ข่าว

นาฬิกา“บิ๊กป้อม”ลาม“นิด้า”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ผอ.นิด้าโพล”ประกาศลาออกอ้างโดนจำกัดเสรีภาพวิชาการระงับเผยแพร่“โพลล์ยืมนาฬิกาหรู”ด้านอธิการบดีแจงคดียังไม่สิ้นสุดหวั่นชี้นำสังคม

 

          ความเคลือบแคลงกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ถูกเผยแพร่ในสื่อต่างๆ กว่า 20 เรือน ซึ่งเจ้าตัวอ้างว่ายืมเพื่อนมาจึงไม่ได้แสดงบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.นั้น นอกจากจะสร้างความขัดแย้งในสังคมการเมืองแล้วยังลุกลามเข้าสู่แวดวงวิชาการด้วย เมื่อผลสำรวจในเรื่องดังกล่าวของสถาบันหนึ่งถูกระงับยับยั้งไม่ให้เผยแพร่  

          ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะผู้อำนวยการ “นิด้าโพล” ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Arnond Sakworawich ประกาศเตรียมลาออกจากตำแหน่ง ผอ.นิด้าโพล ด้วยเหตุผลว่าโดนจำกัดเสรีภาพทางวิชาการ

          ทั้งนี้ เนื้อหาที่โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “ผมลาออกจากตำแหน่ง ผอ.นิด้าโพล พรุ่งนี้เช้าครับ เสรีภาพทางวิชาการและการให้เกียรติกัน สำคัญที่สุดสำหรับผม แม้ไม่มีตำแหน่งใดๆ ผมก็มีที่ยืนในสังคมได้เพราะยืนอยู่บนความถูกต้องมาโดยตลอด ผมสนับสนุนรัฐประหารและสนับสนุนรัฐบาลอยู่ แต่ถ้าสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ผมก็ไม่จำเป็นต้องเลีย top boot นะครับ ยิ่งมีหลักฐานทางวิชาการที่รัดกุมเป็นความคิดเห็นของประชาชน หน้าที่ผมในฐานะนักวิชาการยิ่งต้องนำเสนออย่างตรงไปตรงมา ตำแหน่งบริหารใดๆ ในสถาบัน ผมไม่รับเงินค่าตอบแทนอยู่แล้วเพราะถือว่าเป็นตำแหน่งทางการเมือง ต้องทำด้วยความเสียสละ และยืนอยู่บนความกล้าหาญทางวิชาการ เสรีภาพทางวิชาการ และความกล้าหาญทางจริยธรรม หากไม่สามารถธำรงสิ่งเหล่านี้ไว้ได้ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะอยู่ในตำแหน่ง ผอ.นิด้าโพล ซึ่งต้องทำหน้าที่สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนอย่างซื่อสัตย์ และกล้าหาญ ผมจะไม่มีวันทรยศต่อประชาชนและความถูกต้อง”

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมของนิด้า ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Phichai Ratnatilaka Na Bhuket ว่า “ได้ข่าวยืนยันมาแล้วว่า โพลสุดท้ายที่ทำเสร็จแล้ว แต่ยังไม่เผยแพร่สัปดาห์นี้ ของ ผอ.นิด้าโพล เป็นเรื่องเกี่ยวกับการยืมนาฬิกา ถูกผู้บริหารสถาบันระงับการเผยแพร่ ท่าน ผอ.จึงตัดสินใจลาออก เอวัง...ครับ สำหรับเสรีภาพทางวิชาการ ในสถาบันการศึกษาระดับสูงของประเทศ หากผู้บริหารมีวิธีคิดเช่นนั้น”

          อธิการบดีแจงเบรกเหตุชี้นำ
          ด้าน นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ข่าวที่ออกมาเป็นเรื่องจริง ตนสั่งชะลอการเผยแพร่โพลล์ดังกล่าว เนื่องจากเหตุผล 2 ประการคือ 1.กรณีแหวนเพชรและนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ออกมา ดังนั้น หากทำผลสำรวจในช่วงนี้ ก็เท่ากับเป็นการชี้นำสังคม 2.การทำโพลล์ได้มีการมุ่งไปที่ตัวบุคคลว่าทำผิดหรือไม่ผิด ซึ่งถือว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากศาล หรือป.ป.ช.ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนและยังไม่มีคำตัดสินให้เป็นที่สิ้นสุด

          “คำว่าเสรีภาพทางวิชาการหมายถึงการแสดงออกที่ถูกต้องและอยู่บนเวทีในช่วงจังหวะที่เหมาะสม และต้องไม่ชี้นำต่อสังคม ซึ่งตลอดการบริหารที่ผ่านมาของผม 5 ปี และทางนิด้าเองก็ให้เสรีภาพทางวิชาการในการจัดทำโพลล์ต่างๆ มาโดยตลอด และผมยืนยันว่าการสั่งชะลอผลสำรวจนี้ไม่มีใบสั่งจากฝ่ายใดๆ ทั้งทหารและการเมืองทั้งสิ้น แต่เป็นไปตามหลักวิชาการ และเป็นอำนาจการตัดสินใจของผมในฐานะอธิการบดีที่ต้องรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมา โดยก่อนหน้านี้เคยมีการกำหนดหัวข้อที่จะทำโพลล์ในเรื่องที่เกี่ยวกับคดีหนึ่งซึ่งยังสอบสวนไม่ถึงที่สุด ผมได้สั่งให้เขาระงับมาแล้ว นี่จึงไม่ใช่ครั้งแรก แต่ถ้าในกรณีเรื่องนาฬิกามีผลสอบจาก ป.ป.ช.เป็นที่สิ้นสุดแล้ว เขาจะทำโพลล์หรือเผยแพร่ผลสำรวจในเรื่องนี้ ก็ไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น” อธิการบดีนิด้า กล่าวและว่า ในวันที่ 29 มกราคมนี้ คงจะได้มีการพูดคุยและทำความเข้าใจกับนายอานนท์ ถึงเหตุผลในการระงับผลสำรวจดังกล่าว

          ปชป.สะท้อนวงการศึกษาอ่อนแอ 
          นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่รู้ว่าเรื่องนี้จริงหรือไม่ เพราะยังไม่ได้ดูข่าว และก็ไม่มีข้อมูลว่าลึกๆ แล้วเรื่องนี้เป็นอย่างไร ซึ่งการที่เขาลาออกอาจจะเป็นเพราะไม่สบายใจหรือไม่ แต่ถ้าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริงก็สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของวงการศึกษาของประเทศไทย ประเทศเราไม่มีความเข้มแข็งทางวิชาการ นักวิชาการไม่กล้าที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นตรงข้าม เช่น ในการปฏิวัติรัฐประหารที่ผ่านมา นักวิชาการก็เห็นด้วยกับการยึดอำนาจทุกครั้ง ขนาดแค่เรื่องนี้ยังไม่กล้าพูดกันบ้านเมืองจะเดินต่อไปอย่างไร และจะทำอะไรกันได้ต่อไป

          จี้ยึดนาฬิกาหรูสอบเสียภาษี
          นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เปิดเผยว่า จากการแถลงข่าวของ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา มีข้อเท็จจริงโดยรวมที่เชื่อได้ว่า นาฬิกาหรู 25 เรือนนั้นมีอยู่จริง และ พล.อ.ประวิตร ได้ยื่นหนังสือชี้แจง 2 ครั้งแล้วว่า นาฬิกาหรูทั้งหมดตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น เป็นของเพื่อนที่ให้ยืมมาใส่ กรณีดังกล่าวทำให้มีประเด็นพิจารณาตามมาในเรื่องภาษี เพราะนาฬิกาหรูเหล่านี้เป็นสินค้าราคาแพงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ทั้งในแบบถูกต้องโดยบริษัทนำเข้า หรือในแบบหลบเลี่ยงการเสียภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเรื่องภาษีนั้น หากนำเข้าโดยถูกต้องก็จะตรวจสอบได้จากเอกสารนำเข้าหรือใบเสร็จรับเงิน แต่หากมีการหลบหนี ก็จะไม่มีเอกสารมาแสดงและทำให้รัฐเสียหายจากการเก็บภาษีไม่ได้ กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรีที่ต้องสั่งการให้ตรวจสอบเรื่องนี้โดยด่วน

          นายเรืองไกร กล่าวว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 หน่วยงานของรัฐคือกรมศุลกากร เคยแถลงข่าวการตรวจสอบจับนาฬิกาหรูคามือของสาวไทย 2 คนที่ด่านสุวรรณภูมิมาก่อนแล้ว โดยกรณีนี้ นาฬิกามี 2 เรือน มูลค่า 1.3 ล้านบาท มีมูลค่าภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระให้รัฐ 2 แสนบาท ดังนั้น กรณีนาฬิกาหรูที่ ป.ป.ช. แถลงข่าวยอมรับว่ามีอยู่จริง ตามข่าวที่โซเชียลนำสืบและมีมูลค่ารวมกันหลายสิบล้านบาท หากนาฬิกาหรูนำเข้าโดยไม่ถูกต้องหรือไม่มีการสำแดงเพื่อเสียภาษีให้รัฐ รัฐย่อมขาดรายได้หลายล้านบาทและเป็นเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอย่างที่นายกฯ ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีจึงต้องมีหน้าที่สั่งการตรวจสอบ โดยปกติเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรคงทำเหมือนกับกรณีทั่วไปแล้ว แต่เมื่อเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประวิตร เจ้าหน้าที่คงไม่กล้าไปขอยึดหรืออายัดนาฬิกาหรูดังกล่าวมาตรวจสอบ

          “ดังนั้น จึงจำเป็นต้องร้องให้นายกฯ สั่งการโดยด่วน เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ด้วยการยึดหรืออายัดนาฬิกาหรูมาตรวจสอบว่า มีการเสียภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มครบถ้วนหรือไม่ และนายกรัฐมนตรีควรสั่งให้พล.อ.ประวิตรให้ความร่วมมือในการส่งมอบนาฬิกาหรือชี้เบาะแสเพื่อนำไปสู่การยึดนาฬิกามาตรวจสอบด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ต้องใช้มาตรา 44 ใช้อำนาจนายกฯ ก็เพียงพอแล้ว โดยจะไปยื่นหนังสือในวันที่ 30 มกราคมนี้ ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้นายกฯ รีบสั่งการให้มีการยึดนาฬิกามาตรวจสอบโดยเร็ว” นายเรืองไกร กล่าว

          ปชป.จี้เลิกใช้เล่ห์เลื่อนเลือกตั้ง
          ส่วนความเคลื่อนไหวทางการเมือง หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้ขยายเวลาบังคับใช้ออกไป 90 วัน เนื่องจากพรรคการเมืองอาจยังไม่พร้อมในการจัดการภายในเนื่องจากยังติดคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 และยืนยันว่าไม่ได้รับใบสั่งใครให้เลื่อนการเลือกตั้งนั้น

          นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่า การแก้ไขร่างกฎหมายเป็นเรื่องของ สนช. ไม่สามารถก้าวล่วงได้นั้น เห็นว่า ถึงแม้นายกฯ จะประกาศว่าไม่ได้ก้าวล่วงกับการแก้ไขกฎหมายเพื่อขยายเวลา แต่คำกล่าวอ้างของ สนช.เพื่อขยายเวลานั้น มาจากคำสั่งที่หัวหน้า คสช.ที่ 54/2560 ซึ่งเป็นคำสั่งที่ออกโดยนายกฯ และเกรงว่าพรรคการเมืองจะดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมืองไม่ทันนั้น ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า ถ้านายกฯ ไม่ออกคำสั่งที่ 53/2560 สนช. ก็จะไม่มีข้ออ้างมาขยายเวลาออกไป 90 วันได้ ถึงแม้นายกฯ จะบอกว่าไม่ได้ก้าวล่วง สนช. แต่พฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกก็พอจะบอกความนัยได้ว่าสมคบคิดกันหรือไม่

          ส่วนที่ สนช.บางคนบอกว่าพรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับการขยายเวลา 90 วัน เพราะไม่อยากทำไพรมารีนั้น นายองอาจกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด พรรคประชาธิปัตย์พร้อมทำไพรมารี แต่ควรเป็นไพรมารีที่ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำไพรมารีที่เป็นเพียงแค่พิธีกรรมเท่านั้น โดยเฉพาะการรีเซตสมาชิกพรรคของพรรคเก่าทั้งหมดตามคำสั่งที่หัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 จะทำให้การทำไพรมารีเป็นแค่พิธีกรรมเพื่อทำตามกฎหมายมากกว่า ไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริงแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี เมื่อกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้เมื่อใดก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย ถึงแม้เราจะไม่เห็นด้วยในบางเรื่องก็ตาม

          “การที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ขยายเวลาบังคับใช้ออกไป 90 วัน ย่อมทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก 90 วัน จากที่นายกฯ เคยให้สัญญาว่าจะให้เลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อนายกฯ อันไม่ค่อยเกิดผลดีต่อการทำหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี และในฐานะหัวหน้า คสช. แต่อย่างใด เพราะเมื่อใดก็ตามที่ความเชื่อมั่นเชื่อถือต่อตัวนายกฯ ลดลง ก็ย่อมทำให้ศรัทธาที่ประชาชนมีต่อนายกฯ ลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานของนายกฯ ที่กำลังเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่ประชาชนแทบจะร้องไม่ออก บอกไม่ถูกอยู่ในขณะนี้” นายองอาจกล่าว และว่า หวังว่าการใช้เล่ห์เพทุบายทางกฎหมายเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของกลุ่มผู้มีอำนาจจะไม่เกิดขึ้นอีก ขอให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ทางที่ดีที่สุดคือปล่อยให้การปฏิบัติตามกฎหมายต่างๆ เป็นไปตามครรลองปกติก็จะช่วยให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ด้วยดี แต่ถ้ายังมีการใช้เล่ห์เพทุบายทางกฎหมายกันต่อไป อาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาจนยากที่จะแก้ไข ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศชาติในที่สุด

          ไร้สัญญาณยุติเลื่อนเลือกตั้งอีก
          นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การกำหนดวันเลือกตั้งเป็นเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัญญาไว้ต่อประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อียู และสหประชาชาติ การขานรับวันเลือกตั้งดูได้จากหุ้นขึ้นติดต่อกันหลายวันอย่างมีนัยสำคัญ แปลความได้ว่า สังคมไทยต้องการให้มีการเลือกตั้งตามกำหนดที่หัวหน้าคสช.ให้สัญญาประชาคมไว้กับโลก 

          “การที่คสช.ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 53/2560 และสนช.มีมติให้เลื่อนวันบังคับใช้กฎหมายลูกเลือกตั้งส.ส.ออกไปอีก 90 วัน ทำให้การเลือกตั้งน่าจะเลื่อนออกไปอย่างน้อยเป็นมีนาคม 2562 และยังไม่มีท่าทีว่าเรื่องนี้จะเป็นคำตอบสุดท้าย ไม่มีอะไรยืนยันว่าจะไม่มีการเลื่อนเพิ่มอีก อีกทั้งยังมีสัญญาณในการปิดหู ปิดปาก การไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ถือเป็นเรื่องที่ขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง การใช้อำนาจรัฐแทรกแซง เป็นการกดดันความรู้สึกของพี่น้องคนไทย ที่ คสช.และรัฐบาลจะต้องทบทวนความคิดลักษณะนี้โดยด่วน ความจริง คสช.มีเวลา 3-4 ปีเต็มที่จะแก้ปัญหาคนทุจริต ทั้งในรัฐบาลก่อนหรือรัฐบาลนี้ แต่กลับไม่เอาจริงเอาจัง จนความนิยมน่าเชื่อถือลดลง รัฐบาลคสช.ลองคิดเสียใหม่ จะได้กลับทิศทางให้ถูกต้อง ก่อนที่จะเสียหายไปมากกว่านี้” นายวิรัตน์กล่าว

          “นิพิฏฐ์”ทำนายคว่ำกฎหมายส.ว.อีก
          นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นอกจากการเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ออกไป 90 วันจะกระทบโรดแม็พเลือกตั้งออกไปปี 2562 แล้ว ยังมีปัจจัยยื้อเวลาอีกหนึ่งข้อที่จะเป็นข้ออ้างการเลื่อนแล้วยื้อเวลาครั้งต่อไปได้อีก คือมีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คนหนึ่งระบุว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีปัญหา เพราะสนช.ไปแก้หลักการ อาทิ ประเด็นการเลือกไขว้ รวมถึงการลดจำนวนกลุ่มการเลือกกันเองจาก 20 กลุ่ม ให้เหลือ 10 กลุ่ม จนน่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมหรือไม่ 

          “ผมสังเกตว่าเมื่อคณะกรรมาธิการ หรือสนช. ออกความเห็นแบบนี้เมื่อไหร่ก็เป็นไปตามคำพูดเขาทุกครั้ง จึงคิดว่าน่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมฯ ตามคำพูดของเขาจนระยะเวลาก็ต้องยืดออกไป นอกจากนี้ถ้ามติของคณะกรรมาธิการร่วมฯ ไม่สอดคล้องกับมติของสนช.อีก ก็เป็นช่องให้ สนช.อาจคว่ำพ.ร.ป.ส.ว.ได้ ดังนั้นตรงนี้จึงกลายเป็นอีกช่องทางหาเหตุในการยื้อโรดแม็พออกไปอีกก็ได้” นายนิพิฏฐ์กล่าว

          นายนิพิฏฐ์ ยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวที่ลานสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ของกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือดีอาร์จี เพื่อต่อต้านการสืบอำนาจของ คสช. เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมาว่า คาดว่าการเคลื่อนไหวเช่นนี้จะมีมากขึ้น แต่คสช.อาจจะดำเนินคดีกับคนที่ออกมาเคลื่อนไหว แล้วบ้านเมืองก็จะมีปัญหาอีก คือถ้าไม่มีการดำเนินคดีกับคนที่ออกมาเคลื่อนไหวก็จะมีประเด็นว่าเลือกปฏิบัติหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ คสช.ก็ได้จับกุมคนกลุ่มหนึ่งที่เขามาเดินเพื่อเสรีภาพไปแล้ว แต่คิดว่าคนที่ออกมาชุมนุมคงไม่กลัว เพราะฉะนั้นทางออกคือคสช.ต้องพูดให้ชัดว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์จะออกมาพูดให้ชัดในเวลานี้คงไม่ทันแล้ว เพราะคนคงไม่เชื่อถืออีกต่อไป ความเชื่อถือไม่มีแล้ว และพอคนไม่เชื่อ เขาก็จะกดดันให้มีการเลือกตั้ง จึงคิดว่า สถานการณ์อย่างนี้ไม่ดีเลยสำหรับรัฐบาล คสช. นายกฯ จึงต้องบอกความจริงกับประชาชนดีกว่าว่าแท้จริงแล้วต้องการอะไร

          ด้านนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีสนช.มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาบังคับใช้ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยเลือกตั้งส.ส.ออกไป 90 วัน ว่า เป็นเจตนาที่คสช.และรัฐบาลต้องการยื้อเวลาการเลือกตั้ง ซึ่งขัดกับสิ่งที่รัฐบาลพูดมาตลอดว่าไม่เคยมีการส่งสัญญาณให้แก่สนช. แล้วเพราะเหตุใดพล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่เคยรักษาคำพูด ขณะเดียวกันแม้ร่างกฎหมายส.ว.จะไม่มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมฯ แต่เชื่อว่าเมื่อถึงเวลา 90 วัน รัฐบาลก็จะมีเทคนิควิธีการทางกฎหมาย หรือในขณะนั้นมีระเบิดหรือเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น รัฐบาลก็จะนำเหตุผลดังกล่าวมาอ้างเป็นเหตุผลในการเลื่อนเลือกตั้งอีกใช่หรือไม่

          เอื้อพรรคใหม่หนุนนายกฯคนนอก
          ขณะที่ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประมวลจากที่เป็นข่าวแล้วมองว่าน่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคใดพรรคหนึ่งที่กำลังจะตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับใครคนใดคนหนึ่งหรือสนับสนุนนายกรัฐมนตรี จึงต้องดึงเวลาเพื่อเอื้อให้พรรคใหม่ได้มีเวลาเตรียมการต่างๆ ได้มากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงหากเป็นใครก็ตามที่คิดจะทำอย่างนั้น ควรต้องเตรียมตัวมาตั้งนานแล้วไม่ใช่คิดจะทำในตอนนี้ 

          “ที่พูดเช่นนี้เพราะที่ผ่านมามีกระแสข่าวการเตรียมกำลังจะตั้งพรรคเพื่อสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นระยะๆ ทั้งนี้แม้จะเลื่อนบังคับใช้กฎหมาย 90 วัน แต่ในระหว่างนี้คนที่เกี่ยวข้องควรเตรียมพร้อม เมื่อกฎหมายมีผลจะได้เดินหน้าจัดเลือกตั้งได้ในปี 2561 โดยไม่ต้องรอให้ถึง 150 วัน หรือในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หากตั้งใจจะจัดเลือกตั้งก็น่าจะทำได้ทัน เรื่องนี้ไม่ได้มองว่าพรรคเก่าเสียเปรียบหรือได้เปรียบ แต่ประเด็นคือเมื่อประกาศย้ำว่าจะเลือกตั้งในปี 2561 ตามโรดแม็พ ซึ่งถือว่าเป็นคำมั่นสัญญากับคนในประเทศและนอกประเทศ เมื่อเลื่อนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ไม่น่าจะใช่โรดแม็พที่น่าเชื่อถือ” พล.ต.ท.วิโรจน์กล่าว

          รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังกล่าวกรณีที่มีข้อสังเกตว่าอาจจะมีปัจจัยที่เหนือการควบคุมทำให้การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ต้องเลื่อนออกไปอีกว่า มองว่าเป็นการพูดไปเรื่อย จะพูดตามใจแป๊ะอย่างไรก็ได้ เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เหนือการควบคุมของพรรคการเมืองที่จะไปคัดค้าน ขึ้นอยู่กับคสช.ว่าต้องการแบบไหนและจะเอาอย่างไร ส่วนที่มองกรณีที่มีข่าวว่าอาจมีผู้ยื่นตีความพ.ร.ป.ส.ว. ส่อขัดรัฐธรรมนูญ อาจเป็นปัจจัยหนึ่งด้วยนั้น ถือว่าเป็นเรื่องของเขากันเอง แต่มองว่าคงมีส่วนเกี่ยวโยงกันกับการเลือกตั้งส.ส. จึงต้องดูว่าท้ายสุดแล้วผู้ที่มีอำนาจต้องการอย่างไร

          เลิกใช้โรดแม็พเพราะไม่แน่นอน 
          นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า การเลื่อนเลือกตั้งออกไปจะมีผลเสียและภาระตามมามากกว่าที่คิด เพราะ 1.จะทำให้ความน่าเชื่อถือของคนพูดลดลง และถ้าคนไม่เชื่อถือคำพูดแล้ว ก็ยากที่จะผลักดันนโยบายต่างๆ ให้สำเร็จ 2.เกิดความไม่แน่นอนเพิ่มไปอีก เพราะไม่มีหลักประกันว่าจะรักษาคำพูด จะซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ ส่งผลให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่นที่จะลงทุน 3.ส่งผลกระทบต่อเกียรติภูมิของประเทศ รวมถึงสหภาพยุโรปจะไม่เจรจาและลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับไทยจนกว่าจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกและสินค้าไทยเสียประโยชน์ 

          4.คำว่าโรดแม็พคือคำที่ไร้ความหมาย เพราะไม่ได้ให้ความแน่นอนอะไรกับคนไทย 5.การเลื่อนการเลือกตั้งนำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิดของคนในสังคมอย่างกว้างขวาง จึงมองไม่เห็นทางว่าการสร้างความปรองดองจะสำเร็จได้อย่างไร เนื่องจากกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมอย่างสันติผ่านการออกเสียงเลือกตั้งของประชาชนทั่วประเทศยังไม่มีกำหนดชัดเจน ตนคงไม่ฝากอะไรเพราะผู้ที่เกี่ยวข้องควรคิดได้เอง เรื่องนี้ใช้สมองคิดคำนวณทางการเมืองให้น้อยๆ ใช้หัวใจและจิตสำนึกที่เห็นแก่ประชาชนให้มากๆ จะพบทางออกเอง 

          อัดรัฐส่งไทยนิยมลุยหาเสียงแล้ว
          นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และคณะกรรมการติดตามการร่างรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่ได้รับใบสั่งจากผู้มีอำนาจ และเรื่องนี้เป็นช่องทางที่จะยื้อการเลือกตั้งออกไปให้ยาวที่สุดเพราะที่ผ่านมารัฐธรรมนูญเขียนว่าถ้ากฎหมาย 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลประกาศใช้จะต้องเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน ซึ่งคือระยะเวลา 5 เดือน ทั้งนี้กฎหมาย 4 ฉบับมีกรอบบังคับต้องทำให้เสร็จ แต่สุดท้าย เนติบริกรทั้งหลายมาหาช่อง อย่าเพิ่งให้มีผลใช้บังคับฉบับหนึ่ง ซึ่งคือพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ให้ยื้อการบังคับใช้ไปอีก 3 เดือน ซึ่งเมื่อบวกกับอีก 5 เดือนที่มีอยู่ก็กลายเป็น 8 เดือน ฉะนั้นการยื้อใช้บังคับกฎหมายก็มีเหตุผลเดียวคือความไม่พร้อมในเรื่องต่างๆ ของผู้มีอำนาจ

          ส่วนจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคที่จะตั้งใหม่เพื่อสนับสนุนคสช.หรือไม่นั้น นายสามารถ กล่าวว่า ขณะที่มีการยื้อกฎหมายให้บังคับใช้ออกไปอีก 90 วัน เขาก็มีการตั้งทีมไทยนิยมลงไป 7,000 กว่าทีมทุกตำบล ก็ประจวบเหมาะกับการขอเวลาใช้ทีมนี้ไปหาเสียงก่อน ส่วนจะเอื้อประโยชน์ให้พรรคไหน เชื่อว่าประชาชนทราบกันอยู่แล้ว แต่ไม่คิดว่าจะได้ผล เพราะชาวบ้านเข้าใจและรู้ทันว่าเป็นการชิงความได้เปรียบทางการเมือง ทั้งนี้เราคงไม่เรียกร้องอะไรเพราะหากองค์กรที่เกี่ยวข้องรับธงมาก็มีสิทธิยกคำร้องได้ง่ายๆ หรือไม่ อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ระบุว่าเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ได้ไปสั่งการอะไร แต่ทางพรรคก็พยายามทำความเข้าใจกับสาธารณะว่าอะไรเป็นอะไร และเชื่อว่าเมื่อประชาชนเข้าใจเรื่องเหล่านี้ การเคลื่อนไหวต่างๆ จะเกิดขึ้นไปตามธรรมชาติของสังคม

          นายสามารถ ยังกล่าวถึงการลดจำนวนกลุ่ม ส.ว.จาก 20 กลุ่ม เหลือเพียง 10 กลุ่ม ว่าไม่มีปัญหาอะไรเพียงแต่ขอให้ครอบคลุมทุกอาชีพและควรจะเลือกไขว้กัน ไม่ควรกระจุกอยู่ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะเจตนาการได้ส.ว.สรรหาเพื่อให้ได้ส.ว.หลากหลายสาขาอาชีพ ฉะนั้นไม่เห็นด้วยที่จะมีการเลือกตั้งกันภายในกลุ่ม แต่ควรไขว้กลุ่มกันเพื่อให้ได้คนที่ดีที่สุดของแต่ละกลุ่มเข้ามาทำงาน 

          ประชาชนค้านเลื่อนเลือกตั้ง
          วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,341 คน ระหว่างวันที่ 24-27 มกราคม หัวข้อ “ประชาชนคิดอย่างไร ? กรณีเลื่อนเวลาเลือกตั้ง” ภายหลัง สนช.มีมติให้แก้ไขมาตรา 2 ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไป 90 วัน ส่งผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป และอาจจะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2562 พบว่า ประชาชน ร้อยละ 48.27 อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 27.81 เห็นว่า ถ้าการเลื่อนเลือกตั้งส่งผลดีทำให้สถานการณ์ดีขึ้นก็ยอมรับได้ ร้อยละ 26.07 เห็นว่า กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ เป็นการสืบทอดอำนาจ ขณะที่ ร้อยละ 47.05 ไม่เห็นด้วย หากต้องเลื่อนเลือกตั้งออกไป เพราะเลื่อนมาหลายครั้งแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ประเทศ ส่วนร้อยละ 20.51 เห็นด้วย หากเลื่อนเลือกตั้ง

          ทั้งนี้ เมื่อถามว่า ประชาชนผิดหวังกับการเลื่อนเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ ประชาชนร้อยละ 39.97 รู้สึกเฉยๆ ขณะที่ร้อยละ 31.14 รู้สึกผิดหวัง และเมื่อเลื่อนการเลือกตั้งมีผลต่อรัฐบาลอย่างไร ร้อยละ 56.22 เห็นว่า เหมือนเดิมเพราะจะเลือกตั้งหรือไม่ก็ยังมีชีวิตความเป็นอยู่ ข้าวของแพง เศรษฐกิจไม่ดี ส่วนหากมีการเลื่อนการเลือกตั้ง ประชาชนคิดว่าบรรยากาศทางการเมืองไทยต่อไปนี้จะเป็นอย่างไร พบว่า ร้อยละ 36.87 ยังมีการทะเลาะเบาะแว้ง โจมตีกันไปมา รองลงมา ร้อยละ 35.19 อาจมีกลุ่มที่ไม่พอใจออกมาเคลื่อนไหว วิพากษ์วิจารณ์ กดดันรัฐบาล และร้อยละ 34.68 รัฐบาลยังบริหารประเทศต่อไป อยู่ภายใต้มาตรา 44

          พท.ได้ทีชูปชช.อยากเลือกตั้ง
          นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่อยากเห็นการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นโดยเร็ว กรณีคสช.จะไม่ฟังเสียงภาคการเมือง ภาควิชาการ ก็อาจอ้างเหตุผลต่างๆ ได้ แต่ถ้าไม่ฟังเสียงประชาชนเสียเลย ประเทศจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร อีกทั้งขณะนี้สังคมกำลังจับตามองการเร่งใช้งบประมาณแผ่นดินในช่วงปลายรัฐบาลนี้ตามโครงการไทยนิยม ด้วยการใช้งบประมาณแผ่นดินนับแสนล้านบาทปูพรมทั่วประเทศทุกตำบล หมู่บ้าน ว่าจะเป็นโครงการสร้างความนิยมนายกรัฐมนตรีคนนอกหรือไม่

          “ขอเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบ เพราะงบประมาณแผ่นดินเป็นภาษีของประชาชน และขอเรียกร้องขอให้นายกฯ แก้ไขคำสั่ง สร.ที่ 21/2561 ด้วยการยกเลิกคำสั่งใช้จิตอาสามาร่วมปฏิบัติงานตามโครงการดังกล่าว เพราะเป็นโครงการที่เกี่ยวกับการเมืองหรือเกี่ยวเนื่องกับการเมือง สุดท้ายขอฝากว่าคนมักพูดมุสา จะไม่พึงทำความชั่ว ย่อมไม่มี” นายชวลิต กล่าว

          มองเห็นอนาคตปท.ไม่ชัดเจน
          ด้านสำนักวิจัยซูเปอร์โพล โดยนายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “อนาคตประเทศกับคุณภาพนักการเมือง” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,299 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10-27 มกราคมที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 60.90 ยังมองไม่เห็นความชัดเจนในอนาคตของประเทศ ขณะที่ร้อยละ 35.0 เห็นชัดเจนแล้ว และร้อยละ 4.1 ไม่แน่ใจ

          ทั้งนี้ เมื่อถามถึงความชัดเจนของความขัดแย้งเดิมๆ จากนักการเมือง พบว่า ร้อยละ 67.1 ระบุ เห็นชัดเจน ร้อยละ 29.9 ระบุไม่ชัดเจน และร้อยละ 3.0 ไม่แน่ใจ ส่วนคุณภาพนักการเมืองปัจจุบันกับความสุขของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.0 ระบุ คุณภาพนักการเมือง ทำให้มีความสุขน้อยถึงไม่สุขเลย ในขณะที่ร้อยละ 30.8 ระบุทำให้สุขปานกลาง และร้อยละ 11.2 ระบุ คุณภาพนักการเมืองปัจจุบันทำให้สุขมาก ถึงมากที่สุด ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงเงินในกระเป๋า กับสภาพคล่องของผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงยุคนักการเมืองเป็นรัฐบาล พบว่า ร้อยละ 21.7 ระบุ มีมากกว่า ในขณะที่ ร้อยละ 29.4 ระบุมีน้อยกว่า อย่างไรก็ตามประชาชนร้อยละ 48.9 ระบุว่าไม่แตกต่างกันกับยุคนี้

          “ไก่อู”ปัดรัฐหวังสืบทอดอำนาจ 
          พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โพลล์ก็คือโพลล์ ปัจจุบันโพลล์มีหลายสำนัก ซึ่งแต่ละสำนักไม่ค่อยตรงกัน ยืนยันว่ารัฐบาลฟังเสียงทุกเสียง และรับรู้รับทราบเสียงจากสังคมตามที่โพลล์สำรวจความคิดเห็นมา แต่การเลื่อนหรือไม่เลื่อนการเลือกตั้ง ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลและคสช.เสียทีเดียว แต่เป็นการปฏิบัติตามข้อกฏหมาย ระเบียบและหลักเกณฑ์ของสนช.

          “การขยับไป 90 วัน ไม่ได้ก่อให้เกิดผลอะไร ไม่ได้สืบทอดอำนาจ หรือมีความจำเป็นอะไรที่ยังหาหลักเกณฑ์ที่จะไม่ต้องทำตามสนช.ไม่ได้ ซึ่งเวลา 90 วันทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว แล้วจะเป็นอะไรหนักหนาแค่ 90 วัน คงไม่เป็นอะไร ใครคิดอย่างไร ไม่เป็นไรเราว่ากันตามระเบียบ รัฐบาลตั้งใจทำหน้าที่ของตนเองเต็มที่” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

          พล.ท.สรรเสริญ ยังกล่าวถึงกรณีที่กลุ่มสตาร์ทอัพพีเพิล เตรียมออกมาทำกิจกรรมเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐบาลและคสช. ทุกวันเสาร์ ที่ถนนราชดำเนิน เพื่อเรียกร้องให้ คสช.ยุติความพยายามสืบทอดอำนาจ รวมไปถึงจัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ว่า ใครจะทำอะไรก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดกับหลักของกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงจะเข้าไปตักเตือน เพื่อให้ไม่เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน ให้เคารพกติกา คือปรับให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหากปฏิบัติตามก็ไม่มีปัญหา 

          เชื่อไทยนิยมพัฒนาถึงรากฐาน
          พร้อมกันนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืนว่า รัฐบาลมีความตั้งใจว่า ปี 2561 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศในทุกด้าน ทั้งการทำงานของหน่วยราชการ เศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และการช่วยเหลือประชาชนในระดับฐานราก โดยนายกฯ เน้นย้ำว่า การพัฒนาความเจริญในทุกจังหวัดทั่วประเทศจะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกส่วนตั้งแต่ระดับประเทศ จังหวัด อำเภอ จนถึงตำบล เพื่อลงไปขับเคลื่อนกับประชาชน โดยแต่ละจังหวัดต้องไปพิจารณาว่าศักยภาพที่เป็นจุดแข็งและปัญหาอุปสรรคของตนเองคืออะไร และจะต้องนำสิ่งใดไปต่อยอดหรือปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น การขับเคลื่อนของแต่ละจังหวัดจะสอดคล้องกับการลงพื้นที่ของนายกฯ เพื่อให้เห็นปัญหาที่แท้จริงและเก็บรวบรวมข้อมูลไปพัฒนาอย่างตรงจุด เช่นที่ผ่านมาคือ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.แม่ฮ่องสอน โดยจะเน้นการทำงานแบบประชารัฐที่ภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และประชาชน เข้ามาร่วมกัน โดยคณะทำงานในพื้นที่มีถึง 7,463 ทีม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ตอบโจทย์ของพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

          พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า สำหรับโครงสร้างการทำงานของคณะกรรมการขับเคลื่อ&

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ