ข่าว

ได้ไปต่อ !! เมีย "ดอน" ถือหุ้นไม่ถึง 5%

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ศาลรัฐธรรมนูญ" วินิจฉัยด้วยเสียงข้างมาก ความเป็นรัฐมนตรีของ "ดอน" ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว

 

               ที่ ศาลรัฐธรรมนูญ. 31 ต.ค. 61 เวลา 14.00 น.  ประธานศาลรัฐธรรมนูญ (ปศร.) พร้อมตุลาการรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย คําร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ (ศร.) วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่

 

 

 

               ผลการพิจารณา องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนได้ทําความเห็นส่วนตนเป็น หนังสือ พร้อมทั้งแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม และที่ประชุมได้ปรึกษาหารือร่วมกันแล้วลงมติในประเด็น ดังต่อไปนี้ 1. รัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ประกอบมาตรา 187 นํามาใช้บังคับแก่ผู้ถูกร้องได้หรือไม่ เพียงใด ศาลโดยมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 264 วรรคสอง บัญญัติยกเว้นมิให้นํามาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) มาใช้บังคับแก่ผู้ถูกร้องเฉพาะ ในส่วนที่เกี่ยวกับการดําเนินการตามมาตรา 184 (1) เท่านั้น มิได้ยกเว้นการพ้นจากตําแหน่งตามมาตรา 187 ดังนั้น จึงต้องนํามาตรา 187 มาใช้บังคับแก่ผู้ถูกร้องและรวมถึงคู่สมรสของผู้ถูกร้องด้วย

               สําหรับกรณีของนายดอนนั้น เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีแนวคําวินิจฉัยวางหลักการไว้ว่า การให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ยังคงเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป จะต้องถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นวันเริ่มต้นเข้ารับตําแหน่ง ทั้งนี้ เป็นไปตามคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 20/25544 เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 60 วันที่นายดอนได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ประกอบมาตรา 187 จึงเป็นวันที่ 6 เม.ย. 60 ดังนั้น นายดอนต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามจํานวนที่ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 บัญญัติ

 

 

 

               ประเด็นที่ 2. คู่สมรสของนายดอนได้โอนหุ้นให้บุคคลอื่นถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่ ศาลโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้พิจารณาชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานแล้วฟังได้ว่า เดิมคู่สมรสของนายดอนถือหุ้นในบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด จํานวน 7,200 หุ้น และในบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที จํากัด จํานวน 3,500 หุ้น ต่อมาวันที่ 10 เม.ย. 60 คู่สมรสของนายดอนได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์โอนหุ้นของบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด ให้กับ นายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย บุตรชาย 4,800 หุ้น คงเหลือหุ้นอยู่ 2,400 หุ้น หรือร้อยละ 4 และโอนหุ้นบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที ให้กับ นายเพื่อน 2,700 หุ้น คงเหลือหุ้นอยู่ 800 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 4

               โดยการโอนหุ้นทั้ง 2 บริษัท มีการทําหนังสือสัญญาโอนหุ้นของบริษัท ปานะวงศ์ จํากัด ลงวันที่ 27 เม.ย. 60 และของบริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที จํากัด ลงวันที่ 30 เม.ย. 60 โดยบริษัททั้งสองจัดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น พิจารณาอนุมัติการโอนหุ้นของทั้งสองบริษัทดังกล่าว การโอนหุ้นเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รับฟังได้ว่า คู่สมรสของนายดอนได้โอนหุ้นให้แก่บุคคลอื่นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ทําให้คงเหลือหุ้นในแต่ละบริษัทไม่เกินร้อยละ 5 ของจํานวนหุ้นที่จําหน่ายได้ตามที่ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี กําหนด ภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ 6 เม.ย. 60 จึงเป็นกรณีที่คู่สมรสของนายดอนดําเนินการตามรัฐธรรมนูญถูกต้องแล้ว อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคําวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน จึงไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ