ข่าว

"ปาบึก" ชื่อนี้มีที่มา

03 ม.ค. 2562

  มาพายุปาบึกอีก ไม่รู้ว่าจะอ่วมขนาดไหน ยังไงก็ขอให้ระมัดระวังกันด้วย แต่ก็นั่นแหละพายุวนมาทีไร ก็ให้สงสัยถึงชื่อเสียงของมันทุกทีว่ามันไปยังไงมายังไง

          ลุ้นอีกแล้วสิน่า เมื่อ  สมิทธ ธรรมสโรส ประธานมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับ "พายุปาบึก" ว่าขอให้รัฐบาลส่งข้อมูลเตือนประชาชนล่วงหน้า เพราะจะโดนหนัก

          แถมไม่เกินสองวันนี้ น้ำจะท่วมมาก จ.ชุมพร สุราษฐ์ธานี สงขลา เพราะขณะนี้มีคลื่นสูงกว่า 4-5 เมตรแล้วเข้ามาชายฝั่ง

          “พายุปาบึก ลูกมันใหญ่มาก ทุกหน่วยงานต้องติดตามอย่างใกล้ชิดขอให้ห่วงชีวิตราษฎรก่อน ถ้าพายุเข้าฝั่งก็รุนแรงมาก เหมือนพายุเกย์หรืออาจจะมากกว่า ถ้าพายุเลาะชายฝั่งมาเรื่อย ๆ ดังนั้นต้องระวังหมดทั้ง 16 จว.ภาคใต้ กระทบไปถึงประเทศมาเลเซีย สิงค์โปร์ ด้วย ในส่วนไทยถ้าข้ามฝั่งไปตะวันตก จะเสียหายเยอะ แบบพายุเกย์ข้ามไปถึงจ.ชุมพร”

 

\"ปาบึก\" ชื่อนี้มีที่มา

อ่าน http://www.komchadluek.net/news/regional/357596

 

          โอ้โฮ ถ้าใครจำพายุเกย์ได้ ก็คงขนลุกซู่ไปตามๆ กันเพราะครั้งนั้น ภาคใต้ของไทยก็อ่วมอรทัยไปถ้วนหน้า

          มาพายุปาบึกอีก ไม่รู้ว่าจะอ่วมขนาดไหน ยังไงก็ขอให้ระมัดระวังกันด้วย

          แต่ก็นั่นแหละพายุวนมาทีไร ก็ให้สงสัยถึงชื่อเสียงของมันทุกทีว่ามันไปยังไงมายังไง ทำไมถึงชื่อ “ปาบึก” 

          ตอบอย่างไวเลย “ปาบึก” ก็หมายถึง “ปลาบึก” ที่เราคนไทยเรียกขานนั่นแหละ เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ ส่วนปาบึกนั้นก็เป็นคำเรียกของภาษาลาว เนื่องจากรอบของพายุได้วนมาถึงลำดับชื่อพายุที่ทางลาวได้ตั้งไว้นั่นเอง

          ถึงตรงนี้หลายคนอาจอยากรู้ว่า อะไรคือหลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อพายุ ตอบอย่างไวอีกที คือ ที่จริงก็ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรตายตัว สิ่งที่ตายตัวเห็นจะเป็นการจำแนก “ประเภทของพายุ” มากกว่า

 

 ประเภทของพายุ

          กล่าวสำหรับ “พายุหมุนเขตร้อน” นั่นสามารถเกิดขึ้นได้หลายแห่งในโลก โดยมีการจัดประเภทต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด โดยบริเวณที่มีพายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้นเป็นประจำ มีดังนี้

          - มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก เรียกว่า “ไต้ฝุ่น” เกิดมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม ถึงตุลาคม เป็นบริเวณที่เกิดพายุหมุนมากที่สุด

          - มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือแถวทะเลแคริบเบียนและอ่าวเม็กซิโก เรียกว่า “เฮอร์ริเคน” เกิดมากในเดือนสิงหาคม ถึงตุลาคม

          - มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ฝั่งตะวันตกของประเทศเม็กซิโก เรียกว่า “เฮอร์ริเคน”

          - มหาสมุทรอินเดียเหนือ เรียกว่า “ไซโคลน”

          - มหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย เรียกว่า “ไซโคลน” เกิดมากในเดือนธันวาคม ถึงกุมภาพันธ์

 

\"ปาบึก\" ชื่อนี้มีที่มา

 

          นอกจากนี้ ในส่วนของ มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก และทะเลจีนใต้ ยังมีการแบ่งประเภทโดยดู "ความเร็วลมสูงสุดที่บริเวณใกล้ศูนย์กลาง" นำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความรุนแรงของพายุ ตามข้อตกลงระหว่างประเทศดังนี้

          - พายุดีเปรสชันเขตร้อน (tropical depression) ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

          - พายุโซนร้อน (tropical storm) ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 64 นอต (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

          - พายุไต้ฝุ่น (typhoon) ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอต (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไป

          โดยพายุหมุนเขตร้อนเมื่ออยู่ในสภาวะที่เจริญเติบโตเต็มที่ จะเป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดาพายุที่เกิดขึ้นในโลก มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณตั้งแต่ 100 กม.ขึ้นไป และเกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดแรงมาก ระบบการหมุนเวียนของลมเป็นไป โดยพัดเวียนในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาเข้าสู่ศูนย์กลางของพายุในซีกโลกเหนือ

          ส่วนในซีกโลกใต้พัดเวียนตามเข็มนาฬิกา ยิ่งใกล้ศูนย์กลางลมจะหมุนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วสูงที่สุด!!

ชื่อนี้ล้วนมีที่มา

          อย่างไรก็ดี ที่บอกว่า การตั้งชื่อพายุไม่ได้มีหลักเกณฑ์อะไรตายตัว ก็มีเหตุผล เพราะเดิมทีในอดีตนั้น เล่ากันว่านักเดินเรือเวลาออกทะเลไปนาน ก็มักจะคิดถึงศรีภรรยา พอเจอพายุลูกไหนเข้าก็มีการตั้งชื่อเรียกตามชื่อภรรยาตนเอง หรือสาวที่หลงใหล หรือแม้แต่ชื่อลูกตัวเอง

          ขณะที่บางแหล่งก็ว่ากันว่า ที่ต้องตั้งชื่อผู้หญิงก็เพื่อฟังแล้วจะรู้สึกอ่อนโยนอ่อนหวาน ทำให้ดูรุนแรงน้อยลง สวนทางกับบางแหล่งที่บอกว่า การตั้งชื่อแม่นางคนนั้นคนนี้จะช่วยบอกระดับความรุนแรงของพายุแต่ละลูกได้ กล่าวคือ การตั้งชื่อตามผู้หญิงคนนั้นจะทำให้คนอื่นๆ นึกออกว่า พายุลูกนี้แรงประมาณไหนนั่นเอง

 

\"ปาบึก\" ชื่อนี้มีที่มา

 

          ยกตัวอย่างเช่นว่า “แม่นางแคทรีน่า” ผู้เกรี้ยวกราด ก็หมายถึงพายุลูกนั้นมีความแรงมาก หรือ “แม่นางแมรี่” ผู้นุ่มนวลก็หมายถึงพายุลูกนั้นไม่มีความรุนแรงจนเกินไป นั่นเอง

          แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ที่สุดต่อมากลุ่มสิทธิทั้งบุรุษและสตรีได้มีการเรียกร้องให้ตั้งชื่อพายุเป็นผู้ชาย ผู้หญิงบ้าง สลับกันไป

          โดยราวปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20” คลีเมนต์ แรกกี นักพยากรณ์อากาศชาวออสเตรเลีย เกิดความคิดในการตั้งชื่อพายุ โดยใช้ชื่อคนทั่วไป แต่จะมี 2 แบบ คือ ใช้ชื่อสตรี เพื่อให้ดูอ่อนโยน และแบบที่ 2 คือชื่อนักการเมืองเพื่อเป็นการเปรียบเปรยว่า “นักการเมืองคือผู้นำความหายนะมาให้”

          หลังจากนั้น  “ประเทศสหรัฐอเมริกา” โดยกองทัพ ก็ทำหน้าที่จัดแจงที่จะเป็นผู้ตั้งชื่อพายุของทั่วโลกมาโดยตลอด ทั้งนี้ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพสหรัฐอเมริกาเริ่มนำชื่อภรรยาและคู่รักของตนมาใช้เป็นชื่อพายุ

          อย่างที่รู้ว่าประเทศนี้คือพี่ใหญ่ที่มีเรื่องเทคโนโลยี ดาวเทียมตรวจสภาพ อากาศ อะไรเกี่ยวกับการดูความเคลื่อนไหวของพายุ พี่เขามีหมด!

          ที่สุดแต่เมื่อโลกผ่านยุคสมัยมาจนมีระเบียบแบบแผนมากขึ้น หลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อพายุก็กลายเป็นหน้าที่ของ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก แต่ช่วงนั้น ชื่อพายุก็ยังออกแนวฝรั่งจ๋าไปเสียหมด!

          ยกตัวอย่างชื่อพายุแถบบ้านเรา ก่อนหน้านี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ใช้เรียกพายุหมุนที่จุดศูนย์กลางของพายุตั้งแต่ 34-35 นอตขึ้นไปจนถึงไต้ฝุ่น แบ่งชื่อไว้ 4 คอลัมน์ ใช้หมุนเวียนกันไปตามตัวอักษรและลำดับ แล้ววนมาขึ้นต้นใหม่ ดังนี้

          คอลัมน์ 1 แอนดี้ เบรนด้า เซซิล ดอต เอลลิส เฟย์ กอร์ดอน โฮป เออร์วิ่ง จูดี้ เคน โลล่า แม็ก แนนซี่ โอเวน เพ็กกี้ รอเจอร์ ซาร่า ทิป เวร่า เวน

          คอลัมน์ 2 แอ๊บบี้ เบน คาร์เมน ดอม เอลเลน ฟอร์เรสต์ จอร์เจีย เฮอร์เบิร์ต ไอดา โจ คิม เล็กซ์ มาร์จ นอริส ออร์คิด เพอร์ซี่ รูธ สเพอร์ริ เทลมา เวอร์นัน วินนิ

          คอลัมน์ 3 อเล็กซ์ เบ็ตตี้ คารี่ ไดนา เอ๊ด ฟรีด้า เจอราล ฮอลลี่ ไอก์ จูน เคลลี่ ลิน มอรี่ นีน่า ออกเดน ฟิลลิส รอย ซูซาน แทต วาเนสซ่า วอร์เรน

          คอลัมน์ 4 แอกเนส บิล คลาร่า ดอย เอลซี่ เฟเบี้ยน เกย์ ฮาล เออร์ม่า เจฟ คิด ลี มามี่ เนลสัน โอเดสสา รูบี้ สคิป เทส วาล วิโนน่า

          จะเห็นว่า มีพายุใต้ฝุ่น "เกย์" ที่เคยอาละวาดภาคใต้ของไทยเราช่วงปี 2532 รวมอยู่ด้วย!

          แต่ที่จริงๆ แล้ว บนโลกใบนี้ยังมีพายุชื่อต่างๆ อยู่อีกมาก เรียกแตกต่างกันไปตามพื้นที่มหาสมุทรที่แบ่งไว้ข้างต้น

          เช่น มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือแถวทะเลแคริบเบียนและอ่าวเม็กซิโก ที่เรียกว่า “เฮอร์ริเคน” ก็จะมีชื่อพายุอีกต่างหากออกไปอีก นั่นเอง

          อย่าง พายุเฮอริเคน แคทริน่า (Katrina) อันโหดร้ายที่ถล่มอเมริกาช่วงปี 2548 หลายคนคงจำได้ หากภายหลังทางการได้ยกเลิกชื่อนี้ไปแล้ว โดยเวลานี้ทางนั้นได้มีการจัดตั้งชื่อพายุใหม่แล้วแถมแต่ละปีจะมีชื่อแตกต่างกันอีกด้วย

 

 

ชื่อที่เปลี่ยนไปอีกครั้ง

          กลับมาแถวบ้านเรา กัน “งง” บ้านเราเป็นประเทศในโซน "มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนบน และทะเลจีนใต้"

          ที่สุดแล้วต่อมาราวปี 2543 ประเทศและดินแดนต่างๆ รวมทั้งสิ้น 14 ชาติสมาชิกของ “คณะกรรมการพายุไต้ฝุ่น” ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organizations Typhoon Committee) ลุกขึ้นมาจัดระบบการตั้งชื่อ “พายุหมุนเขตร้อน” ในแถบบ้านเราใหม่

          คือจะไม่เอาเฉพาะแต่ชื่อฝรั่งแล้ว (พูดง่ายๆ ว่าชื่อพายุชุดที่มี “พายุเกย์” รวมอยู่เป็นอันยกเลิก!!)

          ว่าแล้วก็ได้กำหนดให้แต่ละประเทศสมาชิก จัดส่งชื่อพายุในภาษาของตนมาให้ประเทศละ 10 ชื่อ รวมทั้งสิ้นได้ 140 ชื่อ

          ประเทศสมาชิกได้แก่ ไทย่ กัมพูชา, จีน, เกาหลีเหนือ-ใต้, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, ลาว, มาเก๊า, มาเลเซีย ไมโครนีเซีย (รัฐอิสระอยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือหมู่เกาะอินโดนีเซีย) ฟิลิปปินส์, สหรัฐฯ และเวียดนาม

 

\"ปาบึก\" ชื่อนี้มีที่มา

 

          ทั้งนี้ชื่อพายุจะแบ่งเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 28 ชื่อ โดยเรียงลำดับอักษรของชื่อประเทศในภาษาอังกฤษ เริ่มจากกัมพูชา เรื่อยไปจนถึงเวียดนามซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย ไทยเราอยู่อันดับที่ 12

          เมื่อใช้หมด 1 กลุ่มก็จะขึ้นชื่อแรกในกลุ่มที่ 2 เรียงกันเรื่อยไปจนครบทุกกลุ่ม แล้วจึงกลับมาใช้ชื่อแรกของกลุ่มที่ 1 ใหม่อีกครั้ง

          ที่สุดไทยเราได้ตั้งชื่อพายุของไทยตามลำดับ ดังนี้ พระพิรุณ, ทุเรียน, วิภา, รามสูร, เมขลา, มรกต, นิดา, ชบา, กุหลาบ และ ขนุน

          เท่านั้นยังไม่พอ ไทยเราก็ยังไปเป็นสมาชิกร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย ที่ดูแลสภาพอากาศในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียตอนเหนืออีกด้วย พูดๆ ง่ายๆ ว่าพี่ไทยเข้าร่วมกับเขาไปเสียหมด

          โดยภูมิภาคนี้มีสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ, อินเดีย, มัลดีฟส์, เมียนมา, โอมาน, ปากีสถาน, ศรีลังกา และไทย

          ที่นี่เขาให้ส่งรายชื่อพายุ 8 รายชื่อ ซึ่งเป็นชื่อของ “พายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ” โดยพายุหมุนในภูมิภาคนี้จะเรียกว่า “พายุไซโคลน”

          และชื่อจากประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นชื่อเรียกของอัญมณี ได้แก่ มุกดา, ไข่มุก, เพชร, ไพลิน, โกเมน, โมรา, เพทาย และ อำพัน

          อย่างไรก็ดี ชื่อตามข้างต้นของไทยได้มีการเปลี่ยนชื่อไปแล้วบางลูก เนื่องด้วยความรุนแรงของมันมากมายจนไม่อยากจดจำนั่นเอง

 

\"ปาบึก\" ชื่อนี้มีที่มา

\"ปาบึก\" ชื่อนี้มีที่มา

 

 

 ชื่อนี้ไม่อยากจำ 

          คงจำกันได้ กับเจ้าพายุ "มังคุด" ที่เข้าถล่มช่วงกันยายน 2561 ตอนนั้น สมิทธ ธรรมสโรช ก็กล่าวเตือนมาแล้วว่า พายุไต้ฝุ่น ‘มังคุด’ หากวกเข้าไทย จะรุนแรงเหมือน ‘พายุเกย์’! จนกระทั่งวนมาถึงพายุ “ปาบึก” นี่แหละที่เจ้าเก่ายังฝากเตือนมาอีกว่าจะแรงกว่า พายุเกย์ เข้าไปอีก!!

          จนมีการวิเคราะห์ถึงความรุนแรงของเจ้าปาบึกกันยกใหญ่ว่าจะมีพลังทำลายล้างขนาดไหน ช่างน่ากลัวยิ่ง

          อย่างไรก็ดี หากจะกล่าวสำหรับพายุในกลุ่มที่ไทยตั้งชื่อ 10 ชื่อข้างต้น ล้วนเคยวนมาให้คนไทยได้อกสั่นขวัญผวาตามลำดับรายชื่อข้างต้น ดังนี้

          พายุโซนร้อน “พระพิรุณ” (Prapiroon) เกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ช่วง ก.ค.2561 และเคลื่อนตัวไปทางใต้ของประเทศญี่ปุ่น จนเดือดร้อนประชาชนต้องอพยพกันนับแสน!

 

\"ปาบึก\" ชื่อนี้มีที่มา

อ่าน http://www.komchadluek.net/news/breaking-news/343883

 

          พายุใต้ฝุ่น “มังคุด” (Mangkhut) ที่เข้าไทยช่วง ก.ย.2561 เป็นพายุที่เปลี่ยนชื่อมาจาก “พายุทุเรียน” ก็เพราะครั้งที่พายุใต้ฝุ่นทุเรียนขึ้นฝั่งช่วงปลาย พ.ย.-ต้น ธ.ค. 2549 เป็นพายุที่รุนแรงมาก ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากในประเทศฟิลิปปินส์ และเป็นเหตุให้มีประชาชนหลายหมู่บ้านเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากโคลนถล่มที่ภูเขาไฟมายอน

          (อย่างพายุใต้ฝุ่น “ไห่เยี่ยน” ที่ตั้งโดยจีน ที่เกิดขึ้นช่วง 3-11 พ.ย. 2556 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ คือ ไมโครนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม จีนตอนใต้ รวม 6,195 ราย, สูญหายอีก 1,785 ราย โดยเฉพาะที่ฟิลิปปินส์นั้นหนักสุด จนภายหลังถูกเปลี่ยนไปเป็น “ไป๋ลู่” ตั้งแต่ปี 2558)

          หลายคนมองว่า ก็คล้ายๆ เลขรหัสของเครื่องบินที่ประสบอุบัติเหตุ ที่พอมีเครื่องบินใหม่ที่มาบินเส้นทางเดิม รหัสของเครื่องบินจะถูกเปลี่ยนใหม่เป็นเลขลำดับต่อไปแทน นั่นเอง

          ส่วนพายุไต้ฝุ่น “วิภา” (Wipha) เคยเกิดขึ้นช่วงปี 2556 ที่พัดถล่มญี่ปุ่น (อีกแล้ว) ครั้งนั้นคร่าชีวิตประชาชนไปแล้วมากมายและสูญหายอีกเพียบ บ้านหลายหลังบนเกาะอิสุ โอชิมะ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของโตเกียวเป็นระยะทางประมาณ 120 กม. ได้พังทลายลง และความเสียหายอื่นๆ อีกมากมาย

          ต่อไป พายุใต้ฝุ่น “รามสูร” ช่วงเดือน ก.ค. 2557 แค่ชื่อก็เสียวแล้ว และก็เป็นไปตามชื่อ เพราะสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินโดยเฉพาะที่ประเทศฟิลิปปินส์ชนิดที่ยากเกินกว่าจะบรรยายได้ จนกระทั่งต่อมาช่วงปี 2558 พายุรามสูรถูกเปลี่ยนชื่อไปเป็น “บัวลอย” ในปี 2559

          มาที่ พายุโซนร้อน “เมขลา” (Mekkhala) เคยพัดถล่มเวียดนาม ช่วง ก.ย. 2551 แต่ไม่รุนแรงเท่ากับที่เกิดขึ้นช่วง ม.ค. 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นพายุใต้ฝุ่นเมขลา ที่ทำเอาฟิลิปปินส์อ่วมอีกครั้ง

          ต่อมา พายุใต้ฝุ่น “มรกต” เกิดขึ้นช่วงเดือน ส.ค.2552 ซึ่งก็รุนแรงพอๆ กัน โดยเฉพาะกับประเทศไต้หวัน ที่คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 700 ราย รวมทั้งสูญหายเกือบ 100 คน เฉพาะหมู่บ้านเจ้าหลินแห่งเดียวชาวบ้านถูกฝังกลบทั้งเป็นมากถึง ราว 400 คน ถือเป็นภัยธรรมชาติถล่มไต้หวันรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ก่อให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี

          ดังนั้น ตามสูตรเดิม คือต้องเปลี่ยนชื่อสิ..รออะไร!! หลังจากตอนแรกมีชื่อว่า “หนุมาน” มาก่อน แต่ถูกกรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดียคัดค้าน เนื่องจากเหตุผลทางศาสนา จึงเปลี่ยนเป็น “มรกต” ในปี พ.ศ. 2545 ก่อนจะมาเปลี่ยนเป็น “อัสนี” (Atsani) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 นั่นเอง

          มากันที่ พายุ “นิดา” (Nida) เกิดขึ้นช่วงเดือน ส.ค. 2559 บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 65 กิโลเมตรทางตะวันออกของเกาะฮ่องกงส่ง ผลกระทบหลายประเทศ เช่นจีน

          โดยเฉพาะฮ่องกง ที่เจอฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง ซัดบ้านปลิวไปเป็นหลังๆ ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจและกิจกรรมทุกอย่างต้องหยุดชะงัก โรงเรียนปิด และระบบขนส่งมวลชนหยุดให้บริการ ฯลฯ

          ต่อกันที่ พายุใต้ฝุ่น “ชบา” (Chaba) ซึ่งพัดเข้าสู่คาบสมุทรเกาหลี ช่วงเดือน ต.ค.2559 โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองบนเกาะเชจูและเมืองสำคัญทางใต้ของประเทศเกาหลีใต้ ส่งผลให้การเดินทางทั้งหมดถูกระงับบริการ และโรงไฟฟ้า 2 แห่ง จาก 5 แห่ง ถูกระงับการทำงานเพื่อความปลอดภัย

          ที่สุดพายุไต้ฝุ่นชบาสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ได้รับรายงานผู้เสียชีวิต 5 ราย และสูญหาย 5 คน

          มาถึง พายุโซนร้อน “กุหลาบ” (Kulap) เกิดขึ้นช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่ก่อความรุนแรงมากเท่ากับที่กล่าวไปแล้ว

          กระทั่งมาถึง พายุโซนร้อน “ขนุน” (Khanun) ช่วง ต.ค.ปี 2560 ที่ผ่านมา ก็เห็นกันแล้วว่าร้ายไม่เบา แต่ก่อนหน้านั้นราวปี 2555 พายุขนุนก็เคยมาแล้วรอบหนึ่ง

         ที่สุดแล้วถ้าจะอัพเดทชื่อพายุของไทยจริงๆ 10 ลูก ที่เปลี่ยนชือ่ไปบ้างแล้ว ก็คงต้องเป็นรายชื่อตามนี้ คือ 

         พระพิรุณ, มังคุด (มาจากทุเรียน), วิภา, บัวลอย (มาจากรามสูร), เมขลา, อัสนี (มาจากมรกต), นิดา, ชบา, กุหลาบ และ ขนุน

 

พายุเที่ยวล่ามาแรง

          อดคิดไม่ได้ว่า วนลูปเวียนมาชื่อไทยเมื่อไหร่ จัดหนัก เลวร้าย รุนแรงทุกลูก อย่าง “มังคุด” ที่ว่าร้ายเท่าพายุเกย์ มาจนถึงตอนนี้ พายุปาบึก ที่ว่าอาจจะร้ายกว่าเกย์เข้าไปอีก!!

          ย้อนกลับไปดูในระยะที่ผ่านมาช่วงใกล้ๆ ก่อนจะมาถึงปาบึก หลังมังคุดก็ยังมีพายุลูกอื่นที่โผล่เรียงมาตามลำดับ เช่น บารีจัต (ชื่อที่ตั้งโดยประเทศสหรัฐอเมริกา) ที่เข้าถล่มพร้อมๆ กันกับมังคุดตอนนั้น

          พายุโซนร้อนบารีจัตทำให้เกิดแผ่นดินถล่มกว่า 12 ครั้งในจังหวัดบาตาเนส ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินถล่มครั้งใหญ่และมหาอุทกภัย ในดินซึ่งอิ่มตัวจากอิทธิพลของพายุนี้และจากพายุมังคุด

          ตามมาด้วย “พายุใต้ฝุ่นจ่ามี” ติดๆ จ่อหลังช่วงปลายกันยาจ่อต้นตุลา 2561 ซึ่งพัดถล่มเกาะฮอนชูของญี่ปุ่น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย และบาดเจ็บจำนวนมาก

          จากนั้นก็ “พายุใต้ฝุ่นก็องเรย” ไม่มีผิดเพี้ยนแม่นยิ่งกว่าเก็งหวยอีก!! ก็องเรยนั้นตั้งชื่อโดยกัมพูชา ที่ซัดเข้าญี่ปุ่นให้ช้ำอีกระลอกตามหลัง “จ่ามี” มาเลย

          6 ตุลาคม 2561 พายุลดระดับเป็น พายุโซนร้อนกองเร็ย พัดขึ้นฝั่งที่เมืองทงย็อง จ.คย็องซังใต้ในเกาหลีใต้ จากนั้นลดลงเป็นพายุหมุนนอกเขตร้อน และส่งผลกระทบกับตอนใต้ของจ.ฮกไกโด ใกล้กับเมืองฮาโกดาเตะ มีผู้เสียชีวิตจากพายุนี้ในช่วงเดือนตุลาคมจำนวน 3 คน โดยเป็นชาวเกาหลีใต้ 2 คน

          จากนั้นก็ยังตามมาด้วย พายุไต้ฝุ่นยวี่ถู่ ที่ช่วงปลายตุลาคม 2561 ส่งผลให้ที่่เกาะไซปันมีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งคน และยังให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวน 133 คน โดยสามรายนั้นได้รับบาดเจ็บสาหัส

          และ พายุโซนร้อนโทราจี ที่ไม่ได้รุนแรงมากนัก

 

\"ปาบึก\" ชื่อนี้มีที่มา

 

          จนมาถึงคิวของ พายุไต้ฝุ่นอูซางิ ที่พัดขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน ความเสียหายในภาคการเกษตรของฟิลิปปินส์ ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน อยู่ที่ 2.2 ล้านเปโซฟิลิปปินส์ (4.19 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.3 ล้านบาท)

          และแล้วก็ถึงคิวของพายุที่ชื่อ “ปาบึก” ในช่วงเวลานี้นั่นเอง อย่างที่เรากลัวกัน ว่าปาบึกงวดนี้จะรุนแรงขนาดไหน เพราะที่จริง ปาบึกเคยวนเวียนมาทำความเดือดร้อนให้ชาวโลกแล้วหลายครั้ง

          เช่น พายุไต้ฝุ่นปาบึก ปี 2544 ที่ส่งผลกระทบกับญี่ปุ่น, พายุไต้ฝุ่นปาบึก พ.ศ. 2550 ส่งผลกระทบกับไต้หวันและจีน, พายุโซนร้อนกำลังแรงปาบึก พ.ศ. 2556 พายุที่ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมจัดให้เป็นพายุไต้ฝุ่น กระทั่งมาถึงพายุโซนร้อนปาบึก พ.ศ. 2562 อันนับเป็นพายุลูกแรกของปี 2562

          อย่าเพิ่งไปคิดล่วงหน้าว่า ถัดจาก "ปาบึก" ก็ "พายุหวู่ติบ" จะอะไรยังไง ตอนนี้เอาปาบึกให้ผ่านไปก่อน ว่าจะรุนแรงกว่าเกย์ยังไง ไม่มีใครอยากรู้และเห็นเลย!

 

 ลมเกย์ ทั้งร้ายและแรง

          คนรุ่นใหม่อาจนึกไม่ออกว่า "พายุใต้ฝุ่นเกย์" ที่พร่ำพูดกันช่วงนี้มีความแรงขนาดไหน และต่อให้อธิบายยังไงก็คงนึกไม่ออกเท่าเจอกับตัวเอง

          แต่ข้อมูลและตัวเลขต่อไปนี้น่าจะพอทำให้รู้ถึงความร้ายแรงได้บ้าง

          พายุใต้ฝุ่นเกย์ เป็นพายุหมุนเขตร้อนทรงพลัง ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักในจังหวัดชุมพรและประเทศอินเดียฝั่งตะวันออกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2532

          เป็นพายุไต้ฝุ่นครั้งเลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรมลายูรอบ 35 ปี

 

\"ปาบึก\" ชื่อนี้มีที่มา

พายุไต้ฝุ่นเกย์ขณะพัดเข้าสู่ประเทศไทย

 

          พายุก่อตัวขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ในอ่าวไทยตอนล่าง ข้ามคาบสมุทรมลายู เคลื่อนเข้าไปในมหาสมุทรอินเดียเหนือ และทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุหมุนระดับ 5 ก่อนขึ้นฝั่งในประเทศอินเดีย และสลายตัวเหนือเทือกเขากัตส์ตะวันตกในอินเดีย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน

          พายุนั้นไม่แปลกเฉพาะแต่เพียงเป็นพายุหมุนเขตร้อนเพียงลูกเดียวที่พัดถล่มประเทศไทยขณะมีความเร็วลมในช่วงพายุไต้ฝุ่น (120 ไมล์ต่อชั่วโมงเมื่อขึ้นฝั่ง) เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการก่อตัวขึ้นในอ่าว ขนาดที่เล็ก ความหนาแน่นที่สูง และข้อเท็จจริงที่ว่าพายุนี้มีพลังอยู่ในแอ่งพายุหมุนเขตร้อนสองแอ่ง ซึ่งไม่ปกติสำหรับพายุหมุนเขตร้อน

          วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 เวลา 08.30 น. พายุไต้ฝุ่นเกย์เคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ตอนบนด้วยความเร็วถึง 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งเป็นความเร็วของพายุไต้ฝุ่นในระดับ 3 ถล่มอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์อำเภอบางสะพานน้อยและอำเภอบางสะพานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อำเภอท่าแซะและอำเภอปะทิวจังหวัดชุมพร สร้างความเสียหาย มหาศาล แก่บ้านเรือน และพื้นที่เกษตรกรรม

 

\"ปาบึก\" ชื่อนี้มีที่มา

เส้นทางการเคลื่อนตัวของพายุเกย์

 

          เฉพาะที่ไทย พายุเกย์ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง 446 คน บาดเจ็บ 154 คน บ้านเรือนเสียหาย 38,002 หลัง ประชาชนเดือดร้อน 153,472 คน เรือล่ม 391 ลำถนนเสียหาย 579 เส้นสะพาน131 แห่ง ทำนบและฝาย 49 แห่งโรงเรียนพัง 160 โรง วัด 93 วัดมัสยิด 6 แห่ง พื้นที่การเกษตร 80,900,105 ไร่ (129,440.168ตร.กม.) สัตว์เลี้ยงตาย 83,490 ตัว ประเมินความเสียหาย 11,257,265,265 บาท

          นอกจากนี้ยังมีรายงานเรือขุดเจาะน้ำมันซีเครสต์อับปางลงนอกชายฝั่ง มีลูกเรือเสียชีวิต 91 คน รวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 537 คน (หากภายหลังมียอดระบุว่า เสียชีวิต 1,060 ราย)

          เช่นเดียวกับความเสียหายอย่างหนักที่เกิดขึ้นกับปะการังนอกชายฝั่งประเทศไทย

          พายุไต้ฝุ่นเกย์ถือเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยมากที่สุดในรอบ 27 ปี นับตั้งแต่พายุโซนร้อนแฮเรียตถล่มแหลมตะลุมพุกในปีพ.ศ.2505

          เป็นพายุลูกเดียวในประวัติศาสตร์ที่พัดเข้าสู่ประเทศไทยในระดับไต้ฝุ่น

          และยังเป็นพายุที่มีความเร็วลมสูงสุดขณะขึ้นฝั่งเท่าที่เคยมีมาในคาบสมุทรมลายู

          ขออย่าให้ปาบึกเป็นอย่างเกย์เลย!!

/////////////

เรียบเรียงข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

ขอบคุณภาพทั้งหมดจากวิกิพีเดีย