ข่าว

‘คมนาคม’ ไฟเขียวให้ใบอนุญาต รถร่วมฯเร่งสรุป ตั้งบริษัทเดินรถ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘คมนาคม’ ไฟเขียวให้ใบอนุญาต รถร่วมฯเร่งสรุป ตั้งบริษัทเดินรถ

 นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง (สมาคมรถร่วมฯ ขสมก.) เข้าหารือเพื่อขอความชัดเจนเรื่องนโยบายและแผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) เมื่อวันที่16 ส.ค.60 ว่า

ที่ประชุมมีข้อสรุป 3 ประเด็น 1. สมาคมรถร่วมฯ เห็นด้วยกับการปฏิรูประบบรถเมล์ 269 เส้นทาง 2. กระทรวงคมนาคมจะให้ใบอนุญาตเดินรถในเส้นทางเดิมเป็นเวลา 7 ปี ตามที่สมาคมรถร่วมฯ เรียกร้อง ถ้าหากสามารถทำตามเงื่อนไขที่เสนอมา และ 3. กระทรวงคมนาคมจะให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เข้ามาแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระระหว่างรถร่วมฯ กับ ขสมก. มูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท โดยจะไม่ยกหนี้ให้เอกชน แต่จะให้เอกชนรับสภาพหนี้แบบมีเงื่อนไข

สำหรับการให้ใบอนุญาตเดินรถเป็นเวลา 7 ปีมีเงื่อนไขว่า รถร่วมฯ จะต้องรวมตัวเป็นนิติบุคคลรายเดียว เพราะจะไม่ขัดต่อหลักปฏิรูปรถเมล์ที่กำหนดให้มีผู้เดินรถ 1 รายต่อ 1 เส้นทาง และรถร่วมฯ จะต้องยกระดับบริการตามแผนที่เสนอไว้ เช่น จัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้า (EV) และไฮบริดใหม่เพื่อให้บริการทุกเส้นทาง ติดตั้งระบบจีพีเอส ปรับเพิ่มสวัสดิการคนขับ เป็นต้น

โดยหากรถร่วมฯ สามารถรวมตัวกันได้ก็จะมีขนาดใหญ่เท่ากับองค์กรขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และมีประชาชนใช้บริการถึง 1.1-1.3 ล้านคนต่อวัน ขณะเดียวกันจะทำให้คุณภาพบริการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย

ส่วนกรณีที่กรมการขนส่งทางบก มีนโยบายให้ใบอนุญาตเดินรถชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปีแก่รถร่วมฯ ก่อนจะออกใบอนุญาตถาวรเป็นเวลา 7 ปีนั้น เป็นเพราะตอนนี้มีรถร่วมฯ ในตลาดหลายราย จึงต้องประเมินเอกชนเป็นระยะเวลา 2 ปีว่า รายใดมีประสิทธิภาพสูงสุดและควรได้ใบอนุญาตระยะ 7 ปี แต่หากรถร่วมฯ ทั้งหมดจะรวมตัวเป็นนิติบุคคลรายเดียว นโยบายนี้คงต้องเปลี่ยนไป

“เมื่อรถร่วมฯ รวมตัวเป็นผู้เดินรถ 1 ราย แสดงว่าคุณสมบัติของเขาก็ไม่แตกต่างกับ ขสมก. ถ้าเขาทำตามเงื่อนไขได้ ใบอนุญาตที่เขาได้ก็ต้องมีอายุ 7 ปีเช่นเดียวกับ ขสมก. เพราะเขาก็เป็นผู้เดินรถรายหนึ่งเท่ากัน การแข่งขันก็อยู่บนฐานเดียวกัน ยกเว้นว่ารถร่วมฯ รวมตัวกันไม่ได้ ก็เป็นปัญหาของเขา” นายสมศักดิ์กล่าว

นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง เปิดเผยว่า สมาคมรถร่วมฯ จะเร่งจัดตั้งนิติบุคคลและยกมาตรฐานบริการตามแผนที่เสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา เพราะตอนนี้มีความชัดเจนเรื่องใบอนุญาตเดินรถแล้ว

ในแผนระยะแรก ผู้ประกอบการรถร่วมฯ 34 ราย จะร่วมกับบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัทประกอบกิจการเดินรถเมล์ด้วยทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันรถร่วมฯ ทั้ง 34 ราย มีรถเมล์รวม 1,500 คัน มีใบอนุญาตร่วม 60 เส้นทาง และมีหนี้สินที่ติดค้างกับ ขสมก. ประมาณ 500 ล้านบาท

จากนั้นบริษัทใหม่จะต้องกู้เงินอีก 1.7 หมื่นล้านบาท เพื่อชำระหนี้ให้กับผู้ถือหุ้นและจัดซื้อรถเมล์ใหม่อีก 2,000 คัน โดยรถใหม่จะเป็นรถไฟฟ้าหรือไฮบริด ซึ่งตามแผนจะเริ่มให้บริการ 100 คันแรกภายในปีใหม่ 2561 และจะจัดซื้อให้ครบทั้งหมดภายใน 1 ปี ขณะเดียวกันจะขอเพิ่มค่าโดยสารเป็น 20 บาทตลอดเส้นทาง และทางกลุ่มจะมีโปรโมชั่นเหมาจ่ายในอัตรา 40 บาทต่อวันทุกเส้นทาง เพื่อเป็นตัวเลือกให้ผู้โดยสาร

“รถร่วมฯ 34 รายจะนำใบอนุญาตเข้ามาเป็นหุ้น แล้วแบ่งกันไปว่าจะถือหุ้นเท่าไหร่ ส่วนนายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการธนบุรี เฮลแคร์ฯ จะหาเงินมาลงทุนก่อน โดยไปเจรจาว่าจะซื้อรถเท่าไหร่ และผู้ถือหุ้นแต่ละรายเอาเงินไปใช้หนี้เท่าไหร่ โดยหลังจากนี้จะต้องลงรายละเอียดอีกมาก แต่คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน เพื่อให้ทันกับการนำรถใหม่มาบริการในปี 2561” นางภัทรวดีกล่าว

นอกจากนี้ มีรถร่วมฯ อีก 40 รายที่ยินดีจะเข้าร่วมจดทะเบียนตั้งบริษัทนิติบุคคลในระยะต่อไป แต่ยังไม่มีความเชื่อมั่น เพราะจะรอความชัดเจนจากนโยบายภาครัฐก่อน ทางสมาคมรถร่วมฯ จึงจะขอความชัดเจนจากกรมขนส่งฯ อีกครั้งในฐานะผู้กำกับดูแลทั้งระบบ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ