ข่าว

เมื่อขยะจากอีคอมเมิร์ซเกลื่อนแดนมังกร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจีนได้อย่างมาก แต่มีโจทย์ใหม่ว่าแล้ววัสดุมากมายมหาศาลที่ในการบรรจุหีบห่อจัดส่ง จะจัดการอย่างไร


                    หนังสือพิมพ์ไชนาเดลี ตีแผ่ปัญหานี้อย่างน่าสนใจ โดยยกตัวอย่างนักช็อปคนหนึ่งชื่อ จาง หย่าจุน ได้รับพัสดุไปรษณีย์ 3 กล่องในวันเดียว กล่องสุดท้ายที่มาถึง เป็นขวดเก็บน้ำนมแม่สำหรับลูกน้อยที่จะลืมตาดูโลกในไม่ช้า
                    ว่าที่คุณแม่วัย 29 ปีจากเมือง ฉีเจียจวง เมืองหลวงมณฑลเหอเป่ย ประหลาดใจเล็กน้อยที่เห็นขวดแก้วเล็กๆ ห่ออยู่ในแผ่นบับเบิ้ล หรือพลาสติกกันกระแทกถึงสามชั้น ทำให้หีบห่อดูใหญ่โตกว่าของที่ซื้อมามากมายนัก แต่เธอก็บอกว่าเป็นเรื่องปกติ ที่คนขายจะต้องห่อสินค้าอย่างระมัดระวังที่สุด แต่พลาสติกที่ใช้กับกล่องกระดาษ ไม่รู้จะนำไปทำอะไรต่อนอกจากทิ้งลงถังขยะ


                   เรื่องเล่าของจาง เป็นความคุ้นชินกับชาวจีนในยุคช็อปออนไลน์กำลังบูม ซึ่งก็หมายถึงจำนวนกล่องพัสดุและวัสดุใช้หีบห่อ ที่รับส่งในจีนย่อมมากมายมหาศาลตามไปด้วย

 

 

เมื่อขยะจากอีคอมเมิร์ซเกลื่อนแดนมังกร


                    สถิติจากสำนักงานไปรษณีย์ของจีนพบว่า ในปีที่แล้ว การจัดส่งสินค้าจากผู้ขายออนไลน์พุ่งทะยาน เป็นกว่า 3.1 หมื่นล้านกล่อง/ชิ้น สูงกว่า 10 ปีก่อนราว 31 เท่า หรือเท่ากับว่า ทุกวินาที มีการรับหรือส่งพัสดุ 1,000 ชิ้น
                    เฉพาะเทศกาลช็อปออนไลน์ในวันคนโสด ที่ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันก่อพัสดุภัณฑ์มากถึง 1,050 ล้านชิ้น
                    ตัวเลขรวมทั้งหมดทำให้จีนประเทศเดียว ครองสัดส่วนการรับส่งพัสดุ 44% จากทั้งหมด 7 หมื่นล้านชิ้นทั่วโลก


                    ภาคการขนส่งพัสดุจีน มีรายได้ 4 แสนล้านหยวน (ประมาณ 2 ล้านล้านบาท) แต่ตัวเลขยิ่งสูง ผลกระทบด้านลบต่อสภาพแวดล้อมก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว เพราะเมื่อผู้รับได้ของแล้วส่วนใหญ่ก็จะทิ้งกล่องและอื่นๆ ลงถังขยะ รวมกันมากเข้ากลายเป็นภัยคุกคามสิ่งแวดล้อม


                    ที่จุดรับสินค้าแห่งหนึ่งของ Cainiao Network บริษัทขนส่งในเครือ อาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซโลก ของมหาเศรษฐีแจ็ค หม่า สำหรับให้บริการมหาวิทยาลัยสองแห่งในกรุงปักกิ่ง หลังจากลูกค้าที่โดยมากเป็นนักศึกษา มารับพัสดุที่สั่งซื้อไปแล้ว ปรากฏว่าที่เหลือเป็นขยะที่ไม่ต้องการกว่า 8 กิโลกรัมในช่วงเวลาแค่ 6 ชั่วโมง


                    จู เล่ย รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยในเมืองชิงเต่า มณฑลชานตง ซึ่งทำงานให้สถาบันการสื่อสารกราฟฟิกปักกิ่ง กล่าวว่า การส่งพัสดุหลายพันล้านชิ้น ยังเพิ่มการบริโภคพลังงานและเป็นความเสี่ยงมหาศาลต่อสภาพแวดล้อม


                    หลวน หนิง ซึ่งขายผลอินทผลัมแห้งและสินค้าหลากหลายชนิดจากออสเตรเลียผ่านเวบไซต์สังคมออนไลน์ WeChat กล่าวว่า ต้นทุนค่าหีบห่อพัสดุเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็จำเป็นต้องห่อของให้แน่นหนาที่สุด เพื่อป้องกันลูกค้าร้องเรียน เพราะสำหรับคนขายของออนไลน์อย่างหลวน กลัวที่สุดคือความเห็นเชิงลบบนหน้าเว็บเกี่ยวกับสินค้าที่จัดส่ง ลูกค้ามั่นใจของไม่เสียหายก็หมายถึงความสำเร็จ


                    พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ก็คิดแบบเดียวกันทำให้แสวงหาวัสดุต่างๆ นานามาใช้ ที่เพิ่มทั้งต้นทุนและขยะ


                    ศูนย์วิจัยในเมืองชิงเต่า และสำนักไปรษณีย์จีน ประเมินว่า ในปี 2558 จีนใช้กล่องกระดาษ 1 หมื่นล้านใบ กับถุงพลาสติก 8,000 ล้านใบ ในการหีบห่อพัสดุภัณฑ์ 20,700 ล้านชิ้น ส่วนสก็อตเทปที่ใช้ มีความยาวขนาดพันรอบเส้นศูนย์สูตร 425 ครั้ง


                    ปัญหาคือเมื่อเทียบอัตราการบริโภคที่พุ่งกระฉูดแล้ว อัตราการรีไซเคิลวัสดุหีบห่อยังต่ำอยู่มาก


                    ผลสำรวจพบว่า ปัจจุบัน การรีไซเคิลหีบห่อกระดาษและพลาสติกมีอัตราไม่ถึง 10% ขณะการรีไซเคิลในภาพรวมอยู่ที่เกือบ 20% เป็นสถานการณ์ที่ต่างมากกับประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีอัตราการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระดาษที่ 45%

 

เมื่อขยะจากอีคอมเมิร์ซเกลื่อนแดนมังกร

 


                    ชาง เถา ผู้จัดการบริษัท หยิงชวง รีไซคลิง หนึ่งในบริษัทรีไซเคิลชั้นนำในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า อัตราการรีไซเคิลของจีนในปัจจุบัน ยังไม่ถึง 20% เลย ขณะประเมินว่าในไม่ช้า จีนจะก่อขยะพัสดุภัณฑ์กว่า 5 ล้านตันทุกปี
                    และสุดท้ายพัสดุภัณฑ์ทั้งหลายก็จะไปกองสุมอยู่ในกองขยะ เพิ่มความเสี่ยงปนเปื้อนสภาพแวดล้อม เนื่องจากพ่อค้าและผู้ผลิตส่วนมาก ใช้ถุงพลาสติกและเทปเหนียวราคาถูกเพื่อลดค่าต้นทุน และพลาสติกส่วนใหญ่ไม่ใช่ชนิดย่อยสลายได้ ส่วนประกอบสำคัญอย่าง โพลิไวนิลคลอไรด์ หรือ พีวีซี ในพลาสติก จะตกค้างในดินเป็นเวลา 100–150 ปี


                    สมาคมรีไซเคิลทรัพยากรจีน ออกรายงานเตือนตั้งแต่เมื่อปี 2556 แล้วว่า ต่อให้วัสดุทำจากกระดาษที่ใช้แพคสินค้า ถูกนำไปรีไซเคิล 100%เต็ม ความต้องการสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น แปลว่าจะต้องเพิ่มการผลิตกระดาษออกมาป้อนตลาด ซึ่งก็จะหมายถึงการบริโภคทรัพยากรอีกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นไม้ ถ่านหินและไฟฟ้าในกระบวนการผลิต ล้วนเพิ่มความเสี่ยงมลพิษ


บรรจุภัณฑ์สีเขียว


                    ความเสี่ยงสภาพแวดล้อมเป็นพิษจากการช็อปออนไลน์ เริ่มได้รับใส่ใจจากผู้บริโภคและบริษัทที่เกี่ยวข้องมากขึ้น หลายบริษัทหันมาปรับใช้วัสดุรีไซเคิลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะที่รัฐบาลในทุกระดับออกนโยบายมุ่งส่งเสริมพัสดุภัณฑ์สีเขียวควบคู่กันไป
                    หลิว ฮองปิน รองประธาน YHD บริษัทขนส่ง กล่าวว่า บริษัทของเขาเริ่มเก็บกล่องกระดาษใช้แล้วที่ไม่ได้รับความเสียหายคืนจากลูกค้าเมื่อปี 2557
                    จู จากศูนย์วิจัยชิงเต่ากล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดี แต่การปรับปรุงระบบรีไซเคิลและลดการใช้วัสดุเกินความจำเป็นผ่านการประสานร่วมมือระหว่างบริษัทที่เกี่ยวข้องน่าจะช่วยได้
                    ปัจจุบัน บริษัทขายสินค้าออนไลน์รายใหญ่จำนวนหนึ่ง อาทิ JD.com Suning และ Yihaodian ได้จัดทำระบบให้รางวัลลูกค้าที่รีไซเคิลกล่องพัสดุ โดยให้เป็นแต้มสะสมใช้ซื้อสินค้าหรือเป็นส่วนลด
                    เมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา Cainiao Network ของอาลีบาบา ได้ริเริ่มโครงการใหม่โดยดึงบริษัทในประเทศและระดับโลกเข้าร่วม ตั้งเป้าทำให้พัสดุภัณฑ์จากการซื้อขายออนไลน์ครึ่งหนึ่ง เป็นวัสดุย่อยสลายได้ ภายในปี 2563 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 3.62 ล้านตัน
                    นอกจากความพยายามในฟากธุรกิจแล้ว รัฐบาลกลางและท้องถิ่นก็มีนโยบายส่งเสริม อย่างเมื่อเดือนสิงหาคม ไปรษณีย์จีนประกาศห้ามใช้วัสดุหีบห่อปนเปื้อนสารพิษที่โดยมากพบในถุงพลาสติก ภายในปี 2563
                    เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจีน เห็นชอบแผนดำเนินการอย่างรับผิดชอบของผู้ผลิต กระตุ้นให้โรงงานต่างๆ เข้าร่วมกระบวนการรีไซเคิล โดยเฉพาะมุ่งที่กล่องกระดาษและกระป๋องดีบุกก่อน
                    จาง ผู้บริหารจากบริษัทหยิงชวง รีไซคลิง เชื่อว่า การรีไซเคิล ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิต ผู้ค้าปลีก และบริษัทขนส่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสร้างระบบโลจิสติกส์ย้อนกลับ หรือการช่วยโรงงานผู้ผลิตและโรงงานรีไซเคิล เก็บวัสดุเหล่านี้คืนจากครัวเรือน
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ