ข่าว

'บ้านปู' ยื่นแบบไฟลิ่ง เตรียมออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'บ้านปู' ยื่นแบบไฟลิ่ง เตรียมออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ

                  บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เตรียมออกและเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน

\'บ้านปู\' ยื่นแบบไฟลิ่ง เตรียมออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ

                  โดยเสนอขายให้แก่นักลงทุนทั่วไปในวงเงิน 4 พันล้านบาทและส่วนสำรองเพื่อเสนอขายเพิ่มเติมจำนวน  2 พันล้านบาท รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 6 พันล้านบาท เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของโครงสร้างทางการเงินและสร้างเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว รองรับกับการขยายตัวของธุรกิจ ทั้งนี้ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนนี้ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้ง ในระดับ “A-”  ขณะที่อันดับเครดิตองค์กรอยู่ที่ “A+” แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” (เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563) กำหนดอัตราผลตอบแทน 5 ปีแรก 5.00% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุกๆ               6 เดือน คาดว่าจะเสนอขายได้ปลายเดือนเมษายน 2563

 

                  นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เหมาะสมในการจัดโครงสร้างทางการเงินของบริษัทฯ ให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการขยายการลงทุนในอนาคตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter บริษัทฯ จึงพิจารณาออกและเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท อัตราดอกเบี้ย 5 ปีแรก 5.00% ต่อปี  จ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 6 เดือน เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป และ/หรือผู้ลงทุนสถาบันในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้

                  ทั้งนี้ ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด และมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ โดยผู้ออกหุ้นกู้สามารถใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดในวันครบกำหนด 5 ปี หรือตามเงื่อนไขอื่นๆ ที่กำหนดไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลฯ และร่างหนังสือชี้ชวน โดยบริษัทฯ อยู่ระหว่างการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนสำหรับการออกและเสนอขายหุ้นกู้ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ซึ่งยังไม่มีผลใช้บังคับ และบริษัทฯ ให้ความไว้วางใจในการแต่งตั้ง ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร และบริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส เป็นผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ในครั้งนี้

\'บ้านปู\' ยื่นแบบไฟลิ่ง เตรียมออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ


                 บ้านปูฯ ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter ด้วยความมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ดำเนินธุรกิจใน 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศมองโกเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม ครอบคลุม 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ครอบคลุมทั้งพลังงานถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การตลาด การค้า                   โลจิสติกส์  การจัดหาเชื้อเพลิง และสายส่ง กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ประกอบด้วย ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจร ระบบจัดเก็บพลังงาน และระบบการจัดการเทคโนโลยีพลังงาน 
       

        ในส่วนของกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน ณ ปัจจุบัน มีโรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมด 33 แห่ง แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) แล้ว 24 แห่ง และอยู่ระหว่างการพัฒนา 9 โครงการ กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 2,900 เมกะวัตต์เทียบเท่า คิดเป็นกำลังผลิตที่ COD แล้ว 2,247 เมกะวัตต์เทียบเท่า สำหรับปี 2563 บริษัทฯ คาดว่าจะมีโรงไฟฟ้าที่ COD เพิ่มอีก 4 แห่ง กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 451 เมกะวัตต์เทียบเท่า ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวงในจีน โรงไฟฟ้าพลังงานลม ระยะที่ 1 ในเวียดนาม โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยามางาตะ (Yamagata) และยาบูกิ (Yabuki) ในญี่ปุ่น
           “ในปี 2563 บ้านปูฯ ตั้งเป้าใช้งบลงทุนราว 930 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะเน้นการลงทุนขยายธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับซื้อแหล่งก๊าซ ที่เหลือเป็นการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 170 ล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ และธุรกิจถ่านหิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ  ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของกลุ่มบริษัทบ้านปูฯ มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เพื่อต่อยอดวิสัยทัศน์ขององค์กรที่มุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงาน ที่มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี และความยั่งยืน ที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้นักลงทุนและผู้มีส่วน        ได้เสียในทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืนต่อไป” นางสมฤดีกล่าว
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ