ข่าว

ยูเอ็นวิจัยการข่มขืนพบ'97%'ไม่ถูกลงโทษ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยูเอ็นวิจัยการข่มขืนพบ '97%'ไม่ถูกลงโทษ : พระมหาสมพงษ์ คุณากโร พระนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมัทราส ประเทศอินเดีย

            เมื่อเอ่ยถึงประเด็นการข่มขืนแน่นอนว่าไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเกิดขึ้นทั่วโลก แต่อัตราการข่มขืนในแต่ละประเทศนั้นอาจเกิดขึ้นมากน้อยไม่เท่ากัน ถึงแม้กฏหมายในแต่ละประเทศได้กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิดในประเด็นดังกล่าวและยังมีกฏศีลธรรมจริยธรรมให้ปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำความผิดในคดีนี้ก็ตาม แต่กระนั้นข่าวการข่มขืนก็ยังมีให้เห็นตามสื่อต่าง ๆ โดยทั่วไป

            เมื่อคดีการข่มขืนเป็นประเด็นน่าเป็นห่วงเพราะไม่มีท่าทีว่าจะลดลงกลับมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทางสหประชาติ (UN) โดยการร่วมมือของหน่วยงานหลาย ๆ ฝ่ายของสหประชาชาติ (UN)เอง ซึ่งเรียกกลุ่มว่า Partners for Prevention คือ The UN Development Programme (UNDP), The UN Population Fund (UNFPA), The UN Women and United Nations Volunteers (UNV) Programme in Asia and the Pacific ได้ร่วมมือกันทำการวิจัยในประเด็นการข่มขืนและยับยั้งประเด็นดังกล่าว โดยมีหัวข้อการวิจัยคือ “ทำไมเพศชายจึงใช้ความรุนแรงต่อเพศหญิง? และพวกเราจะมีวิธียับยั้งอย่างไร?: ศึกษาค้นคว้าเชิงปริมาณจากผู้ชายและความรุนแรงในหลากหลายประเทศแถบเอเชียและแปซิฟิค” “Why Do Some Men Use Violence Against Women and How Can We Prevent It? Quantitative Findings from the UN Multi-country Study on Men and Violence in Asia and the Pacific”

            การสำรวจเพื่องานวิจัยครั้งนี้ครอบคลุมหกประเทศ คือ ประเทศบังคลาเทศ กัมพูชา จีน อินโดนีเชีย ศรีลังกา และปากัวนิวกีนี โดยสำรวจจากผู้ชายทั้งหมด 1,000 คนจากประเทศเหล่านั้น

            นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการสำรวจประเด็นนี้ในหลากหลายประเทศเพื่อประเมินสถานการณ์การข่มขืนที่มีอยู่ดาษดื่น การใช้ความรุนแรง และเหตุผลของเพศชายที่ก่อเหตุเช่นนี้

            แบบสำรวจสอบถามไม่ได้ตั้งคำถามตรง ๆว่า พวกเขาเคยข่มขืนหรือไม่? แต่จะเป็นคำถามเช่น “ คุณเคยใช้กำลังกับเพศหญิงเพื่อมีเพศสัมพันธ์หรือไม่? หรือ คุณเคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศหญิงที่ถูกวางยาหรือที่ดื่มจนเมามายเองหรือไม่”

            จากการสำรวจพบว่า เหตุผลหลักที่ชายเหล่านั้นได้ให้ในการข่มขืนคือความเชื่อในเรื่องสิทธิทางเพศ ที่เชื่อว่า เพศชายมีสิทธิในเรื่องเพศโดยไม่ต้องขอความยินยอม และครึ่งหนึ่งของชายเหล่านั้นที่ยอมรับว่าเคยข่มขืนบอกว่า เขาลงมือข่มขืนครั้งแรกสมัยยังเป็นวัยรุ่น

            นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการวิจัยว่า การข่มขืนเกิดขึ้นในตัวเมืองที่ประเทศบังคลาเทศมี 10 เปอร์เชนต์ในขณะที่ประเทศปาปัวนิวกินีมีถึง 62 เปอร์เซนต์

            สำหรับเอเซียใต้คือประเทศบังคลาเทศและศรีลังกามีรายงานว่า การใช้ความรุนแรงเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นกับคู่สมรส มีรายงานว่าการใช้ความรุนแรงด้านร่างกายมีให้เห็นโดยทั่วไปมีมากกว่าการใช้ความรุนแรงทางเพศ (ในประเด็นการข่มขืนคู่สมรสตัวเอง กฏหมายไม่สามารถเอาผิดคู่กรณีได้ในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งในประเทศอินเดีย) เมื่อเป็นเช่นนี้ ในประเทศเหล่านั้นการข่มขื่นคู่สมรสตัวเองจึงมีให้เห็นดาษดื่นมากกว่าการกระทำต่อผู้ไม่ใช่คู่สมรสตัวเอง ในกรณีเช่นนี้การสำรวจได้สะท้อนไปถึงสถิติอย่างเป็นทางการของประเทศอินเดียที่แสดงให้เห็นว่า การใช้ความรุนแรงทางเพศส่วนใหญ่เกิดมาจากคนรู้จักกัน

            อย่างไรก็ตาม การใช้ความรุนแรงกับเพศหญิงไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่สาธารณะหรือภายในครอบครัวก็สร้างปัญหาให้กับรัฐบาลหรือแม้แต่ตำรวจเหมือนกัน

            Emma Fulu ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยครั้งนี้ ได้กล่าวกับหนังสือพิมพ์ The Hindu (หนังสือพิมพ์ของประเทศอินเดีย) ผ่านทางอีเมลว่า ถ้าจะจัดการกับปัญหาการข่มขืนไม่ว่าจะเป็นการข่มขืนคู่สมรสหรือไม่ใช่คู่สมรสตัวเอง จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากระดับตัวบุคคลไปสู่นโยบาย ตัวอย่างเช่น รัฐบาลและตำรวจมีบทบาทที่สำคัญที่จะให้ความแน่ใจว่า กฏหมายที่เกี่ยวกับประเด็นนี้มีเพียงพอและครอบคลุมหรือยัง เพื่อรับประกันความยุติธรรมให้กับเพศหญิงอย่างได้ผล

            นอกจากนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงในประเด็นดังกล่าวนั้น ต้องจัดการกับมาตฐานทางสังคมที่ยอมรับการใช้กำลังกับผู้หญิง เช่นความเชื่อของผู้ชายที่ว่า พวกเขามีสิทธิที่จะมีเพศสัมพันธ์กับคู่สมรส (ในกรณีการข่มขืน) และส่งเสริมการไม่ใช้กำลัง และวิธีการดูแลเอาใจใส่สำหรับเพศชาย

            ผู้ชายที่ยอมรับว่าเคยข่มขืนคนอื่นจากการสำรวจ 1,000 คน ครึ่งหนึ่งบอกว่าพวกเขาเคยข่มขืนผู้หญิงมากกว่าหนึ่งคน และระหว่าง 2 ถึง 8 เปอร์เช็นต์ยอมรับว่าเคยข่มขืนผู้ชายด้วยกัน ชายที่เคยข่มขืนผู้ชายด้วยกันเหล่านั้นยอมรับว่า เคยข่มขืนผู้หญิงที่ไม่ใช่คู่ของตัวเองเช่นเดียวกัน

            ที่เลวร้ายไปกว่านั้น จากการวิจัยครั้งนี้พบว่าผู้ชายส่วนใหญ่ที่ยอมรับว่าเคยข่มขืนแล้วไม่ได้รับบทลงโทษทางกฏหมาย มี 72 ถึง 97 เปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศ

            กลุ่มผู้ทำการวิจัยครั้งนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อยับยั้งความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกายหรือทางเพศ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจเช่น

            1.เปลี่ยนแปลงมาตฐานทางสังคมที่ส่อถึงการยอมรับการใช้กำลังและการกดขี่เพศหญิง

            2.ส่งเสริมให้เพศชายไม่ใช้กำลังโดยยึดหลักความเสมอภาคและการดูแลเอาใจใส่

            3.แก้ไขปัญหาการทำร้ายเด็ก และส่งเสริมสุขพลานามัยของครอบครัว
ฯลฯ

            นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะที่นักวิจัยกลุ่มนี้ได้นำเสนอคือ ให้ยุติการลดหย่อนผ่อนโทษ เนื่องจากการวิจัยครั้งนี้พบว่า ชายส่วนมากที่กระทำความผิดในประเด็นการข่มขืนนี้ ไม่เคยได้รับผลทางกฏหมาย รวมทั้งไม่รู้สึกผิด ไม่มีความสำนึกและไม่รู้สึกถึงผลกระทบเชิงลบต่อสังคม และยิ่งการลดหย่อนผ่อนโทษแก่ผู้กระทำความผิดในประเด็นการข่มขืนคู่สมรสตัวเองด้วยแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงข้อบกพร่องทางกฏหมายในหลาย ๆ ประเทศเช่นกัน


--------------------------

(หมายเหตุ  : ยูเอ็นวิจัยพฤติกรรมข่มขืน '97%'ไม่ถูกลงโทษ   : พระมหาสมพงษ์ คุณากโร พระนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมัทราส ประเทศอินเดียรายงาน  แหล่งข้อมูล: งานวิจัยของ สหประชาชาติ (UN) เรื่อง ““Why Do Some Men Use Violence Against Women and How Can We Prevent It? Quantitative Findings from the UN Multi-country Study on Men and Violence in Asia and the Pacific” และ หนังสือพิมพ์อินเดีย The Hindu)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ