ข่าว

ประมง"ดีเดย์ "16 พ.ค.ใช้กม.ใหม่คุมเข้มจับสัตว์น้ำ !!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ดีเดย์ "16 พ.ค.-15 ธ.ค.ประเดิมบังคับใช้กฎหมายใหม่ทั่วประเทศ ออกกฎใช้เครื่องมือและวิธีทำประมงที่อนุญาตเท่านั้น จับสัตว์น้ำช่วงฤดูมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน

 

 

         15 พฤษภาคม  2561  นายอดิศร  พร้อมเทพ  อธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่าจะบังคับใช้กฎหมายประมงใหม่ในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ทั่วประเทศ เริ่มประเดิมตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.-15 ธ.ค.ในพื้นที่ 77 จังหวัด ในปี 2561  

 

          ทั้งนี้กรมประมงได้กำหนดฤดูที่สัตว์น้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อนขึ้นใหม่ โดยกำหนดระยะเวลาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม โดยได้ออกประกาศกรมประมง ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2561  ในพื้นที่ 45 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น

 

          มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์  นครราชสีมา  สระแก้ว  ปราจีนบุรี  นครนายก  ฉะเชิงเทรา  ชลบุรี  ระยอง  จันทบุรี  ตราด  ชุมพร  ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ และนครศรีธรรมราช  กำหนด ฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่และเลี้ยงตัวอ่อน ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2561 ในพื้นที่ 25 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสุโขทัย  ตาก  พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร

 

           นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี กาญจนบุรี นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์  กำหนด ฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่และเลี้ยงตัวอ่อน ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน ถึงวันที่ 15 กันยายน 2561 ในพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดตรัง  สตูล  พัทลุง  สงขลา  ปัตตานี  นราธิวาส และยะลา  กำหนด ฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่และเลี้ยงตัวอ่อน ระหว่างวันที่ 16 กันยายน ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2561   

   

           โดยภายในระยะเวลาดังกล่าว กำหนดให้เฉพาะ “เครื่องมือ. และวิธีการทำการประมงที่อนุญาต” เท่านั้นที่สามารถทำการประมงได้ในช่วงเวลาและแหล่งน้ำในจังหวัดดังกล่าว ได้แก่

          1. เบ็ดทุกชนิดที่ไม่มีลักษณะเป็นเบ็ดต่อกันเป็นสายมากกว่า 1 ตัว

           2. ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ และชนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร และไม่ทำการประมงด้วยวิธีประดาตั้งแต่สามเครื่องมือขึ้นไป

           3. สุ่ม ฉมวก และส้อม

           4. ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน โปง และโทง หรือเครื่องมือที่มีลักษณะและวิธีการคล้ายคลึงกัน

           5. แหที่มีความลึกไม่เกิน 6 ศอก (3 เมตร)

           6. การทำการประมงในพื้นที่แหล่งน้ำปิดที่ไม่ติดต่อกับแม่น้ำ หรือลำธารธรรมชาติ

           7. การทำการประมงเพื่อการศึกษา วิจัย หรือทดลองทางวิชาการ โดยได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง


            ​อธิบดีกรมประมง กล่าวว่าหากผู้ใดฝ่าฝืนตามประกาศฯ ดังกล่าว  มีโทษปรับตั้งแต่ห้าพันถึงห้าหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า จึงขอความร่วมมือชาวบ้านจับสัตว์น้ำจืด ให้ปฎิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัดเพื่อเปิดโอกาสให้สัตว์น้ำจืดได้แพร่ขยายพันธุ์โดยจะมีการห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงที่มีประสิทธิภาพสูงจับสัตว์น้ำจืดในพื้นที่แหล่งน้ำจืด

 

          เพื่อเปิดโอกาสให้ทรัพยากรสัตว์น้ำได้วางไข่ และเจริญเติบโตขึ้นมาทดแทน จึงได้มีการกำหนดมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในฤดูที่สัตว์น้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ตลอดมาตั้งแต่ปี 2507 จนถึงปัจจุบัน  ซึ่งในกฎหมายประมงฉบับใหม่ ทำให้สามารถกำหนดระยะเวลา ฤดูที่สัตว์น้ำจืดมีไข่ ในแต่ละพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม โดยได้มีการนำข้อมูลดังกล่าวไปทำประชาคมจากผู้แทนชาวประมงในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและส่งผลกระทบน้อยที่สุด 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ