ข่าว

ความสุขเล็กๆ ในชุมชนบ้านเอื้ออาทร พุทธมณฑลสาย 5

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความสุขเล็กๆ ในชุมชนบ้านเอื้ออาทร พุทธมณฑลสาย 5

               ชื่อว่าชุมชน แถมเป็นชุมชนขนาดใหญ่อย่างโครงการบ้านเอื้ออาทร พุทธมณฑลสาย 5 ที่ผู้อาศัยจากหลายแหล่ง ภูมิภาค วัฒนธรรมความเป็นอยู่ต่างกัน แต่ต้องมารวมอยู่ด้วยกันไม่น้อยกว่า 3,000 ชีวิต โดยไม่รู้จักมักจี่มาก่อน ความสุขในชุมชนน่าจะหายากอยู่เหมือนกัน    

ความสุขเล็กๆ ในชุมชนบ้านเอื้ออาทร พุทธมณฑลสาย 5
               แต่อาจมีข้อยกเว้นสำหรับชุมชนบ้านเอื้ออาทร พุทธมณฑลสาย 5 สามารถสร้างสรรค์ความสุขให้เป็นชุมชน “สุขภาวะ” ได้อย่างน่าอัศจรรย์
                อย่าลืมว่า ไม่มีชุมชนใดในโลกเริ่มต้นด้วยความเข้มแข็งในทันที ทุกชุมชนล้วนผ่านปัญหาและกระบวนการคัด เคี่ยว กรอง หล่อหลอม สั่งสมบทเรียนจากความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า จนฟูมฟักความเข้มแข็งขึ้นทีละน้อยๆ กระทั่งพัฒนาขึ้นเป็นชุมชนเข้มแข็งได้อย่างบ้านเอื้ออาทร พุทธมณฑลสาย 5

ความสุขเล็กๆ ในชุมชนบ้านเอื้ออาทร พุทธมณฑลสาย 5
                  สมยศ อินทกุล  สวมหมวก 2 ใบ ด้านหนึ่ง เป็นประธานชุมชนกับหมวกอีกใบเป็นประธานนิติบุคคลโครงการบ้านเอื้ออาทร พุทธมณฑลสาย 5 บอกว่า ทุกอย่างล้วนต้องใช้เวลา เพราะมีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย และไม่อาจสำเร็จด้วยใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากต้องร่วมกันหลายๆ กลุ่มช่วยแก้ไขปัญหา
                ปัญหาหนักอกหนักใจภายในชุมชนผู้มีรายได้น้อยโดยทั่วๆ ไป จะเป็นยาเสพติด และการพนันซึ่งมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ ตามมาด้วยปัญหาการก่ออาชญากรรม ตั้งแต่ลักเล็กขโมยน้อยจนถึงจี้ปล้น  แต่ที่นี่กลับมีน้อยมาก อันเป็นผลสืบเนื่องจากการวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างแยบยล
             “เราเริ่มต้นด้วยการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง คือวัยรุ่นระดับมัธยมต้นๆ แล้วใช้การอบรมผลร้ายของยาเสพติดและกีฬาเข้าช่วย เช่น ฝึกซ้อมฟุตซอล และแข่งขัน ขณะเดียวกันป้องกันคนค้ายาเสพติด ทั้งจากภายในและภายนอกโครงการ โดยใช้อุปกรณ์อย่างกล้องวงจรปิดเป็นเครื่องมือช่วยในทุกอาคาร”
               ในขณะการจัดการระบบความปลอดภัย สมยศก็ปรับเปลี่ยนจากเดิมเคยจ้างบริษัทเอกชนข้างนอกเข้ามา ก็เปลี่ยนเป็นคัดเลือกคนภายในชุมชนเป็นทีมรักษาความปลอดภัย “เพราะรู้จักคนในชุมชนดี ใครแปลกหน้าเข้ามาก็รู้ได้ทันที การดูแลควบคุมพื้นที่จึงง่ายกว่า”
                 กล้องวงจรปิดทำหน้าที่เป็นตาวิเศษ บันทึกภาพการเคลื่อนไหวแทนคน ซึ่งอาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง แม้จะมีพยานบุคคล แต่เอาเข้าจริงอาจไม่กล้าแจ้งเบาะแสให้ตำรวจ  เพราะเกรงภัยอันตรายถึงตัว และพยานบุคคลอาจเปลี่ยนคำให้การในภายหลัง จนท้ายที่สุดไม่อาจเอาผิดคนค้าตัวจริงได้
              “แต่ในโครงการที่นี่  พอเราเฝ้าติดตามดูจากในจอก็แจ้งตำรวจได้เลย  ตำรวจสามารถเข้าถึงตัวคนร้ายและของกลางได้ทันที นักขโมยรถยนต์ชื่อดังก็มาสิ้นฤทธิ์ที่นี่ นักค้ายาเสพติดมากรายถูกจับคาหนังคาเขามาแล้ว” สมยศเล่า
              ส่วนปัญหาการพนัน ทั้งการเล่นไพ่ พนันมวย จนถึงตีไก่ สมยศประสานพูดคุยกับตำรวจตู้แดงที่เข้ามาตรวจตราพื้นที่ในการลดปัญหานี้ ซึ่งทำได้ผลเป็นผลงานของตำรวจในการลดคดีอาชญากรรมด้วย

ความสุขเล็กๆ ในชุมชนบ้านเอื้ออาทร พุทธมณฑลสาย 5
               “ยาเสพติดน้อยลง  การพนันลดลง จำนวนคดีอาชญากรรมในบ้านเอื้ออาทร พุทธมณฑลสาย 5 ลดลงมากอย่างมีนัยสำคัญ  ตำรวจท้องที่สบายใจ คนในชุมชนก็มีความสุข อย่างน้อยไม่ต้องพะวงกับการใช้ชีวิตในโครงการ”
               พ้นจากเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแล้ว กิจกรรมที่ทำส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องสุขภาพ เช่น การฝึกโยคะ การเต้นแอโรบิก  การเล่นฟุตซอล  และ ฯลฯ คล้ายๆ กับทุกแห่งที่ต้องการสร้างสุขภาวะให้ชุมชน
                แต่สมยศไม่หยุดแค่นั้น เขายังคิดถึงสังคมของผู้สูงวัยในชุมชนซึ่งมีจำนวนไม่น้อย และใช้ชีวิตประจำอยู่ในชุมชน เพราะไม่ต้องออกไปทำงานเหมือนคนหนุ่มสาว จึงเป็นที่มาของกิจกรรมนวด ประคบ อบไอน้ำ ซึ่งกิจกรรมนวด ประคบ เคยมีมาก่อนหน้านี้ แต่เลิกล้มไปก่อนเข้ามาบริหาร
                “คนสูงอายุอยากนวด อยากประคบ หรืออบไอน้ำ แต่เมื่อไม่มีให้บริการ ต้องออกไปใช้บริการข้างนอก ซึ่งไม่สะดวก และมีเสียงเรียกร้องให้เราทำ ตอนนี้กำลังก่อสร้างสถานที่คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนสงกรานต์ปีนี้ โดยอุปกรณ์บางส่วนได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)” สมยศกล่าว
                ห้องนวดของที่นี่ไม่ใช่แค่เตียงสองเตียง แต่สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้มากถึง 40-50 ราย ทั้งคนในชุมชนและนอกชุมชน ส่วนพนักงานนวดจะเป็นคนในชุมชนเป็นหลัก  เท่ากับเสริมสร้างอาชีพขึ้นมา
               “ส่วนที่เป็นการนวดและประคบ ใช้ทั้งลักษณะการเก็บค่าสมาชิกและลูกค้ารายครั้งทั่วไป ส่วนการอบไอน้ำหรือซาวน่าเป็นบริการเสริม คิดราคาถูก โดยหวังเพียงเลี้ยงตัวเองได้ มีรายได้พอค่าแก๊ส ค่าดูแล หลักๆ เพื่อเป็นการบำรุงขวัญผู้สูงอายุ”
               สมยศยังเล่าถึงแผนการก่อสร้างอาคารบริเวณเดียวกันนี้ว่า ยังจะมีห้องสำหรับประชุม อบรม และห้องน้ำชาย-หญิง  เพื่อรองรับกิจกรรมของชุมชนที่เริ่มมากขึ้น และถี่ขึ้น อีกทั้งเพื่อความสะดวกเวลาจัดในวันหยุด เพราะที่ทำงานของนิติบุคคลฯ จะหยุดทำการ ห้องน้ำก็ปิด 
              “เป็นการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยระดมแรงงาน และเงินบริจาคจากคนในและนอกชุมชน ลำพังถ้ารองบประมาณอย่างเดียว บางทีก็ขับเคลื่อนอะไรไม่ได้เลย ชุมชนเองก็ต้องพยายามพึ่งพาตัวเองในระดับหนึ่ง และการมีส่วนร่วมจะทำให้เขารู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ช่วยกันดูแลอาคารและอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย” สมยศกล่าว
               ท้ายที่สุด สมยศสรุปว่า การขับเคลื่อนชุมชนนั้น ผู้นำชุมชนกับนิติบุคคลต้องมีแนวคิดคล้ายกันหรือเป็นกลุ่มเดียวกัน เพราะเป็นพื้นที่เดียวกัน และการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงถึงกันให้การสนับสนุนแก่ชุมชน
             “ปัจจัยสุดท้ายคือการบริหารจัดการชุมชน เป็นเรื่องที่ต้องทุ่มเทวางแผนและปฏิบัติอย่างจริงจังด้วยหัวใจ  ถ้าเรามุ่งมั่นตั้งใจทำสิ่งดีๆ คนในชุมชนเองนั่นแหละที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน และเป็นกำแพงป้องกันเรา” 
    
                                      ************************


 

    
    
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ