ข่าว

ฝนหลวงเร่งช่วยชาวนา ทุ่งกุลาแล้งจัดข้าวแห้งตาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฝนหลวงภาคอีสานบินสำรวจทุ่งกุลา หลังฝนไม่ตกร่วมเดือน ข้าวแห้งตายเป็นบริเวณกว้างกว่า 5 หมื่นไร่ เตรียมทำฝนหลวงช่วยเหลือชาวนา

 

          วันที่ 20 มิ.ย. 61 - ที่บ้านโพนฮาด ตำบลดงข้างน้อย อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด นางสาววาสนา วงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น นั่งเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อสำรวจผืนนา ลงพื้นที่และพบชาวนา ที่ทำเรื่องร้องขอให้กรมฝนหลวงเข้าไปทำฝนเทียม เนื่องจากฝนไม่ตกติดต่อกันมาเป็นเวลา 25 วัน ทำให้ต้นข้าวที่หว่านเฉาตายไปแล้วจำนวนหนึ่ง คิดเป็นพื้นที่กว่า 50,000 ไร่

 

          นายสากล นารี อยู่บ้านเลขที่ 49 หมู่ 2 บ้านข้างน้อย ต.ดงข้างน้อย อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด อาสาสมัครฝนหลวง บอกว่า เป็นเวลาประมาณ 25 วันแล้วที่ฝนไม่ตกลงมา ข้าวในนาเป็นข้าว กข.6 และข้าวหอมมะลิ กำลังจะยืนต้นตายเพราะไม่มีน้ำ อีกทั้งดินก็แห้งผาก เมื่อจับก้อนดินถึงกับเป็นผุยผง ทำให้ชาวนาที่อยู่ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย และบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จึงทำหนังสือร้องขอให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงที่จังหวัดขอนแก่น ขึ้นมาทำฝนหลวงให้กับชาวนาบริเวณทุ่งกุลาด้วย ถ้าหาก ข้าวได้น้ำฝนก็สามารถที่จะตั้งตัวได้ ทั้งนี้ในการที่เก็บข้อมูลน้ำฝนแต่ละปี ที่ตำบลดงข้างน้อย ตก 119 วัน รวมปริมาณน้ำฝน 1,965 มิลลิเมตร เมื่อปี 2560 ส่วนปี 2561 ระยะเวลา 5 เดือน 20 วัน ฝนตก 47 วัน วัดได้ 495 มิลลิเมตร

 

          นายพลอย คงสุดี เกษตรกรบ้านโพน หมู่ที่ 8 บ้านโพนแท่นนอก บอกเช่นกันว่า นอกจากฝนทิ้งช่วงทำให้ข้าวแห้งตายแล้ว ยังทำให้เกิดปัญหาโรคด้วงสกายแล็ป ตามมา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับพี่น้องชาวนา ถ้าหากด้วงลงที่แปลงใดจะเสียหายหายทั้งแปลง เพราะส่วนใหญ่จะประสบปัญหาข้าวปลูก ถ้าได้ทำการหว่านข้าวลงนาแล้วก็จะไม่มีพันธุ์ข้าวหลงเหลือสำหรับพี่น้องชาวนา ถ้าเสียหายก็ต้องหาซื้อพันธุ์ใหม่ จากพ่อค้าแต่ก็จะไม่ได้พันธุ์ดีเหมือนกับที่เตรียมไว้เอง

 

          นางสาววาสนา วงษ์รัตน์ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ในการประเมินและวิเคราะห์ทั้งภาคฯ ใน จ.ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ต่างสประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง จึงได้ทำการปรับแผนเพื่อที่จะระดมช่วยเหลือในพื้นที่ดังกล่าว โดยการประเมินจากพื้นที่ พร้อมด้วยผู้ร้องขอมายังฝนหลวง จะนำเข้าบรรจุในแผนการทำฝนเทียม พร้อมประเมินทิศทางลมและทิศทางของก้อนเมฆ แต่เมื่อได้ลงพื้นที่เห็นสถานการณ์จริง ทำให้ทราบว่าฝนหลวงต้องรีบเร่งเข้ามาทำฝนเทียมให้กับพี่น้องเกษตรกรโดยเร็ว.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ