยกเว้นได้รับการอนุญาตส่งออกจากอธิบดีกรมการค้าภายในตามที่อนุกรรมการกลางเสนอ โดยประกาศดังกล่าวนั้นแม้ในมุมของประชาชนทำให้รู้สึกดีเพราะเข้าใจว่าห้ามส่งออกใดๆ ทั้งสิ้น แต่ในข้อเท็จจริงแปลความได้ว่า การส่งออกสามารถทำได้และมากกว่า 500 ล้านชิ้นตามที่อธิบดีการค้าภายในอนุญาต
           “ผมสงสัยว่าจะมีเอกชนรู้ข้อมูลอินไซด์ และทำเรื่องขออนุญาตส่งออก โดยไม่จำกัดจำนวนในช่วงระหว่างวันที่ 4-20 กุมภาพันธ์ หรือไม่ และทราบจากข่าวว่า กรณีที่มีบุคคลชื่อเสี่ยบอย โพสต์บัญชีธนาคาร และข้อความ ระบุว่า มาจากการขายหน้ากากอนามัยหลักร้อยล้านบาท ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องสอบข้อเท็จจริง รวมถึงเส้นทางการเงินโดยขอความร่วมมือจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้สอบบัญชีดังกล่าว ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นของนายศรสุรีร์ ภู่รวีรัศวัชรี ซึ่งเป็นบุคคลที่โพสต์ขายหน้ากากอนามัยตามที่ปรากกฏเป็นข่าวจริงหรือไม่” นายสมชัย กล่าว
          นายสมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนการกระจายหน้ากากอนามัยไปยังโรงพยาบาล และร้านจัดจำหน่ายนั้น ตามข้อมูลที่กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า จะกระจายหน้ากากต่อวันได้ถึง 1.2 ล้านชิ้น โดยแบ่งโรงพยาบาล 7 แสนชิ้น และร้านจำหน่ายต่างๆ 5 แสนชิ้น แต่ข้อจริงพบว่ากระทรวงพาณิชย์ไม่ได้กระจายสินค้าเองแต่ให้ได้องค์เภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้กระจายไปยังโรงพยาบาล ขณะที่การกระจายไปยังร้านค้าเพื่อจำหน่ายให้ประชาชนนั้น ได้มอบหมายให้โรงงานเป็นผู้จัดส่ง ดังนั้นในกระบวนการตรวจสอบควรนำข้อมูลปริมาณหน้ากากอนามัย จำนวนโรงพยาบาลและร้านค้าที่ อภ.และโรงงานส่งไปยังที่ต่างๆ มาตรวจสอบเพื่อให้สอบเส้นทาง

 

 


          ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า กมธ.จะรับเรื่อง และพร้อมพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยจะเชิญจะเลขาธิการ ปปง. และอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ มาชี้แจงต่อ กมธ. ในวันที่ 18 มีนาคม เวลา 13.00 น. ก่อนจะไปมอบหมายให้นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ไปดำเนินการในเรื่องนี้
          ขณะที่นายธีรัจชัย กล่าวภายหลังการประชุมว่า กรณีที่เชิญเลขาธิการ ปปง. เพราะต้องการรู้ถึงเส้นทางทางการเงินว่าสามารถโยงถึงกลุ่มบุคคลใดได้บ้าง ส่วนข่าวที่ระบุว่าคนใกล้ชิด ร.อ.ธรรมนัส มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น กมธ.ยังไม่ได้ตั้งธงในประเด็นที่ปรากฏเป็นข่าว แต่เชื่อว่าในการตรวจสอบเส้นทางการเงินจะสามารถโยงไปถึงคนที่เกี่ยวข้องได้
          ส่วนนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.​พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกมธ. ป.ป.ช.ยังกล่าวสนับสนุนให้กมธ. ตั้งเรื่องสอบสวนกระบวนการกักตุนหน้ากากอนามัย โดยมีประเด็นที่ต้องตรวจสอบให้ทราบ คือหน้ากากอนามัยอยู่ไหน จำหน่ายที่ไหน คนที่เกี่ยวข้องมีเส้นทางการเงินอย่างไร
          “ผมไม่อยากพูดอะไรมาก เพราะคนให้ข้อมูลผมจะเดือดร้อน เบื้องต้นข้อมูลที่ได้รับจำเป็นต้องขอภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของรัฐสภามาตรวจสอบด้วย แต่ผมไม่ได้ฟันธงว่ากระบวนการกักตุนหน้ากากอนามัยนั้นเกิดขึ้นที่รัฐสภา แต่คนที่แต่งตั้งให้เป็นผู้ติดตามนั้นอย่างน้อยต้องติดตามมาทั้งรัฐสภา ทำเนียบ หรือหน่วยงาน ดังนั้นขอให้รายละเอียดอีกครั้ง 1-2 วันนี้” นายสิระ กล่าว
          นอกจากนี้เมื่อเวลา 15.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ พร้อมปลัดกระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมการค้าภายใน และชุดจับกุม ได้แถลงข่าวการจับกุมผู้กักตุนหน้ากากอนามัยและขายเกินราคา โดยนายจุรินทร์ บอกว่า ผลการดำเนินการติดตามเรื่องการค้าผิดกฎหมายบนแพลตฟอร์มที่เราดำเนินการ ซึ่งขณะนี้จะมีการดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มลาซาด้า 3 คดี ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มอบให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เชิญแพลตฟอร์มที่มีการค้าออนไลน์ ที่หมิ่นเหม่ มาพบที่กระทรวงพาณิชย์เพื่อเตือนให้ระมัดระวัง อย่าทำผิดกฎหมาย จากนั้นปลัดกระทรวงก็ทำหนังสือทางการ แจ้งเตือนแพลตฟอร์มต่างๆ ถึงข้อกฎหมาย และโทษที่จะได้รับ
          นายจุรินทร์ บอกว่า สำหรับ 3 คดีที่จะดำเนินกับลาซาด้า คือ 1.คดีจังหวัดนครปฐม ซึ่งมีผู้ร้องมาที่สายด่วน จนเจ้าหน้าที่ติดตาม กระทั่งเข้าดำเนินคดีกับร้านขายยาดีดีฟาร์มมาที่ประกอบการค้าออนไลน์บนลาซาด้า โดยพบของกลาง หน้ากากอนามัย 28 กล่อง มีโค้ดลาซาด้าบนกล่อง เตรียมส่งมอบชัดเจน เจ้าหน้าที่จึงตั้ง 2 ข้อหาคือขายเกินราคา และขายเกินราคาอันสมควร ส่วนคดีที่ 2 คือ ร้าน 928 ช้อป ที่ขายบนแพลตฟอร์มลาซาด้า โดยคดีนี้ได้ติดตามจากคำร้องเรียนและล่อซื้อ จึงพบว่ามีการขายเกินราคาอยู่ที่ชิ้นละ 22 บาท และคดีที่ 3 ร้านในจังหวัดนครปฐม ขายเกินราคาตกชิ้นละ 26 บาท
          “จากการตรวจสอบพบความพยายามที่จะหาลู่ทางค้ากำไรเกินควร โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบไปขายตามราคาควบคุม แต่คิดค่าขนส่งแพงมาก จึงขอเตือนว่าผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน เพราะจะเข้าข่ายขายในราคสูงเกินควร เพราะราคา​ควบคุม คือรวมตัวสินค้าและบริการส่งด้วย” นายจุรินทร์กล่าวย้ำ
          นอกจากนี้ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. แถลงผลการจับกุม นายวัชรพงษ์ หรือโหน่ง โยกาศ อายุ 27 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 319/2563 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2553 ข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, โดยนำข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบ, ร่วมกันประกอบธุรกิจดำเนินการใดๆ โดยจงใจที่จะทำให้ราคาต่ำเกินสมควรหรือสูงเกินสมควรและร่วมกันฟอกเงิน” จับกุมได้หน้าคอนโดลุมพินีสวีท ถนนเพชรบุรี แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
            พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ.ได้จับกุมนายวัชรวิทย์ สุภาษิต ที่หลอกเหยื่อให้โอนเงินซื้อหน้ากากอนามัย แต่ไม่มีของส่งให้ก่อนปิดเพจเฟซบุ๊กหนีไป โดยได้เงินไปร่วมหลายแสนบาท ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้สืบสวนขยายผลจนกระทั่งทราบว่านายวัชรพงษ์ ผู้ต้องหานี้ เป็นผู้เปิดเพจเฟซบุ๊กชื่อ “Mask-หน้ากากอนามัยราคาโรงงานปลีกส่ง” และอีกหลายเพจ เพื่อหลอกลวงขายหน้ากากอนามัยให้ประชาชนทั่วไป แต่ไม่มีหน้ากากอนามัยขายจริง โดยผู้ต้องหาอาศัยความตื่นหนกของประชาชนและความต้องการหน้ากากอนามัย จึงได้ใช้อุบายหลอกขายในราคาต่ำกว่าท้องตลาด คือ 550 บาทต่อกล่อง มี 50 ชิ้น จำกัดคนละไม่เกิน 6 กล่อง โดยเน้นหลอกลวงกลุ่มรายย่อย และเปิดเพจมาเพียง 2 วัน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีผู้เสียหายประมาณ 200 คนที่หลงเชื่อและโอนเงินเข้าบัญชีนายวัชรวิทย์ ก่อนพบเส้นทางธุรกรรมเชื่อมโยงไปถึงนายวัชรพงษ์
          ต่อมาพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับนายวัชรพงษ์ และเข้าจับกุมได้ในที่สุด และเมื่อตรวจสอบประวัติพบว่าผู้ต้องหามีหมายจับติดตัวอีก 4 หมายจับ ทั้งหมายจับศาลแขวงลำปางในข้อหาฉ้อโกง, หมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงและนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ รวม 2 หมาย และหมายจับศาลแขวงธนบุรีข้อหายักยอก ทั้งนี้หากมีผู้ใดพบการกักตุนหรือจำหน่ายหน้ากากอนามัยเกินราคาหรือต้องการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสอื่นๆ แจ้งข้อมูลได้ที่สายด่วน บก.ปคบ.1135

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ