ข่าว

นำร่อง"ตลาดเกษตรกรถาวร"ต้นแบบเมืองรถม้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิด"ตลาดเกษตรกรถาวร"เมืองรถม้า จังหวัดนำร่องตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัย

 

             จากนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้พยายามผลักดันจัดตั้ง “ตลาดเกษตรกร" เพื่อเป็นช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผลผลิตจากแปลงผลิต โดยสนับสนุนให้ทุกจังหวัดมีสถานที่จำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้รับการรับรองมาตรฐาน ผ่านกลไกสำนักงานเกษตรจังหวัด ซึ่งจะรับหน้าที่เป็นผู้จัดการตลาดเกษตร ขับเคลื่อนและผลักดันตลาดเกษตรกรให้เป็นช่องทางการซื้อการขายผลผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพในระดับพื้นที่ที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเกษตรกรผู้ผลิตได้โดยตรง

นำร่อง"ตลาดเกษตรกรถาวร"ต้นแบบเมืองรถม้า

นำร่อง"ตลาดเกษตรกรถาวร"ต้นแบบเมืองรถม้า

 

            การเกิดขึ้นของตลาดเกษตรกร หรือ ศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการตลาดสินค้าเกษตร เริ่มดำเนินการในเบื้องต้นใน 40 จังหวัดที่มีความพร้อม เป็นการเปิดลานโล่งหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ หรือในสถานที่ราชการ โดยการกางเต็นท์ให้เกษตรกรมาวางจำหน่ายสินค้า เป็นช่องทางหนึ่งที่จะสร้างองค์ความรู้ในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้แก่เกษตรกรที่มีศักยภาพได้เรียนรู้พัฒนาทักษะด้านการตลาด ทั้งการพัฒนาตลาดเดิมที่มีอยู่ หรือหาแหล่งจัดสร้างตลาดใหม่ๆ ที่อยู่ในเขตชุมชนหรือแหล่งท่องเที่ยวที่มีความพร้อมในการบริหารจัดการ และจากเสียงตอบรับจากเกษตรกร และผู้บริโภค 

             จากนั้นจึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการนำร่องตลาดเกษตรถาวรขึ้นใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำปาง พิจิตร ราชบุรี กาญจนบุรี ชัยภูมิ และกระบี่ โดยนำสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรในโครงการต่างๆ อาทิ โครงการส่งเสริมการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ เกษตรทฤษฎีใหม่ รวมถึงสินค้าจากกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน Yong Smart Farmer 

นำร่อง"ตลาดเกษตรกรถาวร"ต้นแบบเมืองรถม้า

             “ตลาดเกษตรกรถาวร จังหวัดลำปาง เป็นอีกตัวอย่างของการบริหารจัดการ ที่จับต้องได้ โดยมีจุดเด่นเป็นตลาดเกษตรที่จำหน่ายสินค้าที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ไม่มีสารพิษตกค้าง อาทิ มาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย มาตรฐาน GAP เกษตรอินทรีย์ และ PGS ระบบประกันคุณภาพในระดับท้องถิ่น อย. มผช. HACCP ส่วนประเภทอาหารปรุงสุก จะต้องผ่านการอบรมสุขาภิบาลอาหาร การบริหารจัดการพื้นที่ตลาด โดยมีคณะกรรมการตลาดเกษตรกรทำหน้าที่ในการบริหารจัดการเก็บค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและบำรุงรักษาในรูปแบบกองทุนกลุ่ม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคต่างๆ”

              สำราญ สารบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงเป้าหมายของโครงการตลาดเกษตรกรถาวร ที่มุ่งเน้นการดูแลพื้นที่ร่วมกัน มีการบริหารจัดการในรูปของคณะกรรมการฯ โดยผู้จำหน่ายสินค้าในตลาดเกษตรกรผ่านกระบวนการเรียนรู้บริหารจัดการสินค้าเกษตรและเป็นเกษตรกรตัวจริงและสมาชิกกลุ่มส่งเสริมของหน่วยงาน ภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ใช่ผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจแต่อย่างใด 

             โดยเฉพาะลำปางถือได้ว่าเป็นจังหวัดต้นแบบในการนำร่องตลาดเกษตรกรถาวรให้แก่จังหวัดอื่นๆ เนื่องจากมีความพร้อมทั้งในเรื่องสถานที่ตั้งและผู้จัดจำหน่ายที่เป็นเกษตรกร  โดยตลาดดังกล่าวเป็นการสร้างองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ได้เรียนรู้ทางด้านการผลิตและความต้องการทางการตลาด ด้วยการขายสินค้า กำหนดราคาจำหน่ายสินค้าได้ด้วยตนเองในราคาที่เป็นธรรม และยังได้พบปะผู้บริโภคเพื่อนำสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการไปพัฒนาผลผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อันจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตัวสินค้า ช่วยขยายช่องทางทางการตลาดและบริการ ซึ่งจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น  

             อภิรักษ์ หลักชัยกุล ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมธุรกิจการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” ถึงที่มาโครงการตลาดเกษตรกรถาวรว่าเป็นการต่อยอดจากศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการตลาดสินค้าเกษตร 77 จังหวัด เพื่อให้เกษตรกรได้มาเรียนรู้การบริหารจัดการเรื่องตลาดด้วยตัวเองตามนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคัดเลือกจังหวัดที่มีความพร้อมในการดำเนินการ เบื้องต้นมีจำนวน 40 จังหวัด จากนั้นจึงเฟ้นหาจังหวัดนำร่องที่มีความพร้อมมากที่สุด 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำปาง พิจิตร ราชบุรี กาญจนบุรี ชัยภูมิ และกระบี่

             “จริงๆ แล้วในแต่ละจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดก็มีตลาดเกษตรกรของศูนย์ฯ อยู่แล้วและมีการแจ้งยอดรายได้มายังกรมทุกเดือน จะเห็นว่ายอดรายได้ตั้งแต่ปี 2558-2562 อยู่ที่ประมาณ 600 กว่าล้านบาท และแค่ไตรมาสแรกปี 2562 (ม.ค.-มี.ค.) แจ้งรายได้เข้ามา 71 ล้านบาท”

             ในขณะตลาดเกษตรกรถาวรนั้น อภิรักษ์เผยว่าเป็นการต่อยอดมาจากตลาดเดิมเพียงแต่ได้ขยายพื้นที่เพิ่มให้เป็นตลาดถาวร ขณะที่เกษตรกรก็มีประสบการณ์ได้เรียนรู้การบริหารจัดการด้านการตลาดเดิมมาระดับหนึ่งแล้ว การก้าวมาสู่ตรงนี้จะทำให้เกษตรกรมีความเป็นมืออาชีพในเรื่องการบริหารจัดการเรื่องการตลาดมากขึ้น

             “ตลาดถาวรตอนนี้ที่เปิดตลาดไปแล้วมี 5 จังหวัด ซึ่งผลตอบรับดีมากยังเหลืออีก 2 จังหวัดคือ เชียงราย กับ ราชบุรี ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปีนี้ ส่วนงบประมาณดำเนินการเฉลี่ยจังหวัดละ 15 ล้านบาทสำหรับการก่อสร้างตัวอาคาร ลานจอดรถ ห้องน้ำและอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือในการอำนวยความสะดวกต่างๆ” ผอ.กลุ่มส่งเสริมธุรกิจการเกษตรเผย พร้อมย้ำว่าทุกจังหวัดยังมีการตรวจสารพิษตกค้างในสินค้าด้วยเพื่อความมั่นใจของผู้บริโภค

             อนุชา ยาอืด เกษตรจังหวัดลำปาง เผยถึงการเปิดตลาดเกษตรกรถาวรว่าจะเป็นช่องทางการตลาดอย่างดีให้แก่เกษตรกรในพื้นที่สามารถนำผลผลิตมาจำหน่าย ภายใต้สโลแกน “เกษตรกรตัวจริง ทุกสิ่งปลอดภัย” ซึ่งหมายถึงสินค้าเกษตรที่นำมาจำหน่ายในตลาดจะต้องเป็นสินค้าปลอดภัยที่ได้รับการรองจากมาตรฐานจีเอพี (GAP) โดยตลาดเกษตรกรถาวร จ.ลำปาง ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 3 ไร่เศษ บริเวณหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัด โดยเปิดให้บริการทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 06.00-14.00 น. ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวน 109 ราย และเริ่มเข้ามาขายแล้วกว่า 84 ราย สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาขาย สินค้าเป็นประเภทผัก ผลไม้ ผักพื้นบ้าน สินค้าแปรรูป อาหารปรุงสุกพร้อมรับประทาน มีเงินสะพัดในตลาดกว่า 162,920 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562) 

              “ตลาดเรามีพื้นที่อยู่ 120 ล็อก ตอนนี้มีเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกทยอยเข้ามาขายเกือบเต็มพื้นที่แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นพืชผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเกษตร ตอนนี้ขาดแต่ประเภทเนื้อสัตว์แปรรูป ซึ่งลูกค้าที่มาเดินตลาดเรียกร้องเข้ามาเป็นจำนวนมากว่ามาตลาดครั้งเดียวจะได้ซื้อครบเลย ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการกำลังพิจารณาคัดเลือกคนขายอยู่ เพราะเราไม่ต้องการพ่อค้าแม่ขายที่ทำธุรกิจมาขาย อยากได้เกษตรกรเจ้าของฟาร์มเลี้ยงโดยตรง”

              เกษตรจังหวัดลำปางเผยขั้นตอนการคัดเลือกเกษตรกรที่มาจำหน่ายสินค้าในตลาดนั้นจะต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรเท่านั้น และอยู่ในพื้นที่จ.ลำปาง ส่วนคณะกรรมการตลาดจะมาจากตัวแทนเกษตรกรในแต่ละอำเภอ มาทำหน้าที่บริหารจัดการตลาด โดยจะไม่มุ่งเน้นในเชิงธุรกิจ แต่จะบริหารจัดการให้ตลาดอยู่ได้ โดยจะเก็บค่าเช่ากับผู้จำหน่ายแต่ละรายในอัตรา 200 บาทต่อเดือน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิ ค่าน้ำประปา ค่าไฟไฟ้า ค่าเก็บขยะ เป็นต้น

             “เหตุผลที่เราเปิดเฉพาะช่วงเสาร์-อาทิตยฺ์ เพราะอยากจะทดลองตลาดก่อนว่าไปได้หรือไม่ ถ้าไปได้ก็ค่อยเพิ่มวันขาย แต่ตอนนี้เริ่มจากเสาร์-อาทิตย์ก่อน ส่วนเวลาเปิด-ปิดเริ่มจากหกโมงเช้าถึงบ่ายสองก็เพราะเกษตรกรบางรายอยู่ในอำเภอไกล การเดินทางต้องใช้เวลานาน แล้วอีกอย่างบริเวณใกล้ๆ กันก็มีตลาดที่เปิดในช่วงเย็นอยู่แล้วด้วย มันก็จะซ้อนกัน”

            อนุชาย้ำว่า ปัญหาตอนนี้ไม่ใช่เรื่องเวลาการจำหน่าย แต่ที่เป็นปัญหาคือสินค้าขาดตลาด  บางรายสินค้ายังไม่ทันวางจำหน่ายก๋็มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อต่อแล้ว หรือบางรายจำหนายหมดลงก่อนบ่ายสองโมง ตลาดยังไม่ปิดทำการ ทำให้ล็อกนั้นก็จะว่างลงทันที  ซึ่งตรงนี้ก็เป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน  โดยหลังจากนี้จะมีการประเมินกันอีกครั้งว่าจะแก้ไขอย่างไรต่อไปกับปัญหาที่เกิดขึ้น 

       

            “ผมจะลงมาตรวจดูทุกวันเสาร์-อาทิตย์ มารับฟังปัญหาเพื่อจะได้นำไปแก้ไขได้อย่างทันท่วงที เพราะการทำตลาดไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาและทำแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็ดีใจที่วันนี้ตลาดเราไปได้ มีสินค้าที่หลากหลาย ลูกค้าก็พอใจ สินค้าก็ได้มาตรฐานปลอดภัย เราจะมีการสุ่มตรวจสารพิษตกค้างด้วย หากเจอก็จะให้ใบเหลือง ถ้าตรวจเจอซ้ำอีกก็จะยกเลิกผู้ค้ารายนั้นทันที โดยจะให้เกษตรกรายอื่นเข้ามาขายแทน ซึ่งเรื่องความปลอดภัยเราให้ความสำคัญมาก” เกษตรกรจังหวัดลำปางกล่าวย้ำ

             อย่างไรก็ตามการตั้งตลาดเกษตรกรถาวรที่จังหวัดลำปาง น่าจะเป็นตลาดต้นแบบให้แก่จังหวัดอื่นๆ ในการที่สร้างองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ได้เรียนรู้ทางด้านการผลิตและความต้องการทางการตลาด ด้วยการขายสินค้า กำหนดราคาจำหน่ายสินค้าได้ด้วยตนเองในราคาที่เป็นธรรม และยังได้พบปะผู้บริโภคเพื่อนำสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการไปพัฒนาผลผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อันจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตัวสินค้า ช่วยขยายช่องทางทางการตลาดและบริการ ซึ่งจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ