"อนุดิษฐ์" บอกรัฐบาล จองศาลาวัดรอสวด หากไม่ปรับงบฯ เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจ เย้ยโครงการแจกเงินฉลาดน้อย ปชช. ไร้อนาคต ด้าน "เกียรติ" แนะให้ทบทวนงบฯ เพื่อลงทุนน้อย ได้กำไรมาก ด้าน "ศิริกัญญา" ห่วงรัฐบาลโกง งบ อทป. ตั้งสังเกตจัดงบเพื่อเป็นทางผ่าน แนะให้ปรับงบ 2.5แสนล้านบาท ให้เป็นส่วนที่สภาฯ ตรวจสอบได้
รัฐสภา / เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 62 - ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ตลอดช่วงบ่าย ยังเป็นการอภิปรายซึ่งเน้นให้ถึงความไม่เหมาะสมสำหรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ขาดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม
โดยน.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนขอตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นที่รัฐบาลใช้งบประมาณขององค์กรส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในส่วนเงินสะสมรวมกว่า 6 แสนล้านบาท เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เสียวินัยการคลัง และตรวจสอบไม่ได้ ดังนั้นถือเป็นการใช้เงินอย่างไร้ประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าการใช้เงินสะสมของ อปท. ดังกล่าว เพื่อต้องการเลี่ยงการกู้เงินเพื่อมาชดใช้หนี้ที่มีเพดาน7แสนล้านบาทหรือไม่ ทั้งนี้ในการเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2563 อาจเข้าข่ายการก่อหนี้เพื่อชดเชยงบประมาณสูงกว่าเพดานที่กฎหมายกำหนด โดยล่าสุดพบตัวเลขที่รัฐบาลเตรียมกู้เงินแล้ว จำนวน 4.69 แสนล้านบาท ขณะที่การบริหารราชการของรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศมีความเหลื่อมล้ำ สูงที่สุดในโลก
ทั้งนี้ตั้งแต่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ บริหารประเทศตั้งแต่ปี 2558 - 2562 พบการกู้เงินมากกว่า 2ล้านล้านบาท การใช้งบประมาณจำนวนมากของรัฐบาล แต่ผลลัพท์ยังพบคนจนเพิ่มมากขึ้น โดยล่าสุดพบการลงทะเบียนคนจนสูงถึง 14.5 ล้านคน ขณะที่นโยบายแจกเงินเพื่อท่องเที่ยว ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องของการกระตุ้นเศรษฐกิจ และตนมองว่าเป็นการใช้เงินที่ฉลาดน้อย เพราะไม่ใช่การลงทุนที่ทำให้ประชาชนเห็นอนาคต ทั้งนี้ตนเชื่อว่าวิกฤตเศรษฐกิจในปีหน้าจะสาหัสกว่าปัจจุบันและที่ผ่านมา แต่การจัดสรรงบประมาณ ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ.2563 ตนมองว่าสิ้นหวัง เพราะไม่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และตนขอให้นำกลับไปทบทวน เพราะหากยังจัดสรรงบประมาณที่เสนอ ตนแนะนำให้จองศาลาวัดเพื่อรอสวดได้
"พบการตัวเลขการก่อหนี้ที่สวนทาง ปี 2563 กู้เงิน 4.69 แสนล้านบาท ผ่าน ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ รัฐบาลระบุว่าขอให้เห็นใจกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะปัจจัยภายนอก คือ สงครามการค้า ปัญหาเศรษฐกิจของไทยเรื้อรังตั้งแต่หลังรัฐประหาร ผมมีข่าวร้ายต้องบอกประชาชน เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ได้แก่ การส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุน ดับสนิท จากปัญหาน้ำท่วมภาคอีสานจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจของไทยย่ำแย่ ทั้งนี้รัฐบาลอาจใช้การกระตุ้นรายจ่ายภาครัฐ หรือ การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี อาจเป็นทางเลือกสุดท้าย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องจัดลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุน ไม่ใช่การใช้จ่ายเงินแบบแปะโปะ เพื่อกลับไปใช้นโยบายแจกเงินเหมือนที่รัฐบาลถนัด" น.อ.อนุดิษฐ์ อภิปราย
ขณะที่นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายเสนอแนะให้ปรับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้เกิดการลงทุนที่น้อย แต่ได้ผลกำไรมาก รวมถึงขอให้การกำหนดงบประมาณเพื่อดำเนินนโยบายเพื่อคนรุ่นต่อไปไม่ใช่การเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยในชั้นกมธ. ขอให้ทบทวนและปรับตัวเลขงบประมาณเพื่อให้เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้โครงการแจกเงินที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะกระตุ้นเศษฐกิจถือเป็นการลงทุนที่ใช้เงินจำนวนมาก แต่ได้ผลลัพท์น้อย
ส่วน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายต่อเนื้อหาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ในส่วนของงบประมาณท้องถิ่น (อปท.) ที่มีลักษณะโดนโกง 3 เด้ง ในส่วนของการโอนรายได้ให้ท้องถิ่น ที่กำหนดให้เป็นสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รัฐบาล แต่การจัดสรรงบประมาณดังกล่าวมีลักษณะเป็นงบทางผ่าน คือ เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยผู้พิการ นมโรงเรียน เป็นต้น สำหรับการประมาณการณ์รายได้ของ อปท. มีรายได้มาจาก อปท. จัดเก็บได้เอง, รัฐส่วนกลางจัดเก็บแบ่งให้ และเงินอุดหนุน โดยการคาดการณ์รายได้ปี 2563 เชื่อว่าจะพลาดเป้าเพราะประเมินตัวเลขที่ 7.1 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ปี 2562 อทป. จัดเก็บรายได้เพียง 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นต้องจัดเก็บรายได้เพิ่มอีก 3.1 หมื่นล้านบาท ทั้งที่สำนักงบประมาณระบุว่าจะเก็บเพิ่มได้เพียง 1.1หมื่นล้านบาทเท่านั้น สำหรับร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2563 ที่ตรวจสอบว่ามีจำนวนที่สภาฯ ไม่สามารถตรวจสอบได้ ที่จำนวน 2.5แสนล้านบาท อาทิ เงินนอกงบประมาณ , ค่าใช้จ่ายภาษี ดังนั้นขอให้ปรับลดเพื่อให้อยู่ในส่วนที่สภาฯ สามารถตรวจสอบได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง