ข่าว

คุก20ปี!'ชลอ เกิดเทศ'ยักยอกเพชรซาอุ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 20 ปี 'พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ' แก้ลงโทษลูกน้องอีก 4 คน ที่ชั้นต้นยกฟ้อง คดียักยอกของกลางเพชรซาอุ-เรียกรับสินบน

                        เวลา 09.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 2 เป็นโจทก์ ฟ้อง พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ อดีตผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ พ.ต.อ.ประเสริฐ จันทราพิพัฒน์ ผู้กำกับการตำรวจม้า กองบังคับการตำรวจสายตรวจ (ยศขณะนั้น) , พ.ต.ต.ธานี สีดอกบวบ สารวัตร กก.กาฬสินธุ์ (หลบหนีการดำเนินคดี) ,ร.ต.อ.ฤทธิศาสตร์ แก้วเดช รอง สว.สส.สภ.อ.บ้านตาก จ.ตาก ,ด.ต.เท่ง ติ๊บปะละวงศ์ ผบ.หมู่ สภ.อ.เถิน จ.ลำปาง ,จ.ส.ต.สนิท กาวิชา ผบ.หมู่ สภ.อ.เถิน , จ.ส.ต.เสวก หรือส่วย กันทะมา สังกัด ผ.5 กก.2 ป. และนายสุรจิต หรือแดงหงอก ชัยศิริ (เสียชีวิตเมื่อปี 2547) เป็นจำเลยที่ 1-8 ในความผิดฐาน ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ,ร่วมกันเบียดบังยักยอกทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตนเองโดยทุจริตและความผิดอื่นๆหลายข้อหา ตามฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2536 สรุปว่าพวกจำเลยซึ่งเป็นคณะพนักงานสอบสวนสืบหาเพชรของเจ้าชายไฟซาล ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งถูกนายเกรียงไกร เตชะโม่ง คนงานไทยลักขโมยกลับประเทศไทยมารวมมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท และนำมาขายให้กับนายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ เสี่ยเจ้าของร้านเพชร “สันติมณี” โดยระหว่างสืบสวนสอบสวนคดี พวกจำเลยทั้งหมดได้เรียกรับเงินจากผู้ต้องหาหลายครั้งจำนวน 3 ล้านบาท6.6 แสนบาท และ 1.2 ล้านบาทเพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีผู้ต้องหาในคดีรับของโจร และยังได้ร่วมกันยักยอกเพชรและทรัพย์สินของกลางหลายรายการ อาทิเช่น นาฬิกาข้อมือฝังเพชรยี่ห้อโชปาร์ด ,นาฬิกายี่ห้อบูเช่กิรอด ,อัญมณีแดงรูปดอกลำดวน 5 แฉก สร้อยเพชร สร้อยคอทองคำฝังเพชร จี้เพชร ต่างหู และอื่น ๆ ไปโดยมิชอบ ไม่นำส่งคืนให้กับพนักงานสอบสวน ซึ่งในชั้นพิจารณาคดีจำเลยทั้งหมดแถลงให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

                        ทั้งนี้ คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2549 โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานเป็นจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อประโยชน์ตนเองหรือผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 และมาตรา 83 ซึ่งพฤติการณ์จำเลยที่ 1 กระทำความผิดหลายกรรมต่างวาระกัน ให้ลงโทษทุกกระทงความผิด ให้จำคุก 2 กระทงๆ ละ 10 ปี รวมจำคุกเป็นเวลา 20 ปี จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน เบียดบังทรัพย์เป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ให้จำคุก 7 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและคำรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษเห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกไว้เป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2,5,6,7 เนื่องจากพยานโจทก์ยังไม่เพียงพอ และให้คืนทรัพย์สินของกลาง 9 รายการและเงินจำนวน 200,000 บาทแก่ผู้มีสิทธิ์ ต่อมาโจทก์-จำเลยยื่นอุทธรณ์

                        ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า คำเบิกความและพยานหลักฐานโจทก์-จำเลยในชั้นนำสืบแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2533 จำเลยที่ 1 รับฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคณะพนักงานสอบสวนสืบหาเพชรของเจ้าชายไฟซาล ได้ให้ลูกน้องไปรับเงินจำนวน 3 ล้านบาท จากนายสุรศักดิ์ ศิริกุล ผู้ต้องหาคดีรับของโจรที่รับซื้อเพชรของกลางจากนายเกรียงไกร ซึ่งขโมยมาจากวังเจ้าชายไฟซาล โดยไม่นำเงินดังกล่าวส่งพนักงานสอบสวนเป็นของกลางและจับกุมนายสุรศักดิ์ ดำเนินคดีข้อหารับของโจร จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของตัวเองโดยทุจริตแลกกับการไม่ดำเนินคดีนายสุรศักดิ์ ฐานรับของโจร อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น

                        อีกทั้ง มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ 2 กระทำผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ เรียกรับเงินจำนวน 6.6 แสนบาทจากผู้ต้องหาหรือไม่ เห็นว่าฝ่ายโจทก์มีนายนิคม เตชะโม่ง ญาตินายเกรียงไกร ให้การในชั้นสอบสวนว่า ได้พาจำเลยที่ 2 ไปรับเงินจำนวน 6.6 แสนบาทจากพันจ่าอากาศเอกคนหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนายเกรียงไกรได้นำเงินไปฝากไว้ ซึ่งพันจ่าอากาศเอกคนดังกล่าวคืนเงินให้ในทันที เนื่องจากนายนิคม บอกว่านายเกรียงไกรถูกจับกุมแล้ว และชายคนดังกล่าวเป็นตำรวจมาเอาของกลางคืน แม้ภายหลังนายนิคม จะกลับคำให้การในชั้นศาล แต่คำเบิกความในชั้นสอบสวนน่าเชื่อถือกว่าเพราะพนักงานสอบสวนได้สอบถามพยานทุกครั้ง ซึ่งพยานยืนยันตามคำให้การเดิมมาโดยตลอดก่อนมาเปลี่ยนคำให้การในชั้นศาล ดังนั้นศาลเห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ติดตามทรัพย์สินของเจ้าชายไฟซาลคืน แต่กลับไม่นำของกลางดังกล่าวคืนพนักงาน เชื่อว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์สินเป็นของตนเองโดยทุจริต

                        ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อมาว่า จำเลยที่ 7 ร่วมกับจำเลยที่ 1และ จำเลยที่ 8 (เสียชีวิตแล้ว) เรียกรับเงินจำนวน 1.2 ล้านหรือไม่เห็นว่า โจทก์มีนายนิคมเป็นพยานให้การในชั้นสอบสวนว่าจำเลยที่ 8 ได้เรียกรับเงินดังกล่าว แต่นายนิคม หาได้จำนวน 1 ล้านบาทแล้วนำไปมอบให้กับ จำเลยที่ 1 ที่กองบัญชาการสอบสวนกลาง ต่อมาภายหลัง จำเลยที่ 7 ได้มารับเงินที่เหลืออีก 2 แสนบาทไป ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 7 และ 8 ไม่ได้ร่วมกระทำผิดด้วยนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย เห็นว่าจำเลยที่ 7 และ 8 เป็นเจ้าพนักงานเรียกรับผลประโยชน์เพื่อกระทำการใดหรือไม่กระทำการใดในตำแหน่งหน้าที่

                        ส่วนจำเลยที่ 4 ทางนำสืบได้ความจากพยานโจทก์ว่า รับทรัพย์สินของกลาง จากนายนิคม ที่มาเรียกคืนไปนางสวย เสาวนีย์ ที่นายเกรียงไกรนำมาทรัพย์สินของกลางหลายรายการมาฝาก ประกอบกับหลักฐานที่พนักงานสอบสวนได้ไปตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 4 พบของกลางในคดี เชื่อว่าจำเลยที่ 4 ยึดทรัพย์สินของกลางมาจริงแต่ไม่นำส่งพนักงานสอบสวน จึงมีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์สินเป็นของตนเอง

                        ประเด็นสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 5 และ จำเลยที่ 6 กระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบเรียกรับเงินจำนวน 2 แสน บาทหรือไม่เห็น จำเลยที่ 5-6 เบิกความรับว่ารับเงินจากนายนิคม ที่เบิกจากธนาคารจำนวน 2 แสนบาทไว้จริงแต่ปฎิเสธไม่ทราบว่าเป็นเงินของกลาง และภายหลังได้นำเงินส่งพนักงานสอบสวนแล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 5-6 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมต้องทราบว่านายนิคม เป็นผู้ต้องหาคดีรับของโจรแต่กลับไม่จับกุมดำเนินคดีตั้งแต่แรก จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 5-6 รับเงินไว้เป็นค่าตอบแทนแลกกลับการไม่ดำเนินคดีผู้ต้องหา ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าหลักฐานไม่เพียงพอลงโทษจำเลยที่ 5-6 นั้น ไม่ต้องด้วยศาลอุทธรณ์

                        ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.147 ฐานเป็นเจ้าพนักงาน เบียดบังทรัพย์เป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 5, 6 และ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.149 ประกอบ ม.83 ลงโทษจำคุกเป็นเวลาคนละ 7 ปี แต่จำเลยที่ 5 และ 6 นำเงินของกลางจำนวน 2 แสนบาทมาคืน มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือลงโทษจำคุกเป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน นอกเหนือจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

                        ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สำหรับคดีนี้ในศาลชั้นต้นใช้เวลาสืบโจทก์-จำเลยนานกว่า 13 ปี เนื่องจากเอกสารในคดีมีจำนวนมาก และต้องส่งประเด็นไปสืบตามศาลต่าง ๆ รวมทั้งการติดตามพยาน ในศาลอุทธรณ์อีก 6 ปี รวมเป็นเวลากว่า 19 ปี โดยคดีนี้เป็นคดีแรกที่ยื่นฟ้อง พล.ต.ท.ชลอ กับพวก ในสำนวนคดีเพชรซาอุฯ จนต่อมามีการฟ้อง พล.ต.ท.ชลอ กับพวก คดีอุ้มฆ่านางดาราวดี และด.ช.เสรี ภรรยาและบุตรชายของนายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ เสี่ยเจ้าของร้านเพชร “สันติมณี”ที่รับซื้อเพชรมาจากนายเกรียงไกร เตชะโม่ง ที่เป็นผู้ขโมยเพชรมาจากวังเจ้าชายไฟซาล ซึ่งคดีอุ้มฆ่า 2 แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์โดยวิธีนำศพทั้งสองไปไว้บนรถแล้วให้รถ10 วิ่งทับอำพรางเป็นอุบัติเหตุนั้น คดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกาพิพากษาให้ประหารชีวิต พล.ต.ท.ชลอ ส่วนนายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ ศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกในความผิดฐานรับของโจร เป็นเวลา 3 ปี คดีสิ้นสุดแล้วเช่นกัน

                        นอกจากนี้ พล.ต.ท.ชลอ ยังถูกถอดยศตำรวจ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2553 เนื่องจากต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษประหารชีวิตในคดีอุ้มฆ่าสองแม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย ตริตาภรณ์ช้างเผือก ตริตาภรณ์มงกุฎไทย จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย และเหรียญจักรมาลา อีกด้วย

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ