ข่าว

สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ ฉบับ'พรายพล'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ ฉบับ'พรายพล' พรรคคะแนน 3 หมื่นอัพได้อานิสงส์

 

          ในขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่เปิดเผยวิธีคิดคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ออกมา ศ.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ได้นำเสนอให้สังคมได้เห็นอีก 1 สูตรผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Praipol Koomsup” ในหัวข้อ “ส.ส.บัญชีรายชื่อคำนวณอย่างไร” ซึ่งมีใจความดังนี้

 

          ...การนับคะแนนจากการออกเสียงในวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 น่าจะเกือบเสร็จ สิ้นสมบูรณ์ไปแล้วแต่ผลการเลือกตั้งที่ประกาศโดย กกต. ยังสร้างความสับสนให้กับสาธารณชนอยู่

 

สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ ฉบับ\'พรายพล\'

 

          ถึงแม้ว่าผลคะแนนเลือกตั้งที่ กกต.ประกาศยังไม่เป็นทางการ แต่จำนวน ส.ส.แบ่งเขตที่ประกาศออกมาดูจะแน่นอนแล้ว คือ พรรคเพื่อไทยได้มากที่สุดถึง 137 ที่นั่ง และพรรคพลังประชารัฐได้เป็นที่ 2 คือ 97 ที่นั่งส่วนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ประกาศมานั้น กกต.ยังไม่อธิบายและเปิดเผยสูตรการคำนวณ จึงทำให้มีข้อสงสัยว่า เป็นจำนวนตัวเลขที่ถูกต้องตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่ อย่างไร

 

          ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ในรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นระบบสัดส่วนผสม หรือ mixed member proportional system ซึ่งกำหนดให้มีสมาชิกทั้งหมดจำนวน 500 คน โดยมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน และเป็นแบบบัญชีรายชื่ออีก 150 คน

 

           ผู้ออกเสียงลงคะแนนเพื่อเลือกส.ส.แบ่งเขต แล้วนำเอาคะแนนของทุกเขตมารวมเป็นคะแนนของแต่ละพรรคเพื่อหาสัดส่วนว่า แต่ละพรรคจะ “พึงมี” ส.ส.ได้กี่คนจากจำนวนทั้งหมด 500 คน

 

           หากพรรคใดได้จำนวน ส.ส.แบ่งเขตน้อยกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคจะพึงมีก็จะได้รับการจัดสรรเพิ่มจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้รวมกันเท่ากับจำนวน ส.ส.ที่พรรคจะพึงมี แต่ถ้าได้จำนวน ส.ส.แบ่งเขตมากกว่าหรือเท่ากับจำนวนที่จะพึงมีก็จะไม่ได้รับการจัดสรรเพิ่มจำนวน

 

จำนวนส.ส.สะท้อนคะแนน

           วัตถุประสงค์หลักของระบบการเลือกตั้งนี้ ก็เพื่อให้จำนวนส.ส.ของแต่ละพรรคมีสัดส่วนที่สะท้อนคะแนนเลือกตั้งให้มากที่สุดนั่นเอง เช่น พรรคใดได้คะแนนเสียงเป็น 10% ของการออกเสียงทั้งหมด (คือ 10% ของ 35.5 ล้านเสียง หรือ 3.55 ล้านเสียง) ก็ควรมี ส.ส. รวมจำนวน 50 คน (10% ของ 500 คน)

 

           ในฐานะที่ผมเป็นผู้ศึกษาและติดตามระบบการเลือกตั้งแบบนี้มาโดยตลอด ตั้งแต่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผมได้ลองคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อโดยอิงกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และอาศัยข้อมูลที่ กกต.ได้เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ อันได้แก่ ข้อมูลแสดงคะแนนเสียงรวมและจำนวนส.ส.แบ่งเขตที่พรรคการเมืองต่างๆ ได้รับในการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ดังมีรายละเอียดปรากฏในตารางที่ 1 (คอลัมน์ที่ 2 และ 4)

 

          พรรคที่มีคะแนนเสียงตั้งแต่มากที่สุด คือ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้ 8,433,137 เสียง ไปจนถึงคะแนนน้อยที่สุด คือ พรรคกสิกรไทยซึ่งได้ 183 เสียง มีทั้งหมด 77 พรรค ส่วนพรรคที่มี ส.ส.แบ่งเขตมีทั้งหมด 9 พรรค โดยพรรคเพื่อไทยได้มากที่สุด คือ 137 ที่นั่ง

 

           เมื่อนำเอาคะแนนเสียงรวมของแต่ละพรรคมาคำนวณหาสัดส่วนจากคะแนนเสียงทั้ง หมดที่นับรวมกันได้ 35,532,647 เสียง แล้วนำสัดส่วนนี้ไปคูณกับ 500 ก็จะได้จำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมีพึงได้ ดังปรากฏในคอลัมน์ที่ 3 ของตารางที่ 1 โปรดสังเกตว่า ผลคูณเหล่านี้ยังมีเศษทศนิยมเหลือไว้ 5 ตำแหน่ง คือ ยังไม่ปัดเศษทศนิยมในขั้นนี้

 

           ทั้งนี้ เพื่อจะนำเอาผลคูณที่มีรายละเอียดมากที่สุดไปคำนวณในขั้นตอนต่อไปในขั้นนี้จะเห็นได้ว่า พรรคพลังประชารัฐพึงมีจำนวน ส.ส. รวมมากที่สุด คือ ประมาณ 119 คน (จากผลคูณที่เท่ากับ 118.66745) ส่วนพรรคเพื่อไทยมี ส.ส.พึงมีที่คำนวณได้เป็นจำนวนประมาณ 111 คน ซึ่งยังน้อยกว่าจำนวน ส.ส. แบ่งเขตที่พรรคเพื่อไทย (137 คน)

 

          ดังนั้น ตามกฎกติกาแล้ว พรรคเพื่อไทยจึงไม่ได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียว จำนวน ส.ส.แบ่งเขตที่มากกว่าจำนวน ส.ส.พึงมีนั้น มีชื่อเรียกกันเป็นภาษาอังกฤษว่า overhanging seats ซึ่งในกรณีนี้เป็นผลต่างจำนวน 26 ที่นั่ง (137-111)

 

สูตรคำนวณสไตล์ "พรายพล"

           ขั้นตอนต่อไปเป็นการคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อโดยนำจำนวน ส.ส.แบ่งเขตที่แต่ละพรรคได้รับไปหักออกจากจำนวน ส.ส.พึงมี ผลการคำนวณมีปรากฏรายละเอียดในคอลัมน์ที่ 5 ของตารางที่ 1 โดยกำหนดให้พรรคเพื่อไทยมีจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อเท่ากับศูนย์ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น

 

           ผลการคำนวณในขั้นตอนการปรับครั้งแรกนี้ ก็ยังไม่มีการปัดเศษทศนิยม และเมื่อรวมผลในคอลัมน์ที่ 5 นี้ของทุกพรรคก็จะได้ตัวเลข 176 ที่นั่ง ซึ่งเป็นผลรวมของจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ทุกพรรคควรได้รับจัดสรร แต่เนื่องจากผลรวมนี้ยังมีค่าสูงกว่าจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 ที่นั่งที่กฎหมายกำหนดให้มีได้ ผลต่างจำนวน 26 ที่นั่งนี้ (176-150) เป็นผลมาจากการที่พรรคเพื่อไทยมี overhanging seats จำนวน 26 ที่นั่งนั่นเอง จึงจำเป็นต้องมีการปรับครั้งที่ 2 ให้ผลรวมของทุกพรรคมีจำนวนลดลงเหลือ 150 ที่นั่ง

 

           การปรับครั้งที่ 2 นี้ ทำโดยการนำตัวเลขของแต่ละพรรคในคอลัมน์ที่ 5 ของตารางที่ 1 ไปคูณด้วย 150 แล้วหารด้วย 176 ทั้งนี้ เพื่อให้ตัวเลขที่มีการปรับครั้งที่ 2 มีผลรวมกันเท่ากับ 150 พอดี ดังมีรายละเอียดปรากฏในคอลัมน์ที่ 6 ของตารางที่ 1 แต่ผลการปรับตัวเลขสำหรับแต่ละพรรคก็ยังเป็นจำนวนที่มีเศษทศนิยม 5 ตำแหน่งเหลืออยู่ ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการปรับครั้งที่ 3 เพื่อทำให้เป็นจำนวนตัวเลขที่ไม่มีเศษทศนิยมเหลืออยู่เลย

 

สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ ฉบับ\'พรายพล\'

 

          การปรับครั้งที่ 3 มี 2 ตอน ตอนแรก (3.1) เป็นการปรับตัวเลขจำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรคที่ได้จากการปรับครั้งที่ 2 ให้เป็นจำนวนเต็ม (คือปัดเศษให้ไม่มีทศนิยมเลย) โดยใช้เกณฑ์ที่ว่าตัวเลขที่มีเศษจุดทศนิยมมากกว่าหรือเท่ากับ 0.5 ก็ปรับขึ้นให้เป็นจำนวนเต็ม เช่น ตัวเลขของพรรคพลังประชารัฐ 18.51451 ก็ปรับให้เป็น 19 คน ตัวเลขของพรรคอนาคตใหม่ 49.70687 ก็ปรับให้เป็น 50 คน

 

           ส่วนตัวเลขที่มีเศษจุดทศนิยมน้อยกว่า 0.5 ก็ยังไม่มีการปรับขึ้นแต่กำหนดให้เป็นจำนวนเต็ม เช่น ตัวเลขของพรรคประชาธิปัตย์ 19.26923 ก็ปรับให้เป็น 19 คน ตัวเลขของพรรคเศรษฐกิจใหม่ 0.71269 ก็ปรับให้เป็น 1 คน ดังรายละเอียดปรากฏในคอลัมน์ที่ 4 และ 5 ของตาราง   

       

          หลังจากการปรับในตอนแรกแล้วปรากฏว่า จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคควรจะได้รับการจัดสรรรวมกันเท่ากับ 147 คนจึงยังขาดอยู่อีก 3 คนซึ่งเราจะจัดสรรในตอนที่ 2 ต่อไป

 

          ในตอนที่ 2 ของการปรับครั้งที่ 3 (3.2) เป็นการจัดสรรจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่เหลืออยู่ 3 คนไปให้กับพรรคการเมืองที่ยังไม่มีตัวเลขจำนวน ส.ส. ที่ปรับเศษทศนิยมขึ้นให้เป็นจำนวนเต็ม เนื่องจากมีจุดทศนิยมน้อยกว่า 0.5 ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรม เราจึงควรจัดสรรจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เหลืออยู่ 3 คนนี้ไปให้กับพรรคการเมืองในกลุ่มนี้ โดยเลือกพรรคที่มีค่าเศษทศนิยมที่สูงที่สุด 3 อันดับแรก ซึ่งก็ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยใหม่ (จำนวน ส.ส.พึงมี 0.47846 คน) พรรคพลังธรรมใหม่ (จำนวน ส.ส.พึงมี 0.42725 คน) และพรรคไทรักธรรม (จำนวน ส.ส. พึงมี 0.40578 คน)

 

          ผลการจัดสรรจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อในขั้นตอนสุดท้ายจึงมีรายละเอียดปรากฏในคอลัมน์ที่ 6 ของตาราง โดยในคอลัมน์นี้มีผลรวมเท่ากับ 150 คนพอดี และเมื่อรวมกับจำนวน ส.ส.แบ่งเขตก็จะเป็นจำนวน ส.ส.รวมทั้ง 2 ประเภท ดังแสดงผลไว้ในคอลัมน์สุดท้ายของตาราง

 

27 พรรคได้ที่นั่งส.ส.

          สรุปได้ว่าพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.รวมมากที่สุดคือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งมี 137 คน พรรคพลังประชารัฐมี ส.ส.มากเป็นอันดับ 2 คือ 116 คน พรรคอนาคตใหม่มี 80 คน พรรคประชาธิปัตย์มี 52 คน พรรคภูมิใจไทยมี 51 คน พรรคเสรีรวมไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา ได้พรรคละ 10 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่มี 7 คน พรรคประชาชาติมี 6 คน พรรคเพื่อชาติและพรรครวมพลังประชาชาติไทย มีพรรคละ 5 คน พรรคชาติพัฒนามี 3 คน พรรคท้องถิ่นไทมี 3 คน พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทยมี 2 คน

 

          ส่วนพรรคการเมืองที่มี ส.ส. เพียงคนเดียวมีถึง 13 พรรค ได้แก่ พรรคพลังปวงชนไทย พรรคพลังชาติไทย พรรคประชา ภิวัฒน์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคประชานิยม พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคไทรักธรรม

 

          สังเกตได้ว่า พรรคเพื่อไทยมี ส.ส.รวมมากถึง 137 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าจำนวน ส.ส.พึงมีอยู่ 26 คน (หรือมี overhanging seats 26 ที่นั่ง) เป็นเหตุให้พรรคอื่นๆ ส่วนใหญ่มี ส.ส.รวมน้อยกว่าจำนวน ส.ส. ที่พึงจะมี พรรคที่ถูกลดทอนจำนวน ส.ส. ลงมากที่สุด คือ พรรคอนาคตใหม่ซึ่งมีจำนวน ส.ส.รวม 80 คน เมื่อเทียบกับจำนวนที่พึงมี 88 คน จึงถูกลดทอนลงไปถึง 8 คน

 

          ข้อสังเกตอีกข้อหนึ่งคือ การปรับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ทำให้พรรคการเมืองเล็กๆ บางพรรคสามารถได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นจำนวน 1 คน ทั้งๆ ที่มีผู้ลงคะแนนเสียงให้ไม่ถึง 70,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนคะแนนเสียงขั้นตํ่าที่ทำให้พรรคหนึ่งมีสิทธิได้รับการจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 คน (ผู้ออกเสียงรวม 35.5 ล้านคน หารด้วย ส.ส. 500 คน = 71,000 เสียง)

 

          ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะวิธีการปรับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยการปัดเศษทศนิยมตามที่อธิบายมา เปิดโอกาสให้พรรคเล็กพรรคน้อยมี ส.ส.เพียง 1 คนเข้าไปนั่งในสภาได้ง่าย (คราวนี้มีมากถึง 13 พรรค) ในบางประเทศที่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ ได้กำหนดให้พรรคการเมืองต้องได้คะแนนเสียงขั้นตํ่าจำนวนหนึ่ง (เช่น อย่างน้อย 1% ของเสียงทั้งหมด) จึงมีสิทธิได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้มีพรรคเล็กๆ ในสภามากเกินไป

 

          ผมขอยํ้าว่า ผลการคำนวณข้างต้นเป็นไปตามกฎกติกาที่ผมเข้าใจเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น และผมสังเกตว่าผลที่ผมคำนวณได้ก็ตรงกันกับผลการคำนวณบางชุดที่ได้เผยแพร่ในสื่อมวลชนบางฉบับแล้ว เราจึงคงต้องรอต่อไปว่า สุดท้ายแล้ว กกต.มีสูตรการคำนวณและผลการคำนวณอย่างไร

 

รายงาน โดย ทีมข่าวการเมืองหน้า

14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3460 ระหว่างวันที่ 11 - 13 เมษายน 2562

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ