ข่าว

โรคนี้ห้ามนวดเด็ดขาด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เช็คกันและกัน ตรวจสอบก่อนนวด กรมสบส.แนะทั้งผู้ให้ ผู้รับบริการสอบถามสุขภาพกันเอง ป้องกันเหตุไม่คาดคิด

 

28 สิงหาคม 2562 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะผู้ให้-รับบริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ตรวจสอบซึ่งกันและกัน  ช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อสุขภาพ ป้องกันการบาดเจ็บระหว่างการนวด  

 

 

โดยผู้ให้บริการควรตรวจประเมินสุขภาพผู้รับบริการทุกครั้ง ส่วนผู้รับบริการเองก็ควรตรวจสอบหลักฐานสถานประกอบการเพื่อสุขภาพว่าถูกต้องเป็นไปตามมาตรฐานก่อนตัดสินใจรับบริการ

 

นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การนวดเป็นศาสตร์ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน มีการนำศาสตร์การนวดมาใช้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ หรือผ่อนคลายความเหนื่อยล้าจากการเรียนหรือการทำงาน แม้วิทยาการทางการแพทย์จะก้าวหน้าไปอย่างมากแต่ความนิยมในบริการที่เกี่ยวข้องกับการนวดก็มิได้เสื่อมถอยลงแต่อย่างใด

 

กลับกันกับมีแนวโน้มที่ผู้เข้ารับบริการจะเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี และด้วยการที่มีผู้รับบริการจำนวนมากจึงอาจทำให้ผู้ให้บริการ หรือหมอนวดบางรายอาจจะหลงลืมหรือละเลยขั้นตอนสำคัญที่ควรทำทุกครั้งก่อนที่จะให้บริการนั่นก็คือ การตรวจประเมินสภาพร่างกายของผู้รับบริการซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการประเมินแนวทางการนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพหรือผ่อนคลายได้อย่างถูกต้อง ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที แต่สามารถเพิ่มความปลอดภัยต่อสุขภาพ ร่างกาย และป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดระหว่างการนวดเพื่อสุขภาพได้ โดยซักประวัติอาการป่วย 

 

หากพบว่าผู้รับบริการมีอาการดังต่อไปนี้ อาทิ 1.สตรีมีครรภ์ ในระยะ 1-3 เดือนแรกและ 3 เดือนก่อนคลอด 2.ผู้ป่วยโรคมะเร็ง 3.ผู้ป่วยโรคหัวใจ 4.ผู้มีความดันโลหิตสูง 5.ผู้มีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส 6.มีอาการบาดเจ็บ อักเสบจากการติดเชื้อ กระดูกแตก หัก ปริ ร้าว ข้อเคลื่อน ก็ควรชี้แจงทำความเข้าใจ และไม่ให้บริการนวดเพื่อสุขภาพโดยเด็ดขาดเพราะอาจเกิดอันตรายระหว่างการให้บริการได้  

 

 

นายแพทย์ภัทรพล กล่าวต่อว่า นอกจากผู้ให้บริการที่ควรจะเพิ่มความรัดกุมก่อนการให้บริการด้วยการตรวจประเมินแล้ว ประชาชนผู้รับบริการเองก็ควรสละเวลาสักนิดตรวจสอบสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ตนจะเข้ารับบริการเพื่อความมั่นใจว่าสถานประกอบการเพื่อสุขภาพดังกล่าวได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการจากกรม สบส.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

 

ทั้งนี้จากหลักฐาน 3 ประการ ได้แก่ 1.มีการแสดงสติ๊กเกอร์มาตรฐาน สบส.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ตามประเภทกิจการ ให้เห็นชัดเจนที่จุดบริการ 2.มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ 3.มีการแสดงใบอนุญาตผู้ดำเนินการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (กรณี สถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทสปา) และหากประชาชนมีข้อสงสัยว่าผู้ให้บริการมีคุณสมบัติที่จะให้บริการนวดครบถ้วนหรือไม่ สามารถขอตรวจสอบทะเบียนผู้ให้บริการจากเจ้าของสถานประกอบการฯ หรือผู้ดำเนินการได้อีกด้วย

 

ทั้งนี้ เพื่อความมั่นใจประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการ ผู้ดำเนินการ สถานประกอบการเพื่อสุขภาพขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และรายชื่อหลักสูตรที่ผ่านการรับรองได้ที่เว็บไซต์ของกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (spa.hss.moph.go.th) โดยคลิ๊กที่ "ข้อมูลผู้ยื่นขึ้นทะเบียน/หลักสูตร/สถาบัน" ซึ่งอยู่ด้านบนของหน้าเว็บไซต์    

 

 

    

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ