ข่าว

"ยูเอ็น" ตำหนิ ไทย. ปิดกั้นการแสดงความเห็นประชามติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ยูเอ็น" ตำหนิ ไทย เกี่ยวกับการจับกุม-ตั้งข้อหา กับการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ และบนสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ.

          ผู้เสนอรายงานพิเศษ สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น “นายเดวิด คาเย” ออกโรงตำหนิการเข้าจับกุม และตั้งข้อหาเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ และบนสื่อสังคมออนไลน์ ภายใต้คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ในไทย

           พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ที่ถูกประกาศใช้ก่อนหน้าที่ไทยจะมีการลงประชามติ ในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 7 ส.ค.นั้น กำหนดให้การแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ มีความผิดทางอาญา

            นับแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นมา มีรายงานว่า มีคนถูกจับกุม หรือถูกนำตัวไปสอบสวน ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้วอย่างน้อย 86 ราย และเมื่อต้นเดือนนี้ นักเคลื่อนไหวหลายคน ก็ถูกจับกุม และตั้งข้อหาละเมิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 จากการรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิออกเสียง ปฏิเสธไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึง นักหนังสือพิมพ์ที่รายงานเกี่ยวกับการรณรงค์ดังกล่าวด้วย

           โทษของผู้ที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ. ฉบับนี้ รวมถึง โทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ค่าปรับจำนวนมาก และถูกตัดสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้งนาน 10 ปี

           นายคาเย บอกว่า เขารู้สึกกังวลอย่างมากที่ คำสั่งคสช. และพ.ร.บ.ประชามติ จำกัดการแสดงความคิดเห็น และแสดงออกเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ

          “แนวคิดของการจัดทำประชามติ คือ การเปิดทางให้มีการถกเถียงอย่างเต็มที่ ก่อนที่จะให้ประชาชนออกมาลงประชามติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวข้อที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นพิเศษนั้น ควรที่จะสนับสนุนให้มีการถกเถียงกัน ทั้งควรส่งเสริมให้มีการแสดงความเห็นในวงกว้าง แสดงออกอย่างเสรี และเปิดกว้างสำหรับการพูดคุย”

          ผู้แทนยูเอ็นรายนี้ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลไทยควรกระตุ้นให้มีสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง สำหรับการหารือกันของประชาชน แทนที่จะทำให้การแสดงออกเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่งการส่งเสริมดังกล่าว จะช่วยรับประกันถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนระหว่างการทำประชามติ

            นายคาเย ยังย้ำว่า ทุกคนต้องมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น โดยไม่ถูกแทรกแซง พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ระง้บการบังคับใช้พ.ร.บ. ลงประชามติ ยกเลิกการตั้งข้อหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายใต้คำสั่งคสช. และพ.ร.บ.ฉบับนี้

            นอกจากนี้ ยังขอให้ไทยยึดมั่นในข้อผูกพันระหว่างประเทศที่ต้องให้มีการปกป้องสิทธิแสดงออก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ