Lifestyle

ตึกแถวสายพันธุ์ใหม่ในสไตล์'ทัสคานีร่วมสมัย'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตึกแถวสายพันธุ์ใหม่ในสไตล์'ทัสคานีร่วมสมัย' : คอลัมน์ ตึกแถวอพาร์ตเมนต์ไม่บาน โดย... อาจารย์เชี่ยว

 
          สวัสดีครับ แฟนๆ ชาว “คนรักบ้าน” ในสัปดาห์นี้ผมขอนำเสนอรูปแบบ “ตึกแถวสายพันธุ์ใหม่” ในสไตล์ “ทัสคานีร่วมสมัย” ที่ผมทำให้กลายพันธุ์จนแทบจะจดจำรูปแบบ “ตึกแถว” แบบเก่าๆ ในอดีต รุ่นปู่ ย่า ตา ทวด ไม่ได้ จะว่าไปแล้วการใช้ชีวิตอยู่ใน “ตึกแถว” ของคนไทยนั้นมีมานานนับ 100 ปีแล้วครับ ซึ่ง “ตึกแถว” ในอดีตมาพร้อมกับกิจการการค้าของบรรดาคนไทยเชื้อสายจีน ร้อยทั้งร้อยของบรรดา “เจ้าสัว” ที่ร่ำรวยมั่งคั่งมีเงินนับหมื่นนับแสนล้าน ล้วนแล้วแต่ก่อร่างสร้างชีวิตขึ้นมาใน “ตึกแถว” เพราะ “ตึกแถว” เป็นเสมือน “ศูนย์บ่มเพาะ” ของบรรดา “เถ้าแก่น้อย” ให้เติบโตขึ้นเป็น “เถ้าแก่ใหญ่” ได้เรียนรู้กิจการการค้าตั้งแต่เด็ก กับบรรดา อาก๋ง, อาม่า, อาป๊า, อาเฮีย  ฯลฯ 
 
          ทำให้ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายแบบประหยัดมัธยัสถ์และอดออม เพราะ “ตึกแถว” โดยทั่วไปนั้นมีขนาดมาตรฐานกว้าง 4  เมตร และลึก 12 เมตร โดยประมาณ เพราะฉะนั้นจึงเป็นการใช้ชีวิตบนพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัด และจะต้องบริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่เพียงน้อยนิดอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิด “ประโยชน์สูง+ประหยัดสุด” คงไม่มีอาคารประเภทไหนที่ใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าที่สุดและอยู่ยงคงกระพันได้อย่าง “ตึกแถว” เป็นแน่ครับ  
 
          ในสัปดาห์นี้ผมขอนำเสนอรูปแบบ “ตึกแถว” ที่ผมได้พัฒนามาจาก “ตึกแถว” ดั้งเดิม ผมเรียกสไตล์นี้ว่า “ทัสคานีร่วมสมัย”  ซึ่งคำว่า “ทัสคานี” (Tuscany) นั้นมีรากศัพท์มาจาก “ตอสกานา” เป็น 1 ใน 20 แคว้นของ “สาธารณรัฐอิตาลี” มีเมือง “ฟลอเรนซ์” (ฟีเรนเซ) เป็นเมืองหลวง มีเนื้อที่ทั้งหมด 22,990 ตารางกิโลเมตร และมีผู้คนอาศัยอยู่ 3.6 ล้านคนโดยประมาณ แคว้น “ทัสคานี” นี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในทางประวัติศาสตร์ศิลปกรรม เพราะเป็นศูนย์กลางของศิลปวิทยาการที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ได้รับการยกย่องว่าศิลปะในยุค “เรอเนซองส์”  ก็เริ่มจากที่นี่แหละครับ และทรงอิทธิพลแพร่ขยายกระจายไปทั่วโลก   
 
          เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้นผมขอให้ความรู้กับท่านผู้อ่านสักนิดเกี่ยวกับ “เรอเนซองส์”  ซึ่งตามรากศัพท์ หมายถึง การ “รีบอร์น” อันเป็น “การเกิดขึ้นใหม่” โดย “ต่อยอด” มาจากศิลปวิทยาการในยุค “คลาสสิก” ในสไตล์ “กรีก+โรมัน” ถึงขนาดมีคำกล่าวว่าเมือง “ฟลอเรนซ์” เปรียบได้กับเมือง “เอเธนส์”   ของ “กรีก” ในอดีตที่ศิลปวิทยาการถึงจุดสูงสุดเมื่อกว่า 2 พันปีล่วงแล้ว ก็เป็น “วัฏจักร” ของ “ไตรลักษณ์” ที่เกิดขึ้น, คงอยู่และแตกดับนั่นแหละครับ เมื่อมีจุด “สูงสุด” ก็ย่อมมีจุด “ต่ำสุด” ศิลปวิทยาการที่คลาสสิกของ “กรีก” ก็ค่อยๆ ล่มสลายลงเข้าสู่ยุคมืด เป็นยุค “บาแบเรียน” เป็นยุคที่ชนเผ่าป่าเถื่อนที่มีอารยธรรมต่ำกว่ารุกรานมาจากทางเหนือ ก็เหมือนในหนัง “อัศวิน” ใส่เสื้อเกราะขี่ม้านั่นแหละครับ ที่ต้องอยู่ในปราสาทที่มีหอคอยสูง มีกำแพงป้อมเชิงเทินไปปกป้องตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัย  
 
          สภาพสังคมโดยรวมในยุคนั้นก็เต็มไปด้วยการรบราฆ่าฟันกันอย่างโหดเหี้ยม เมื่อศิลปวิทยาการดำดิ่งลงสู่ยุค “ต่ำสุด” ที่มักเรียกว่า “ยุคมืด” กลับฟื้นคืนสู่ยุค “สูงสุด” คือยุค “เรอเนซองส์” ซึ่งหมายถึง “การเกิดขึ้นมาใหม่” บรรดานักปราชญ์ในสมัยนั้น รวบรวมเอาของดีที่อยู่ใน “ยุคคลาสสิก” นำมาต่อยอดขึ้นมาใหม่ ในยุคฟื้นฟูศิลปะและวิทยาการที่เรียกว่ายุค “เรอเนซองส์”  ที่ในยุคนั้นเต็มไปด้วยนักคิด, นักปราชญ์, นักวิทยาศาสตร์ ศิลปินในแขนงต่างๆ ที่มีชื่อก้องโลก เช่น เลโอนาร์โด ดา วินชี, ไมเคิล แองเจโล, ราฟาเอล,  กาลิเลโอ กาลิเลอี ฯลฯ ซึ่งอิทธิพลของศิลปวิทยาการในยุค “เรอเนซองส์” ได้แผ่ขยายกระจายไปทุกที่ทั่วโลก โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ “ฟลอเรนซ์”  ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่แม้จะอยู่ไกลโพ้นอีกซีกโลกก็ยังไม่พ้น   
 
          หลายท่านคงเคยได้ยินชื่อศาสตราจารย์ “ศิลป์  พีระศรี” ซึ่งท่านดั้งเดิมก็เป็นชาว “ฟลอเรนซ์” ได้ร่ำเรียนศิลปวิทยาการแบบ “เรอเนซองส์” ก่อนที่จะเดินทางมาประเทศไทย ท่านก็เป็นศาสตราจารย์ที่สอนเกี่ยวกับศิลปะที่สถาบัน “ราชวิทยาลัยศิลปะ” แห่ง “ฟลอเรนซ์” (The Royal  Academy of Art of Florence) โดยท่านมีนามเดิมว่า “คอร์ราโด เฟโรชี” (Corrado  Feroci) และต่อมาในสมัย “ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6”  ได้มีโอกาสเข้ามารับราชการฉลองพระเดชพระคุณและยังได้วางรากฐาน “ศิลปะสมัยใหม่” ให้แก่ประเทศไทย ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยศิลปากร” ที่เป็นสถาบันทางศิลปะที่มีชื่อที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศในปัจจุบัน นี่ก็เป็นเพียงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของที่มาที่ไปเกี่ยวกับศิลปวิทยาการในยุค “เรอเนซองส์” ที่ทรงอิทธิพลไปทั่วโลก ถึงแม้จะมีอายุเก่าแก่กว่า 600 ปีแล้วก็ยังมีอิทธิพลต่อรูปแบบต่างทางศิลปกรรมของโลกอยู่จวบจนปัจจุบันครับ  
 
          ในสัปดาห์นี้ผมได้ทดลองนำเอาศิลปะในสไตล์ “เรอเนซองส์” มาผสมผสานกับรูปแบบ “ตึกแถว” ที่เราๆ ท่านๆ นั้นคุ้นเคย เพื่อให้กลายเป็น “ตึกแถวสายพันธุ์ใหม่” ที่มีกลิ่นอายของ “เรอเนซองส์” ที่ผมขอตั้งชื่อว่า “ทัสคานีร่วมสมัย” ที่ถือได้ว่าเป็นสไตล์ “อกาลิโก+ไฮโซ+โลว์คอสต์” ที่ “สวยทน, สวยทาน, สวยนาน, สวยประหยัด, สวยดูดี, สวยมีชาติตระกูล” โดยแท้จริง สำหรับแฟนๆ ที่สนใจในรายละเอียดก็สามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ใน www.homeloverthai.com หรือติดตามสาระน่ารู้ได้ในรายการ “คนรักบ้านกับอาจารย์เชี่ยว” ทาง “เนชั่นทีวี” ช่อง 22  ในทุกวันเสาร์ เวลา 23.00 น. โดยประมาณ สำหรับสาระน่ารู้ในสัปดาห์นี้ก็มีเพียงแค่นี้ครับ แล้วพบกับสาระน่ารู้ที่หลากหลายกันใหม่อีกสองสัปดาห์หน้าครับ 
 
........................................
(หมายเหตุ ตึกแถวสายพันธุ์ใหม่ในสไตล์'ทัสคานีร่วมสมัย' : คอลัมน์ ตึกแถวอพาร์ตเมนต์ไม่บาน โดย... อาจารย์เชี่ยว)


 
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ