ข่าว

"เนติวิทย์-นิสิตจุฬาฯ" รอดตัดคะแนนความประพฤติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลปกครองกลาง ชี้ "เนติวิทย์-นิสิต" 8 คน ผิดแค่วินัยนิสิตข้อ 6 ประพฤติตนไม่สามัคคีวันถวายสัตย์ปฏิญาณนิสิตใหม่ แต่ไม่ผิดข้อ4,7,8 ไม่ต้องถูกตัด 10 คะแนน


ศาลปกครองกลาง เพิกถอนคำสั่งจุฬาฯ ชี้ "เนติวิทย์-นิสิต" 8 คน ผิดแค่วินัยนิสิตข้อ 6 ประพฤติตนไม่สามัคคีวันถวายสัตย์ปฏิญาณนิสิตใหม่ แต่ไม่ผิดข้อ4,7,8 ไม่ต้องถูกตัด 10 คะแนน ได้คืนสถานภาพสมาชิกสโมสรนิสิตด้วย ลุ้นคดียังอุทธรณ์ได้

 

          4 เม.ย.62 - ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทีี่ 4928/2560 ลงวันที่ 30 ส.ค.60 ส่วนที่วินิจฉัยว่า นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับพวกรวม 8 คน ทำผิดวินัยนักศึกษาข้อ 8 ในระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยวินัยนิสิต พ.ศ.2527 ให้ตัดคะแนนความประพฤติ และให้เพิกถอนมติ "คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ของนิสิต" ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 ม.ค.61 ตามคำสั่งจุฬาฯ เรื่องแก้ไขคำสั่งลงโทษตัดคะแนนความประพฤติในข้อ 8 ดังกล่าว 10 คะแนน และเพิกถอนคำสั่งจุฬาฯ ที่ 4929/2560 ให้สมาชิกสภานิสิตสามัญ พ้นจากตำแหน่ง ลงวันที่ 30 ส.ค.60 ที่มีผลทำให้ นายเนติวิทย์ , นายศุภลักษณ์ บำรุงกิจ , นายธรณ์เทพ มณีเจริญ , นายทัดเทพ เรืองประไพกิจเสรี , นายชินวัตร งามละมัย นิสิตผู้ฟ้องที่ 1-5 พ้นจากสมาชิกสภานิสิตสามัญ ประจำปีการศึกษา 2560 โดยการเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวนั้น ศาลปกครองกลางสั่งให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่มีการออกคำสั่งคือ 30 ส.ค.60 

 

          สำหรับคดี นายเนติวิทย์ และเพื่อนนิสิตชาย-หญิง รวม 8 คน ยื่นฟ้องจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , อธิการบดี (อธก.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ของนิสิต เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 เรื่องกระทำการโดยมิชอบ และกระทำการละเมิดจากคำสั่งทางปกครอง โดยขอให้ ศาลเพิกถอนคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิตฯ และคำสั่งที่ให้สมาชิกสภานิสิตสามัญ พ้นจากตำแหน่ง 
จากกรณีกล่าวหาทำผิดระเบียบจุฬาฯ แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม เดินออกจากแถวขณะการประกอบพิธีถวายสัตย์ปฏิญาน และถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ในวันปฐมนิเทศของนิสิตใหม่ ชั้นปีที่ 1เมื่อวันที่ 3 ส.ค.60 

 

          ซึ่ง นายเนติวิทย์ และกลุ่มนิสิต ผู้ฟ้องทั้ง 8 คนเห็นว่า รูปแบบการพิจารณาออกคำสั่งตัดคะแนนความประพฤติ และเนื้อหาคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายจะก่อให้เกิดสภาพร้ายแรงการพิจารณาทางปกครองที่ไม่เป็นกลางโดยก่อนหน้านี้มีรองคณบดีฯ ให้สัมภาษณ์ลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อ นายเนติวิทย์ ผู้ฟ้องที่ 1 อย่างรุนแรง ในการทำกิจกรรมของผู้ฟ้องที่ 1 กับพวกในการรณรงค์ ยกเลิกบังคับการแต่งกายชุดนิสิตของจุฬาฯ ขณะที่การสอบสวนก็ไม่ได้แจ้งให้รู้ถึงข้อหา การกระทำผิดระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยวินัยนิสิต พ.ศ.2527 และไม่เปิดโอกาสโต้แย้งคัดค้านการกล่าวหา

 

           ขณะที่ ศาลปกครองกลาง วินิจฉัยข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสำนวนแล้ว เห็นว่า หลังเกิดเหตุ รอง อธก.จุฬาฯ มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องทั้งแปดทราบถึงเหตุการณ์ต่างๆ และข่าวที่ปรากฏในโซเชียลเกี่ยวกับพฤติกรรมการเดินออกจากแถวขณะประกอบพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว ที่มีผลต่อชื่อเสียงของจุฬาฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 จึงเห็นควรให้มีการสอบสวนตามระเบียบ ก่อนที่ขะมีเริ่มสอบสวนในวันที่ 25 ส.ค.แล้ว ดังนั้นถือว่ามีการแจ้งข้อหาให้ผู้ฟ้องทั้งแปดทราบแล้ว ส่วนที่ผู้ฟ้องอ้างว่า รองคณบดี เคยมีความเห็นเรื่องการรณรงค์ยกเบิกแต่งชุดนิสิตกับผู้ฟ้องมาก่อนนั้นแล้วอาจจะเกิดผลไม่เป็นกลางต่อการลงนั้น ศาล เห็นว่า รองคณบดีได้กล่าวชี้แจงถึงการจับนิสิตที่แต่งกายผิดระเบียบ ไม่ใช่กรณีกล่าววาจาด้วยถ้อยคำรุนแรงเกี่ยวกับการรณรงคค์ของผู้ฟ้องที่ 1 ดังกล่าว และไม่ปรากฏพฤติการณ์อื่นว่ารองคณบดีจะมีเหตุโกรธเคืองกับผู้ฟ้องที่ 1 จนไม่เป็นกลาง

 

          โดยส่วนที่จะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นกรณีที่ การกระทำของผู้ฟ้องทั้งแปด ไม่เป็นความผิดการประพฤติตนไม่เป็นสภาพชนและปนะพฤติตน มันอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อตนเองและผู้ปกครอง ตามข้อ 4,7, 8 ระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยวินัยนิสิต พ.ศ.2527 เพราะในวันที่ 3 ส.ค.60 ระหว่างจะประกอบพิธีฝนกำลังจะตก จึงไม่มีร้องเพลงมหาจุฬาลงกรณ์และไม่มีการถวายคำนับหลังจากร้องเพลง ขณะที่เมื่อเริ่มพิธีโดยดำเนินการถึงการตีฆ้องครั้งที่ 5 นิสิตยืนกล่าวคำปฏิญาณเสร็จแล้วฝนก็เริ่มตกจึงแจกเสื้อกันฝนให้นิสิต และมีการตีฆ้องครั้งที่ 6,7 แล้วประกาศแจ้งเสร็จพิธี การที่ผู้ฟ้องทั้งแปด ได้ เดินออกจากแถวไปโค้งคำนับ ทำความเคารพพระบรมราชานุเสาวรีย์ สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า จากที่นิสิตชั้นปีที่ 1 ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณเสร็จแล้วจนมีการตีฆ้องครั้งที่ 6 นั้น การกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธี ถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การที่ฟ้องทั้ง 8 โค้งคำนับแล้วเดินออกจากแถว ขณะที่ ร่วมพิธี เช่นอาจารย์และนิสิตอื่นยังคงอยู่ในแถว ส่อแสดงให้เห็นเจตนาของผู้ฟ้อง เตรียมการและนัดหมายกันล่วงหน้าเพื่อแสดงออกให้ปรากฏแก่บุคคลทั่วไปว่าไม่เห็นด้วยกับรูปแบบและการประกอบพิธี ซึ่งแม้การกระทำนั้นจะไม่ได้ให้ก่อให้เกิดความวุ่นวายระหว่างการประกอบพิธี แต่ก็ ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่รักษาไว้ซึ่งความสามัคคีและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ชื่อเสียงเกียรติคุณของจุฬาฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ซึ่งเป็นการกระทำผิดระเบียบ จุฬาว่าด้วยวินัยนิสิต ข้อ 6

 

          และในส่วนผู้ฟ้องที่ 1-5 ซึ่งเป็นสมาชิกสภานิสิตสามัญ ก็ไม่เป็นความผิดตามระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วย สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ 2529 ข้อ 9 โดยระเบียบดังกล่าวเป็นเพียงข้อกำหนด วัตถุประสงค์ของสโมสรนิสิต ไม่ใช่บทกำหนดโทษวินัยนิสิตหรือเป็นข้อกำหนดให้นิสิตต้องปฏิบัติตาม และ การที่มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องที่ 1-5 พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภานิสิตสามัญนั้นก็ไม่ชอบด้วย แต่การมีคำสั่งให้ตัดคะแนนความประพฤติของผู้ถูกฟ้องทั้ง 8 นั้น ไม่ถือเป็นการกระทำละเมิดที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายเพราะปรากฏว่าภายหลังได้มีการพิจารณาแก้ไขการตัดคะแนนความประพฤติ ลดลงจากคนละ 25 คะแนนเหลือเพียงคนละ 20 คะแนน

 

          ศาลปกครองกลาง จึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทีี่ 4928/2560 ลงวันที่ 30 ส.ค.60 เฉพาะส่วนที่วินิจฉัยว่า นายเนติวิทย์ กับพวกรวม 8 คน ทำผิดวินัยนักศึกษาข้อ 8 ในระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยวินัยนิสิต พ.ศ.2527 ให้ตัดคะแนนความประพฤติ กับมติ คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ของนิสิต ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 ม.ค.61 ตามคำสั่งจุฬาฯ เรื่องแก้ไขคำสั่งลงโทษตัดคะแนนความประพฤติในข้อ 8 ดังกล่าว 10 คะแนน และคำสั่งจุฬาฯ ที่ 4929/2560 ให้ นายเนติวิทย์ , นายศุภลักษณ์ บำรุงกิจ , นายธรณ์เทพ มณีเจริญ , นายทัดเทพ เรืองประไพกิจเสรี , นายชินวัตร งามละมัย นิสิตผู้ฟ้องที่ 1-5 พ้นจากสมาชิกสภานิสิตสามัญ ประจำปีการศึกษา 2560 โดยการเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวนั้น ศาลปกครองกลาง สั่งให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่มีการออกคำสั่งคือ 30 ส.ค.60 

 

          คลิกอ่านรายละเอียดของคำวินิจฉัยศาลปกครองกลาง https://drive.google.com/open?id=137pdQxPd5LTEzTqJh3Nkvx41wYNFJae7

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำพิพากษาดังกล่าว เป็นคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งคู่ความยังสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คดีได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นในวันนี้.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ