ข่าว

มนัญญา ลั่น เดินหน้าทุกสหกรณ์ปลอดเคมี ลูกหลานเกษตรกรคืนถิ่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

47 ปี กรมส่งเสริมสหกรณ์"มนัญญา"ชูเศรษฐกิจพอเพียง เดินหน้าทุกสหกรณ์ปลอดเคมี ลูกหลานเกษตรกรคืนถิ่น

 

2 ตุลาคม 2562  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์ ครบรอบ 47 ปี  ณ บริเวณลานหน้าพระอนุสาวรีย์กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทวศร์ กรุงเทพฯ 

 

โดยมีนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี ถวายพานพุ่มสักการะพระอนุสาวรีย์พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย อ่านสารรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์ ครบรอบ 47 ปี และเชิญเครื่องราชอิสริยาภรณ์วางบนพานที่โต๊ะหมู่บูชา พร้อมทั้งยังให้นโยบายแนวทางการปฏิบัติงานแก่บุคลากรของกรมส่งเสริมสหกรณ์

 

ทั้งนี้นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์ ครบรอบ 47 ปี ขอให้ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการส่งเสริมงานสหกรณ์ ทรงให้ความสำคัญกับงานสหกรณ์เป็นอย่างมาก เพราะสหกรณ์เป็นองค์กรที่มีความสำคัญที่จะช่วยดูแลเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งเน้นให้สหกรณ์ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค และกำลังประสานความร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อหาช่องทางตลาดให้กับสหกรณ์ เพราะหากสามารถทำให้สหกรณ์มีรายได้เพิ่มจากการค้าขายและการทำธุรกิจ จะส่งผลที่ดีกลับไปยังเกษตรกรที่เป็นสมาชิกด้วย

 

นโยบายสำคัญของรัฐบาลต้องการสนับสนุนให้สหกรณ์มีความเข้มแข็ง  แต่เมื่อลงพื้นที่ไปยังจังหวัดต่าง ๆ  พบว่า มีคนแก่เลี้ยงหลานจำนวนมาก เพราะพ่อแม่ของเด็ก ต้องไปทำงานในเมืองใหญ่ ทำให้ต้องปล่อยลูกไว้กับพ่อแม่ที่แก่เฒ่า  ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะดึงคนเหล่านี้ให้กลับบ้านมาดูแลครอบครัว  กลับมาดูแลลูก ดูแลพ่อแม่เค้าเอง ตอนนี้เรากำลังคิดโครงการที่จะสร้างรายได้ให้กับคนเหล่านี้ โดยผ่านขบวนการสหกรณ์  ให้สหกรณ์เป็นพี่เลี้ยงให้เขาได้ยืน ได้มีรายได้ที่มั่นคง

 

 

มนัญญา ลั่น เดินหน้าทุกสหกรณ์ปลอดเคมี ลูกหลานเกษตรกรคืนถิ่น

 

 

ทั้งนี้ให้แต่ละสหกรณ์ไปดูโดยจะใช้ระบบตลาดนำการผลิตซึ่งจะใช้ระบบเกษตรอินทรีย์มาเป็นตัวตั้งตามแนวทางคือช่วยเหลือการสร้างอาชีพรายได้แก่เกษตรกรอย่างมั่นคงซึ่งจะเป็นการช่วยให้คนรุ่นใหม่ที่รักอาชีพเกษตรกรรมไม่ทิ้งถิ่นฐาน ขณะเดียวกันจะให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ผลักดันการเปลี่ยนแนวคิดการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความต้องการของตลาด  รวมทั้ง ส่งเสริมให้กรมส่งเสริมสหกรณ์บูรณาการความร่วมมือกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในการจัดทำข้อมูลระดับของสหกรณ์ A B C เพื่อเป็นข้อมูลให้เกษตรกรได้ตัดสินใจที่จะร่วมลงทุน และได้รับทราบความเคลื่อนไหวของสหกรณ์ในแต่ละแห่ง 

 

สำหรับแนวทางปฏิบัติงานในปี 2563 ได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้สหกรณ์ทุกแห่งปลอดสารเคมีและส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งจะจัดทำโครงการสนับสนุนให้เกษตรกรคืนถิ่นกลับบ้าน ตามที่กล่าวมาแล้ว โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นแกนกลางในการบูรณาการพื้นที่ให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับเกษตรกรที่มีที่ดินทำกินอยู่ต่างจังหวัด มีใจรักในภูมิลำเนาของตน แต่ต้องมาทำงานที่กรุงเทพฯ และมีความต้องการอยากกลับไปดูแลพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย กระทรวงเกษตรฯ จะเข้าไปส่งเสริมและบูรณาการให้เกษตรกรเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์ สนับสนุนการรวมกลุ่มการผลิตตลอดทั้งจัดหาตลาดรองรับ โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำแก่เกษตรกร พร้อมทั้งส่งเสริมหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เกษตรกรได้มีอาชีพที่ยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 

 

นายพิเชษฐ์  วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนโครงการส่งเสริมอาชีพให้กับลูกหลานสหกรณ์แต่ละสหกรณ์ จะเปิดให้ผู้สนใจมาประสานงานในสหกรณ์ในพื้นที่เดิมพ่อแม่เป็นสมาชิกอยู่แล้วก็สามารถแสดงความจำนง ได้ทันที่ในแต่ละสหกรณ์ ซึ่งต้องเป็นคนที่ต้องการกลับบ้านเกิดจริง ๆ และพร้อมจริง ๆ เราพร้อมที่จะให้การแนะนำและส่งเสริมให้สามารถเดินได้ตามแนวทางสหกรณ์ตามความเหมาะสม

 

มีตัวอย่างให้เห็นว่าทำสำเร็จมาแล้วมีครอบครัวหนึ่ง ที่จังหวัดอุทัยธานี ที่มาทำงานกรุงเทพฯและมีหนี้สิน อยู่อยากกลับมาทำอะไรที่บ้านเกิด สหกรณ์ก็ไปแนะนำให้ปลูกผักอินทรีย์เพื่อจำหน่ายตอนนี้เค้าก็ปลดหนี้ได้แล้วขอให้มีความจริงใจ กรมฯพร้อมช่วยแนะแนวทางให้เต็มที่ เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ถ้าจริใจตั้งใจจะทำสำเร็จเพราะ เกษตรกรรุ่นใหม่จะทำงานเป็นระบบที่มองเรื่องการตลาดเป็นคิดว่าจะมีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น

 

 

มนัญญา ลั่น เดินหน้าทุกสหกรณ์ปลอดเคมี ลูกหลานเกษตรกรคืนถิ่น

 


สำหรับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ถือเป็นหน่วยงานสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2515 มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน แนะนำ กำกับ และดูแลระบบสหกรณ์ของประเทศไทย ภายใต้วิสัยทัศน์  “การสหกรณ์มั่นคง สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเข้มแข็ง เศรษฐกิจและสังคมของชุมชนยั่งยืน” ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนสหกรณ์ 7 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนและสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมกันกว่า 8,097 แห่ง เป็นสหกรณ์ภาคเกษตร 4,547 แห่ง นอกภาคเกษตร 3,550 แห่ง สมาชิก 11.6 ล้านคน

 

สมาชิกภาคการเกษตร 6.7 ล้าน นอกภาคเกษตร 4.9 ล้านคน มีทุนดำเนินการ 3.1 ล้านล้านบาท และปริมาณธุรกิจ 2.5 ล้านล้านบาทในปีงบประมาณ 2563 กรมส่งเสริมสหกรณ์มีแนวทางในการขับเคลื่อนงาน มุ่งเน้นงานด้านการส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพการผลิต จะมีการบริหารจัดการแปลงใหญ่ของสหกรณ์แบบครบวงจร ใช้วิทยาการสมัยใหม่ สนับสนุนสหกรณ์ใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรที่มีความแม่นยำสูง

 

โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว ส่งเสริมให้สหกรณ์มีการแปรรูปผลผลิตของสหกรณ์เพื่อเพิ่มมูลค่า จนได้รับมาตรฐาน GMP มีการเพิ่มศักยภาพการตลาดสินค้าของสหกรณ์ สร้างเครือข่ายกลุ่มสินค้าเกษตร โดยเริ่มพัฒนาการค้าผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ในเว็บไซต์ C0-OP shop ที่กำลังพัฒนาเพื่อให้เป็นช่องทางในการโปรโมทสินค้าสหกรณ์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการและเลือกซื้อสินค้าจากสหกรณ์ต่าง ๆ ได้ จะเริ่มให้มีการบ่มเพาะความรู้ในการค้าผ่านช่องทางดังกล่าว และผลักดันให้เกิดตลาดเกษตรกรในสหกรณ์ตามพื้นที่ต่างๆ รวมถึงจัดตั้งซุปเปอร์มาเก็ตสหกรณ์ ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่ๆ โดยจะเป็นแหล่งจำหน่ายพืชผักผลไม้ สินค้าและผลผลิตต่าง ๆ จากสหกรณ์ทั่วประเทศมารวมไว้ให้ผู้บริโภคได้ไปเลือกซื้อได้อย่างสะดวก เพื่อเพิ่มช่องทางตลาดจำหน่ายผลผลิตและสินค้าของสมาชิกสหกรณ์

 

 

มนัญญา ลั่น เดินหน้าทุกสหกรณ์ปลอดเคมี ลูกหลานเกษตรกรคืนถิ่น

 


ด้านการส่งเสริมและพัฒนาด้านองค์กร กรมฯ จะมีการกำหนดมาตรการกำกับ ดูแล ตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ติดตามเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการเกิดข้อบกพร่อง วางระบบการตรวจสอบสหกรณ์อย่างเข้มข้น มีการพัฒนาระบบการรายงานข้อมูลทางการเงินของสหกรณ์แบบเชิงคุณภาพ และมีการจัดการและแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิก ทั้งสหกรณ์ภาคการเกษตร และสหกรณ์นอกภาคการเกษตร พัฒนาอาชีพตามความต้องการของตลาด สนับสนุนเงินทุน ปัจจัยพื้นฐานในการประกอบอาชีพ และเพิ่มศักยภาพสหกรณ์ให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่สมาชิก รวมทั้งส่งเสริม พัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการหลวง เน้นให้มีการบริหารงานด้วยความโปร่งใส ไร้ทุจริต และนำโมเดลบันได 7 ขั้น เข้าไปส่งเสริม และพัฒนาสหกรณ์ในพื้นที่โครงการหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้มีความเข้มแข็ง สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่ให้มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ที่ยั่งยืนต่อไป
 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ