ข่าว

ผุดศูนย์บำบัด'ยาเสพติด'ดึงเยาวชนพ้นแนวร่วมป่วนใต้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผุดศูนย์บำบัด'ยาเสพติด'ดึงเยาวชนพ้นแนวร่วมป่วนใต้ : เรื่อง- กมลชนก ทีฆะกุล ภาพ- วัชรชัย คล้ายพงษ์

                การตรวจสอบของฝ่ายมั่นคง รวมถึงผลการวิจัยของนักวิชาการหลายราย เกี่ยวกับเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา สอดคล้องกันว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่ ซึ่งมีเยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนไม่น้อยติดยาเสพติด

                "จากการพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่มีจำนวนเกินกว่าครึ่งที่ต้องการให้แก้ปัญหายาเสพติด เพราะลูกหลานเขาตกเป็นทาสของยาเสพติดมาก สัดส่วนคิดง่ายๆ เยาวชนเดินมา 5 คน ติดยาเสพติด 1 คน ซึ่งยาเสพติดที่นิยมใช้มากสุด คือน้ำต้มใบกระท่อม หรือที่เรียกว่า สี่คูณร้อย กัญชาและยาบ้า" เจ้าหน้าที่ด้านการข่าวกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ให้ข้อมูล

                การตรวจสอบของหน่วยงานความมั่นคง พบว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้ยาเสพติดเข้ามาเป็นกลไกหนึ่งในการดึงแนวร่วมในพื้นที่ให้ก่อเหตุร้าย ขณะที่เครือข่ายค้ายาเสพติดเป็นตัวการหนึ่งที่สนับสนุนการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงทั้ง ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง รวมถึงสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. จึงพยายามแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยมุ่งเน้นบำบัดรักษาผู้ติดยาในพื้นที่ พร้อมทั้งประสานทางการมาเลเซีย เพื่อกวาดล้างเครือข่ายยาเสพติดที่อาศัยแนวชายแดนเป็นแหล่งพักยา หลังมีข้อมูลว่ากลุ่มผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนมีการทำงานเป็นกระบวนการ มีทั้งชาวมาเลเซียและชาวไทยร่วมมือกัน

                ในการกวาดล้างเครือข่ายยาเสพติด ข้อมูลการสืบสวนทราบว่า ขบวนการค้ายาเสพติดใช้พื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนเป็นสถานที่พักยา และใช้ช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดน 2 ประเทศ ซึ่งมีระยะทางกว่า 600 กิโลเมตร ลักลอบขนยาเสพติดข้ามไปมาระหว่าง 2 ประเทศ หากในช่วงเวลาใดที่ทางการไทยกวาดล้างยาเสพติดในพื้นที่ ก็จะย้ายจุดพักยาไปยังฝั่งมาเลเซีย และหากมาเลเซียกวาดล้างหนักก็จะย้ายกลับมาฝั่งไทยเพื่อหนีการจับกุม

                "ชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียยาวกว่า 600 กิโลเมตร เฉพาะชายแดนระหว่างรัฐกลันตันของมาเลเซียกับจังหวัดนราธิวาสของไทยมีระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร โดยมีแม่น้ำโกลก ซึ่งมีความกว้างและลึกไม่มากนัก ในหน้าแล้งน้ำในแม่น้ำแห้งขอดหลายจุดสามารถเดินเท้าข้ามไปมาระหว่าง 2 ประเทศได้เลย อีกทั้งคนทั้งสองฝั่งเป็นญาติพี่น้องกันข้ามไปมาเป็นเรื่องปกติซึ่งยากต่อการตรวจสอบ เครือข่ายยาเสพติดจึงอาศัยช่องโหว่นี้ลักลอบค้ายาเสพติด" SUPT MIT A/L EMONG รองผู้บังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด รัฐกลันตัน เปิดเผย

                การประสานงานกันระหว่างหน่วยปราบปรามยาเสพติดของไทยและมาเลเซีย พบว่าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยและรัฐตอนบนของมาเลเซีย มีปัญหาการแพร่ระบาดของยาบ้า ยาไอซ์ และพืชกระท่อม ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะพืชกระท่อมที่กลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่นิยมนำไปเป็นสารตั้งต้นในการทำยาเสพติดสี่คูณร้อย ซึ่งยาเสพติดประเภทนี้ถูกพบว่ากลุ่มผู้ก่อการร้ายเคยใช้เสพก่อนลงมือโจมตีฐานปฏิบัติการทหารและตำรวจในเหตุการณ์กรือเซะ เมื่อปี 2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 107 ศพ บาดเจ็บอีกหลายสิบคน

                ทั้งนี้ สี่คูณร้อยระบาดหนักในพื้นที่ อ.เมือง อ.ตากใบ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส อ.เบตง อ.รามัน จ.ยะลา ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นศูนย์กลางกระจายยาเสพติดไปยังอำเภออื่นๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ใบกระท่อมถูกนำเข้าจากรัฐปะลิส และรัฐเกดะห์ มากสุด ซึ่งเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดไทยและมาเลเซีย กำลังร่วมมือกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยตั้งเป้าจะกวาดล้างแหล่งผลิต ผู้จำหน่าย และผู้เสพให้หมดไปโดยเร็ว

                "ผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เกินกว่าครึ่งเป็นเยาวชน และส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือ มีการมั่วสุมยาเสพติด ขณะที่การควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐทำได้ค่อนข้างยาก เพราะมีสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ เยาวชนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยตกไปเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีต่อประเทศ ซึ่งจากการพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ก็ต้องการให้เราแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดเป็นอันดับต้นๆ เพราะบุตรหลานติดยาเสพติดมาก จึงถูกชักชวนไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ง่าย" นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการ ป.ป.ส. เปิดเผย 

                ตั้งแต่ต้นปี 2557 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดสามารถจับกุมยาเสพติดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ถึง 6,941 คดี ผู้ต้องหา 7,492 ราย ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก บ่งชี้ว่าการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่อยู่ในขั้นวิกฤติ ซึ่งนอกจากการกวาดล้างจับกุมเครือข่ายค้ายาเสพติดแล้ว ป.ป.ส. ยังร่วมกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้จัดงบประมาณ 16 ล้านบาท จัดตั้ง "ศูนย์บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้" เพื่อบำบัดรักษาเยาวชนซึ่งติดยาเสพติดในพื้นที่

                ศูนย์บำบัดยาเสพติดดังกล่าว ปัจจุบันก่อเป็นรูปเป็นร่างแล้วจำนวน 2 แห่ง ที่แรก คือที่ปอเนาะญานันลันบารู บ้านเกาะแลหนัง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาได้ระยะหนึ่งด้วยความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งได้คัดกรองเยาวชนที่ติดยาเสพติดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา มาบำบัดการติดยาเสพติดสำเร็จไปแล้ว 50 คน

                ปอเนาะญานันลันบารู มีเนื้อที่กว่า 26 ไร่ ตั้งอยู่บนเกาะแลหนัง ห่างจากชุมชนออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร ต้องใช้เรือเดินทางจากบนฝั่งไปยังเกาะแห่งนี้ประมาณ 15 นาที โดยผู้ที่เข้ารับการบำบัดที่นี่ จะต้องอาศัยอยู่ร่วมกันจนกว่าจะหายจากอาการติดยา และระหว่างใช้ชีวิตอยู่บนเกาะจะต้องทำกิจกรรมตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด ทั้งการละหมาด และการออกดาวะห์ ควบคู่กับกิจกรรมสันทนาการทั้งการออกกำลังกาย รวมถึงการฝึกอาชีพ

                “การแก้ไขปัญหายาเสพติดมันต้องเอาผู้เสพออกให้ได้ ให้เลิก ถ้าไม่เลิกกลับไปก็เสพซ้ำ ใช้ศรัทธาของศาสนา ทางการบำบัดก็มี กาย จิต สังคม บำบัด ฉะนั้นตัวจิตถ้าหากเราล้างไม่ออก ล้างแต่กาย ล้างแต่สมอง ถ้าจิตยังคิดก็เสพซ้ำ เราต้องหาความคิดใหม่ให้แก่เขา ความคิดที่ดีที่สุดคือความคิดเรื่องศาสนา ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้นำทางศาสนามาถ่ายทอดความรู้ทางศาสนาที่ถูกต้องให้แก่เยาวชน” พ.อ.สุวรรณ เฉิดฉาย หน.ศูนย์ป้องกันและแก้ไขยาเสพติด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้ข้อมูล

                ไม่แตกต่างจาก ปอเนาะลำหยังวิทยา ต.บ้านทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติดแห่งที่ 2 ที่มีการจัดค่ายเยาวชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ติดยา ซึ่งมีการใช้กลไกของชุมชนคัดกรองผู้ติดยาในพื้นที่มารับการบำบัด ค่ายเยาวชนที่นี่มีการอบรมเกี่ยวกับโทษของยาเสพติด กิจกรรมสันทนาการต่างๆ ให้ทุกคนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านคำพูด ตัวอักษร และภาพวาด แม้ระยะเวลาการอบรมเพียง 9 วัน จะไม่ได้ทำให้เยาวชนเหล่านี้เลิกยาเสพติดได้เด็ดขาด แต่ก็ทำให้พวกเขารู้จักวิธีการปฏิเสธ การหักห้ามใจในการใช้ยาเสพติดได้ เป็นการจุดประกายแนวคิดให้พวกเขาเลิกยาเสพติด

                สถานบำบัดยาเสพติดทั้ง 2 แห่งนี้ ตั้งเป้าจะใช้เป็นสถานที่บำบัดเยาวชนติดยาเสพติดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นการบำบัดรักษาจิตใจที่ต้องการเสพยา ขณะที่อาการทางร่างกายที่เกิดจากการใช้ยานั้น ผู้ติดยาจะถูกคัดกรองส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
---------------------

(หมายเหตุ : ผุดศูนย์บำบัด'ยาเสพติด'ดึงเยาวชนพ้นแนวร่วมป่วนใต้ : เรื่อง- กมลชนก ทีฆะกุล ภาพ- วัชรชัย คล้ายพงษ์)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ