ข่าว

"ตัวแทนชุมชนกทม." ห่วงที่มานายกฯ ด้วยเสียงโหวตของ2สภาฯ  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตัวแทนชุมชนกทม.ห่วงที่มานายกฯด้วยเสียงโหวตของ2สภาฯจะเกิดปัญหาการบริหาร-ขัดแย้ง แนะจัดดีเบตฝ่ายหนุน-ค้านร่างรธน. "สุรชัย" ระบุ รบ.-นักการเมืองต้องทำเพื่อประเทศ

 
          ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญและการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ ต่อตัวแทนชุมชมในพื้นที่กทม. เพื่อให้นำเนื้อหาและสาระสำคัญไปเผยแพร่กับประชาชนในพื้นที่กทม. ในช่วงบ่าย ทางกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ขึ้นเวทีเพื่ออภิปรายในสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้ผู้ที่เข้าร่วมรับฟังในเนื้อหาภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ทางตัวแทนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ร่วมเวทีเพื่ออธิบายในประเด็นคำถามประกอบการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่หนึ่ง ชี้แจงในสาระสำคัญว่า เนื้อหาของคำถามประกอบการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้วุฒิสภามีส่วนร่วมเลือกนายกฯ กับสภาผู้แทนราษฎรนั้น วัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าต้องมียุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 6 ด้าน ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
  
          ทั้งนี้ในช่วงท้ายของการอภิปรายได้เปิดให้ซักถามข้อสงสัย โดยมีตัวแทนซักถามในประเด็นคำถามประกอบการลงประชามติ ต่อที่มาของนายกฯ​ด้วยรูปแบบของที่รัฐสภา จะเกิดปัญหาของการขับเคลื่อนประเทศหรือไม่ หากนายกฯ ที่ถูกเลือกจากเสียงข้างมากในรัฐสภา เป็นคนละฝ่ายกับพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร นายสุรชัย ตอบว่า ส่วนตัวมองว่าพรรคการเมืองที่เข้ามาหลังการเลือกตั้ง ต้องปฏิรูปตนเอง อาทิ แนวความคิดทำงาน , การแบ่งฝ่ายในการทำงาน โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศ ที่ต้องทำงานให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในหมวดหน้าที่ของรัฐ และทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ใช่ทำงานภายใต้นโยบายของพรรคใดแบบเดิม ดังนั้นหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญใหม่ใช้วิสัยทัศน์ของพรรคการเมืองและรัฐบาลจะถูกปฏิรูป ทั้งนี้ตนไม่กังวลว่าจะกลายเป็นความขัดแย้งของการทำงานภายในรัฐบาลและรัฐสภา เพราะไม่มีการทำงานเพื่อรักษานโยบายของพรรค หรือฝ่ายใด แต่เป็นการทำงานเพื่อประโยชน์ประเทศ
   
          นอกจากนั้นยังมีคำถามที่น่าสนใจ อาทิ กรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนประเทศชาติจะเป็นอย่างไร โดยนายภัทระ คำพิทักษ์ กรธ. ให้ความเห็นว่า สิ่งที่แน่นอน คือ กรธ.​ทั้ง 21 คนต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่สิ่งที่ไม่แน่นอน คือระยะเวลาเลือกตั้งที่มีกรอบเวลาเขียนไว้ นอกจากนั้นในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่ชัดเจนว่าจะรับฟังความเห็นของประชาชนเหมือนกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับของกรธ. หรือไม่
   
          ด้านนายชาติชาย ณ​ เชียงใหม่ กรธ. ให้ความเห็นด้วยว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ เชื่อว่ารัฐบาลต้องรีบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา เพราะบ้านเมืองต้องมีกติกา ดังนั้นเขาต้องรีบสร้างขื่อแป ขึ้นมาบังคับใช้ แต่ไม่ทราบว่าจะใช้เวลานานเท่าใด เนื่องจากรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.​2557 ไม่ได้กำหนดไว้
 
          ทั้งนี้มีผู้ร่วมงานสัมมนาจากเขตบางกอกน้อย ได้แสดงความเห็นด้วยว่าสำหรับการอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ควรใช้การดีเบตผ่านทางสถานีโทรทัศน์ โดยเชิญ​ทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายที่คัดค้าน ร่วมเวทีดีเบต ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า ทั้งนี้นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ตอบว่า ต้องยอมรับว่าขณะนี้ประเด็นที่เสนอดังกล่าวไม่สามารถทำได้เพราะมีคลื่นใต้น้ำอยู่ แต่หลังจากช่วงนี้ผ่านไป ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทยอยนำสาระของร่างรัฐธรรมนูญเสนอผ่านสถานีโทรทัศน์เพิ่มมากขึ้น.

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ