ข่าว

พัฒนา'พะเยา'สู่เมืองท่องเที่ยว-วัฒนธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'พะเยา' ชูยุทธศาสตร์พัฒนา สู่เมืองท่องเที่ยว-วัฒนธรรม : โดย...สกาวรัตน์ ศิริมา

 

                               ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จ.พะเยา มักถูกมองเป็นแค่เมืองผ่าน ทั้งที่เป็นเมืองที่มีศักยภาพการท่องเที่ยว โดยมี "กว๊านพะเยา" ทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ และอับดับ 4 ของประเทศไทย อีกทั้งยังมีโบราณสถานและวัดที่มีชื่อเสียงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธหลายแห่งด้วยกัน ดังนั้นเทศบาลเมืองพะเยาจึงกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวและเมืองวัฒนธรรมควบคู่กันนับจากนี้ไป ภายใต้การบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน 

                               ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีเมืองพะเยา เปิดเผยถึงนโยบายหลักในการพัฒนาเมืองพะเยา ว่าจะทำต้องให้เป็นเมืองน่าอยู่ก่อนเป็นลำดับแรก ด้วยการให้ความสำคัญปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่ชาวบ้านในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสียควบคุมไม่ให้ไหลลงสู่กว๊านพะเยา และพัฒนาลำแม่น้ำต๋ำให้ใสสะอาดตลอดปี รวมไปถึงการจัดการระบบขยะไม่ให้เกิดการตกค้าง ขณะเดียวกันจะยกระดับให้เป็นเมืองแห่งสุขภาพดี ส่งเสริมให้เป็นเมืองอากาศบริสุทธิ์ สร้างมาตรฐานสุข ภาพ และการจัดให้มีระบบสารสนเทศด้านสุขภาพ ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์ผู้สูงอายุ 13 ชุมชนและสนับสนุนแต่ละครัวเรือนมีการปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษ

                               นอกจากนี้ด้านการเป็นเมืองกีฬา จะมุ่งเน้นไปที่เยาวชนจัดให้มีการสร้าง 1 ชุมชน 1 ลานกีฬา และสนับสนุนให้นักกีฬาชาวพะเยามุ่งสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพ ส่วนการพัฒนาให้เป็นเมืองวัฒนธรรมจะเร่งดำเนินการสร้างหอศิลป์และข่วงวัฒนธรรม และมีการอนุรักษ์โบราณสถานที่สำคัญ เช่นเดียวกับการส่งเสริมความเป็นเอกลักษณ์เมืองพะเยา ด้วยการสนับสนุนให้มีการจัดมหกรรมดอกไม้ริมกว๊านพะเยาให้เป็นเมืองดอกไม้งาม และพัฒนาสวนสาธารณะสมเด็จย่าให้เป็นจุดชมพระอาทิตย์ลับดอยหนึ่งเดียวในโลก และเพื่อให้สอดคล้องกันจะเน้นให้ 13 ชุมชนในความดูเลของเทศบาลเมืองพะเยาได้มีอาชีพยกระดับสินค้าในชุมชน และการส่งเสริมให้ตลาดสินค้าชุมชนด้วยการจัดถนนคนเดิน เพื่อสร้างรายได้ให้คนในชุมชนรอบด้าน

                               ร.อ.ธรรมนัส กล่าวอีกว่า เทศบาลเมืองพะเยามุ่งให้ความสำคัญในด้านการพัฒนาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยการสนับสนุนให้โรงเรียนสังกัดเทศบาล 6 แห่ง ได้เรียนภาษาอังกฤษและภาษาจีนควบคู่กัน รวมถึงการพัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในโรงเรียน เพื่อก่อให้เกิดการค้นคว้า ภายใต้การเทคโนโลยีที่ทันสมัย ประการสุดท้ายจะร่วมกับชุมชนในพื้นที่สร้างความพร้อมให้เป็นเมืองขนส่งรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะ จ.พะเยา จะเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างเส้นอาร์ 3 เอ จากจีนมา สปป.ลาว ผ่าน จ.เชียงราย และพะเยาก่อนเข้าสู่จังหวัดชั้นในของไทย โดยปัจจุบันมองว่าเหมาะจะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของระบบโลจิสติกส์ เนื่องจากมีที่ดินจำนวนมากและราคาไม่สูงเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น จึงน่าจะเป็นจุดที่นักลงทุนสนใจ

                               ประการสำคัญ จ.พะเยา มีศักยภาพด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะบริเวณกลางกว๊านพะเยา พบวัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช จึงมีการบูรณะวัดติโลกอารามขึ้นมา ปัจจุบันในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชาและวันเข้าพรรษา จะมีการเวียนเทียนกลางน้ำรอบวัดเป็นแห่งเดียวในโลก มีนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ลงเรือไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างไม่ขาดสาย จึงมองว่าเหมาะที่จะฟื้นฟูให้เป็นจุดขายในการดึงดูดคนเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น โดยเน้นการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบสถานที่แห่งนี้ให้สวยงามและประดับไปด้วยดอกไม้ชนิดต่างๆ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมทางพุทธศาสนาของ จ.พะเยา ด้วย 

                               อย่างไรก็ตาม ปัญหาอีกส่วนหนึ่งที่ จ.พะเยา เป็นเมืองผ่าน คือ การเข้าถึงกว๊านพะเยาไม่ค่อยสะดวกต่อนักท่องเที่ยว เทศบาลเมืองพะเยาจึงทำหนังสือไปยังกรมประมงขอใช้พื้นที่บริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียจำนวน 62 ไร่ เพื่อทำสะพานเชื่อมจากสถานีประมงน้ำจืด จ.พะเยา มายังถนนชายกว๊าน ระยะทาง 500 เมตร ซึ่งจะทำให้นักทอ่งเที่ยวที่เดินทางมายังพะเยาใช้ถนนเส้นเดียวและชมความสวยงามของกว๊านพะเยาได้ง่ายขึ้น อีกทั้งประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 9 อำเภอร่วมกันพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพ และกระจายผลผลิตออกสู่ตลาดโดยพึ่งพาพ่อค้าคนกลางให้น้อยลง และหากพื้นที่ใดที่มีศักยภาพก็พร้อมจะช่วยกันยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย

 

 

-------------------------

('พะเยา' ชูยุทธศาสตร์พัฒนา สู่เมืองท่องเที่ยว-วัฒนธรรม : โดย...สกาวรัตน์ ศิริมา)

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ