ข่าว

"อัยการ"เอี่ยวหิ้วนอแรดร่วม 50 โลถูกพักราชการ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"รองโฆษกอัยการ"ระบุหลังมีคดีถูกสั่งพักราชการ รอคัดคำพิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการตัดสินคุก 4 ปีร่วมพลเรือน เสนอก.อ.ลงมติโทษวินัยอีกหรือไม่

 

 

            20 พฤศจิกายน 2561 "นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง" ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้กล่าวถึงผลการสอบสวนข้อเท็จจริง พ.ต.ต.วรภาส บุญศรี อดีตรองอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดสระบุรี  

 

            ที่วันนี้ถูกศาลจังหวัดสมุทรปราการ พิพากษาจำคุก 4 ปีโดยไม่รอลงอาญา ร่วมกับพลเรือนหญิงอีก 2 คน ที่ร่วมลักลอบนำนอแรด 21 ชิ้น น้ำหนักกว่า 49 กก. ผ่านสนามบินสุวรรณภูมิเข้ามาเมื่อปี 2560 ว่า ภายหลังเกิดเหตุจนมีการสอบสวนข้อเท็จจริง สำนักงานอัยการสูงสุด ก็มีมติในชั้นต้นให้พักราชการอัยการดังกล่าวไว้ก่อนตลอดการพิจารณา หลังจากนี้ตามกระบวนการขั้นตอน ก็จะนำผลคำพิพากษาคดีอาญา รวบรวมเสนอให้คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) พิจารณาต่อไปว่าจะมีมติเกี่ยวกับบทลงโทษทางวินัยอีกอย่างไร หรือไม่ 

 

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ ยังเป็นการตัดสินโดยศาลชั้นต้น ซึ่งคดียังสามารถอุทธรณ์- ฎีกาได้ โดยขณะนี้ "พ.ต.ต.วรภาส" ก็ได้ประกันตัวสู้คดีชั้นอุทธรณ์ด้วยหลักทรัพย์ 200,000 บาท 

 

            ซึ่งภายหลังเกิดเหตุช่วงเดือน มี.ค.60 อัยการสูงสุดขณะนั้น ได้ตั้ง "นายประณต ผ่องแผ้ว" ผู้ตรวจการอัยการขณะนั้น เป็นประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริง และได้ส่งความเห็นไปยังอัยการสูงสุดว่า พ.ต.ต.วรภาส มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะกระทำการผิดวินัย สมควรตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย โดยระหว่าง พ.ต.ต.วรภาส  ก็ถูกย้ายมาเป็นอัยการประจำสำนักงานคดีแพ่งกรุงเทพใต้ 3 ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.60 ซึ่งภายหลังก็มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยและในชั้นต้นก็ได้สั่งพักราชการ พ.ต.ต.วรภาส ไว้

 

             โดยการลักลอบนำนอแรด เข้ามาในราชอาณาจักรนั้น มีการฟ้องกล่าวหา นางฐิติรัตน์ อาราอิ , น.ส.กานต์สินี อนุตรานุศาสตร์ และนายวรภาส หรือพ.ต.ต.วรภาส บุญศรี อดีตรองอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดสระบุรี เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันพา หรือนำของต้องจำกัดหรือของต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใดๆในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรฯ  ,  

 

              ร่วมกันนำเข้ามาในาชอาณาจักรซึ่งซากสัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันนำซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรว่า เมื่อวันที่ 10 มี.ค.60 เวลา 13.50 น. จำเลยทั้งสามร่วมกันนำเข้า นอแรด 19 ชิ้น และนอแรดดำ 2 ชิ้น รวมทั้งหมด 21 ชิ้น น้ำหนัก 49.4 กก.ราคารวม 49,400,000 บาท เข้ามา ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากร ประจำจุดตรวจช่องไม่มีของต้องสำแดงหรือช่อง C เขียว ตรวจพบกระเป๋าห่อหุ้มด้วยเทปพลาสติกใส มีแท็กป้ายแสดงรายละเอียดการเดินทาง (เดินทางมาเที่ยวบินจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา) เมื่อนำผ่านเครื่องตรวจเอ็กซเรย์แล้วปรากฏภาพบนจอเป็นสีส้มแสดงว่าเป็นวัตถุอินทรีย์ จึงนำไปตรวจสอบ เมื่อเปิดกระเป๋าออกก็พบนอแรด 21 ชิ้น

 

              ขณะที่ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์แล้ว  เห็นว่า จำเลยทั้งสามมีพฤติการณ์กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จึงพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 7 , พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 23  วรรคหนึ่ง , พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 มาตรา 31,68 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันพา หรือนำของต้องจำกัดหรือของต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใดๆในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรฯ ซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุก จำเลยที่ 1-3 คนละ 4 ปี โดยไม่รอการลงโทษ

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ